กรี๊ด !!!! ก้อนอะไรเนี่ย สีเหลือง ๆ ขาว ๆ หลุดออกมาจากคอเป็นประจำเลย แถมมีกลิ่นเหม็นอีกต่างหาก ฮือ ๆ เราจะเป็นอะไรหรือเปล่า… ทำไมรู้สึกว่าเรามีกลิ่นปาก ทั้ง ๆ ที่ก็แปรงฟันบ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อมาอย่างดี โอ๊ะโอ ! ไม่ต้องตกใจหรือวิตกกังวลพร้อม ๆ กับตั้งคำถามมากมายจะทำให้ปวดหัวเปล่า ๆ ค่ะ เพราะเราจะมาเฉลยคำถามที่เชื่อว่าหลายคนอยากรู้ว่าก้อนสีขาว ๆ เหลือง ๆ ที่หลุดออกมาจากคอเรามันคืออะไร อย่ารอช้าเข้าไปหาคำตอบเพื่อสุขภาพที่ดีกันดีกว่าค่ะ…
ก่อนอื่นเรามารู้จัก ทอนซิล” กันก่อน สำหรับ ทอนซิล (Tonsils) คือ ต่อมน้ำเหลืองในทางเดินหายใจ มีหลายตำแหน่ง ได้แก่ สองข้างของลิ้น (palatine tonsil), ด้านหลังจมูก (nasopharyngeal tonsil adenoid), ผนังคอด้านหลัง และโคนลิ้น
ทอนซิลเป็นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ทำงานโดยการจับเชื้อโรคมาไว้ในหลืบ (Crypt) ที่ด้านข้างของคอ ซึ่งบริเวณนี้อาจมีเศษอาหารเข้าไปติดหรือตกค้างได้ นอกจากนั้นเซลล์ที่ตายแล้วอาจหลุดลอกออกมา แล้วทำให้แบคทีเรีย เม็ดเลือดขาว และเอนไซม์ในน้ำลายเข้าไปย่อยสลายเกิดเป็นสารคล้ายเนยสีเหลืองขาวสะสมอยู่ ในบางคนอาจมีสารแคลเซียมมาเกาะ ทำให้มีลักษณะคล้ายก้อนแคลเซียมอยู่ในร่องของต่อมทอนซิล เรียกว่า ขี้ทอนซิน หรือภาษาทางการแพทย์คือ ทอนซิลโลลิท (Tonsillolith)
อาการต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง มีกลิ่นปาก ก็อาจเกิดจากเศษอาหารซึ่งตกตะกอนกับแคลเซียมในน้ำลาย แล้วไปฝังอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิลก็เป็นได้ ถ้าเป็นบ่อย ๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการระคายเคืองคอประจำ
สำหรับต่อมทอนซิลที่อักเสบเรื้อรังถ้าต่อมโตไม่มาก ไม่มีอาการของการอุดตันการหายใจ เช่น นอนกรน นอนหายใจเสียงดัง หรือกลืนลำบาก ก็ยังไม่ต้องผ่าตัดทอนซิล อาจรับประทานยาฆ่าเชื้อแบททีเรีย ซึ่งคลุมเชื้อชนิด ANAEROBE BACTERIA เป็นแบคทีเรียที่ก่อกลิ่นเหม็นต่าง ๆ
แต่ถ้าต่อมทอนซินโตมาก ๆ และมีอาการอุดตันในลำคอ เช่น นอนกรน หายใจดัง กลืนลำบาก มีประวัติเจ็บคอบ่อย ต่อมทอนซิลอักเสบบ่อย ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดทอนซิลทั้ง 2 ข้าง
การรักษา
การรักษามี 2 วิธี คือ ไม่ผ่าตัดและผ่าตัด
1. ไม่ผ่าตัด อาจหาวิธีป้องกันหรือแก้ไข ได้แก่
- การกลั้วคอแรง ๆ หลังรับประทานอาหารด้วยน้ำยากลั้วคอ, น้ำเกลือ หรือน้ำเปล่าธรรมดา
- ใช้นิ้วนวดบริเวณใต้คางบริเวณมุมขากรรไกรล่าง (ซึ่งตรงกับบริเวณต่อมทอนซิล) เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา
- การใช้ไม้พันสำลี (Cotton bud), ปลายของที่หนีบผม, เครื่องมือที่ใช้เขี่ยขี้หูออก (ear curette), แปรงสีฟัน เขี่ย หรือกดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อเอาก้อนดังกล่าวออก
- ใช้ที่พ่นน้ำทำความสะอาดช่องปาก ฟัน และลิ้น (water pick) ฉีดบริเวณต่อมทอนซิล เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออก
- ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในช่องปาก แล้วกดบริเวณส่วนล่างของต่อมทอนซิล แล้วดันขึ้นบน หรือใช้ลิ้นดัน เพื่อให้ก้อนดังกล่าวหลุดออกมา
- แต่ถ้าเป็นเยอะ แล้วไม่สามารถล้วงเอาออกมาได้ ก็ต้องไปให้คุณหมอช่วยเอาออกให้
2. ผ่าตัด ได้แก่
- ใช้กรด trichloracetic acid หรือเลเซอร์ (laser tonsillotomy) จี้ต่อมทอนซิลเพื่อเปิดขอบร่องของต่อมทอนซิลให้กว้าง ไม่ให้เป็นซอกหลืบ ที่จะเป็นที่สะสมของสิ่งต่าง ๆ ได้อีก ซึ่งสามารถทำได้โดยใช้ยาชาเฉพาะที่
- ผ่าตัดต่อมทอนซิลออก (Tonsillectomy) เป็นการรักษาที่หายขาด มักจะทำในกรณีที่ใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล หรือต่อมทอนซิลอักเสบมาก ๆ
การป้องกัน
- ควรจะหลีกเลี่ยง หรือลดอาหารประเภทโปรตีน แป้ง เพื่อลดปริมาณเศษอาหารที่จะไปตกตะกอนกับน้ำลาย
- พยายามแปรงฟันและลิ้นให้สะอาด โดยต้องแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งหลังอาหารประมาณ 30 นาที
- ถ้าเป็นไปได้ควรกลั้นคอทุกครั้งหลังแปรงฟันด้วย อาจใช้น้ำเปล่า หรือน้ำเกลือก็ได้