นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้เน้นย้ำให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัย และให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม เพราะน้ำท่วมขังหลายวันจะมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่างๆ ปะปนอยู่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ ยังไม่พบโรคระบาดเป็นกลุ่มก้อนแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ ขอให้เจ้าหน้าที่ให้ความรู้แก่ญาติให้เตรียมพร้อม 10 เรื่องเพื่อลดอันตรายจากน้ำท่วม ได้แก่
1. เตรียมน้ำดื่มน้ำใช้และอาหารดำรงชีพอย่างน้อย 3 วัน
2. ไฟฉายพร้อมถ่าน เทียนไข ไม้ขีดไฟ
3. ยาสามัญประจำบ้าน 1 ชุด โดยผู้ที่มีโรคประจำตัวให้เตรียมยารักษาไว้อย่างน้อย 7 วัน
4. เตรียมอุปกรณ์พิเศษประจำตัว เช่น แว่นตา ฟันปลอม เครื่องช่วยฟัง ถังออกซิเจน
5. สำเนาเอกสารสำคัญ เช่น โรคประจำตัวและชื่อยาที่กินประจำ อาจให้แพทย์จากสถานพยาบาลที่ใช้บริการอยู่เขียนหรือออกให้ บัตรประชาชน บัตรประจำตัวผู้ป่วย เป็นต้น
6. รายชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของญาติ หรือผู้ดูแลเพื่อให้สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉิน
7. ให้ทำแผนที่บ้านของผู้สูงอายุหรือละแวกใกล้เคียง
8. เตรียมนกหวีดสำหรับเป่าขอความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน
9. เสื้อผ้าแห้ง 1 ชุดสำหรับเปลี่ยน และ
10. ถุงดำหรือถุงพลาสติกสำหรับบรรจุสิ่งขับถ่ายและกระดาษชำระ
“การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจากน้ำท่วม ขอให้ประชาชนทิ้งขยะลงถุงพลาสติก หรือถุงดำและมัดปากถุงให้แน่น รอการกำจัดบนบกอย่างถูกต้อง ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ และไม่ทิ้งขยะลงน้ำ หลีกเลี่ยงการลงแช่น้ำหรือลุยน้ำท่วม หากจำเป็นขอให้สวมถุงพลาสติก รองเท้าบูต หลังลุยน้ำให้ชำระล้างร่างกายให้สะอาด ที่สำคัญขอให้ดื่มน้ำสะอาด อาหารที่ค้างมื้อต้องนำมาอุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน สำหรับอาหารสำเร็จรูปให้ตรวจดูวันหมดอายุ และสภาพภาชนะบรรจุ” รมว.สาธารณสุข กล่าว