ย้อนรอยโทรทัศน์ไทยก่อนเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตอล
เพลง“ต้นบรเทศ” อาจถือเป็นเพลงที่เป็นสัญลักษณ์ของการกำเนิดขึ้นของโทรทัศน์ในประเทศไทย เพราะถือเป็นเพลงประจำสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ซึ่งถือเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของไทย
สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เกิดขึ้นจากแนวความคิดของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของ ไทย ที่เห็นว่า ไทยควรจะมีสถานีโทรทัศน์เหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงได้จัดตั้งบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ในปี 2495 ก่อนที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ได้เริ่มออกอากาศในระบบขาวดำ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 หรือ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ในปัจจุบัน
ก่อนที่สถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 เกิดขึ้นโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก จัดตั้ง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ในระบบขาวดำ เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2501 หรือ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หรือ ททบ.5ในปัจจุบัน
จากนั้น จึงเป็นการเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 คือ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เริ่มออกอากาศเป็นระบบสีครั้งแรกในไทย โดยบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์ และวิทยุ จำกัด ได้รับสัมปทานจากกองทัพบก ในยุคของจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยมีตระกูลจารุเสถียร เทียนประภาส กรรณสูต และรัตนรักษ์ เป็นผู้ก่อตั้ง และเริ่มออกอากาศในวันที่ 1 ธันวาคม 2510
จากนั้น บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ได้ให้สัมปทานกับบริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ของตระกูลมาลีนนท์ ในการจัดตั้ง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยระบบสี และออกอากาศครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2513 และในปี 2517 ทั้งช่อง 4 และช่อง 7 ระบบขาวดำ ก็เปลี่ยนมาออกอากาศในระบบสี รวมทั้งบริษัท ไทยโทรทัศน์ ได้เปลี่ยนเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท. ในปี 2520 แทน
ธุรกิจโทรทัศน์ในขณะนั้น ถือว่าเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องลงทุนทั้งอุปกรณ์ ระบบส่งสัญญาณต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และการสร้างความนิยมให้กับประชาชน ทั้งการผลิตรายการในประเทศ และการซื้อรายการจากต่างประเทศ ซึ่งช่อง 7 สีประสบความสำเร็จในการขยายเครือข่ายให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุดเป็นราย แรก
ต่อมาสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ หรือ สทท.11 เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531 จาการสนับสนุนงบประมาณของรัฐบาลญี่ปุ่น และมีการจัดตั้งสทท.11 ในส่วนภูมิภาคอีกด้วย
และในยุคนี้ถือเป็นการกำเนิดขึ้นของโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ที่ออกอากาศผ่านเคเบิล หรือดาวเทียม ถึง 3 ราย คือ ไอบีซี เคเบิล ทีวี ของกลุ่มชินวัตร เมื่อเดือนตุลาคม 2532 เป็นโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกรายแรกของประเทศ ตามด้วยไทยสกายทีวีในปี 2533 ของกลุ่มธนายงและหนังสือพิมพ์วัฏจักร และยูทีวี ในปี 2537 ของกลุ่มเทเลคอมเอเชีย หรือ ทรูคอร์ปอเรชั่น ในปัจจุบัน โดยทุกรายได้รับสัมปทานจาก อสมท.ซึ่งแต่ละรายจะมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเองด้วย เพื่อออกอากาศให้กับสมาชิกได้รับชม
จากนั้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 มีเสียงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรีในประเทศไทย สำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้เปิดประมูลสถานีโทรทัศน์ จนในที่สุดกลุ่มสยามทีวี ชนะการประมูล และจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งออกอากาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ทำให้ไทยมีสถานีโทรทัศน์ที่ให้บริการแบบไม่ต้องเสียค่าบริการ หรือ ฟรีทีวี รวมแล้ว 6 สถานี และทั้งหมดคือสถานีโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ในการออกอากาศ ก่อนที่จะมีความเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในแต่ละช่วงเวลา
จึงทำให้ปัจจุบันฟรีทีวีของไทย แบ่งเป็น สถานีโทรทัศน์ของกองทัพบก คือ ททบ.5 / สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ หรือ ช่อง 9 เป็นสถานีโทรทัศน์รัฐวิสาหกิจ สถานีโทรทัศน์ที่ได้รับสัมปทาน คือ ช่อง 3 ของอสมท. และช่อง 7 ของกองทัพบก สถานีโทรทัศน์แห่งชาติ คือ ช่อง 11 หรือ สทท. และสถานีโทรทัศน์สาธารณะ คือ ไทยพีบีเอส หรือ ไอทีวีเดิม ซึ่งเริ่มออกอากาศเมื่อวันที่15 มกราคม 2551
และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม รวมทั้งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่อนุญาตให้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม หรือทีวีดาวเทียม จึงมีผู้ประกอบการจัดตั้งทีวีดาวเทียมเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้ใช่คลื่นความถี่
ทำให้ปัจจุบันโทรทัศน์ของไทย มีช่องทางการออกอากาศ 3 ช่องทาง คือ โทรทัศน์แบบฟรีทีวี ซึ่งปัจจุบัน มี 6 ช่อง ระบบเคเบิลทีวี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น / และระบบทีวีดาวเทียม ซึ่งมีความแตกต่างที่จำนวนช่องรายการต่างๆ และสื่อโทรทัศน์ สามารถเข้าถึงคนไทยได้กว่า 98 % หรือ 62.8 ล้านคน
ในสัปดาห์หน้า จะได้นำเสนอถึงการเข้าถึงโทรทัศน์ในแต่ละระบบในประเทศไทย ว่ามีความสำคัญและมีจำนวนผู้ชมเท่าใด ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคของทีวีดิจิตอล
คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ
Source : postjung