สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า คณะกรรมการรางวัลโนเบลนอร์เวย์ เปิดเผยว่า จะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ ในกรุงออสโล เมืองหลวงนอร์เวย์ ในวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคมนี้ และมีกระแสการคาดการณ์หลากหลายสำหรับผู้ที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ สำหรับปีนี้ คณะกรรมการโนเบล ได้รับรายชื่อผู้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับรางวัลมากเป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นเอกชนถึง 209 คน และองค์กรอีก 50 แห่ง
คริสเตียน เบิร์ก ฮาร์ปไวเคน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสันติภาพออสโล หรือพีอาร์ไอโอ ในกรุงออสโล คาดการณ์ว่า ผู้ที่จะได้รับการประกาศให้เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ น่าจะเป็นนางสาวมาลาลา ยูซัฟไซ ผู้รณรงค์ต่อสู้เพื่อการศึกษาของสตรีในปากีสถาน ซึ่งนายฮาร์ปไวเคน กล่าวว่า รายชื่ออันดับแรกในความคิดของเขาในปีนี้ คือมาลาลา ยูซัฟไซ เด็กสาววัย 16 ปีชาวปากีสถาน ที่กล้าหาญลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ด้านการศึกษาให้ผู้หญิงและเด็กหญิง และต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายด้วย
ส่วนคนที่ 2 ที่อยู่ในใจของฮาร์ปวีเคน คือผู้ที่มีความคิดเห็นต่อต้านรัฐบาลรัสเซีย 3 คน คือ ลีอุดมีลา อเล็กเซเยวา ผู้ก่อตั้งกลุ่มมอสโก เฮลซิงกิ, สเวตลานา กันนุชกีนา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และลีลยา ชีบาโนวา หัวหน้ากลุ่มอิสระเฝ้าระวังการเลือกตั้งรัสเซีย
ฮาร์ปไวเคน กล่าวว่า มันสำคัญมากที่รางวัลนี้จะตกเป็นของนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมพลเรือน หลังจากเมื่อปีที่แล้ว รางวัลนี้ตกเป็นของสหภาพยุโรป หรือ อียู จากบทบาทการสร้างสันติภาพ ความปรองดอง ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนภายในภูมิภาคตลอด 60 ปี
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้นำพม่า กลายเป็นม้ามืดในปีนี้ที่จะคว้ารางวัลโนเบลสันติภาพไปครอง จากผลงานการถ่ายโอนอำนาจในพม่า จากการปกครองแบบเผด็จการทหารมานานหลายสิบปี เป็นประชาธิปไตย นายฮาร์ปไวเคน กล่าวว่า ปีที่แล้ว เต็ง เส่ง อยู่ในรายชื่อของเขาด้วย แต่ไม่มีในปีนี้ เพราะกระบวนการสันติภาพในพม่าสะดุด และมีความขัดแย้งครั้งใหม่ในพม่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของคณะกรรมการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า เต็งเส่งคือคนหนึ่งที่มีชื่ออยู่ในอันดับต้น ๆ