กาแฟลดความอ้วน...(ผอม)จอมปลอม!?

ท่ามกลางกระแสความต้องการ "ผอม" ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่มีข่าวคราวยาดีหรือของวิเศษที่ช่วยลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนได้อย่างทันใจ ก็จะเป็นที่นิยมของคนคลั่งผอมได้เสมอ และยอมทุ่มสุดตัวหวังจะผอมเพรียวดั่งใจ จึงมีนักธุรกิจหัวใสสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจาก "กาแฟ" ซึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก โดยโฆษณาว่าเป็นสูตรผสมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ เช่น โสม ไฟเบอร์ เกลือแร่ มาเชื่อมโยงกับสุขภาพและการควบคุมน้ำหนัก

ผลิตภัณฑ์ "กาแฟลดความอ้วน" เป็นจำนวนมากอ้างว่าได้เพิ่มเติมสารอาหารบางอย่างที่ช่วยให้ลดความอ้วน เช่น ไฟเบอร์ ที่ช่วยเพิ่มกากอาหาร คอลลาเจน พบได้ในเนื้อสัตว์ และจะถูกย่อยเป็นโปรตีนขนาดเล็กก่อนถูกดูดซึมเหมือนโปรตีนทั่วไป แอล-คาร์นิทีน และโครเมียม ซึ่งไม่มีผลต่อการลดน้ำหนักแต่อย่างใด ล้วนแต่เป็นการอวดอ้างโฆษณาเกินจริงทั้งสิ้น เพราะยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันว่าสารเหล่านี้มีคุณสมบัติลดความอ้วนได้

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อคือเครื่องหมาย อย. ซึ่งผู้ผลิตหลายรายอ้างว่าได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ซึ่งการได้เครื่องหมาย อย. นั้นจะหมายความว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (ไม่ใช่ยา) และรับรองว่าได้ผ่านการผลิตตามหลักการผลิตที่ดีแล้ว (ผลิตมาอย่างมีสุขลักษณะ) เป็นการควบคุมขั้นตอนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะเท่านั้น และไม่ได้มีสรรพคุณเหมือนหรือเทียบเท่ากับยาที่จะสามารถลดน้ำหนักหรือลดความอ้วนได้ ดังที่ได้โฆษณาหรือแอบอ้าง

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรายงานข่าวว่าทาง อย. ได้เข้าจับกุมผลิตภัณฑ์กาแฟที่เติม "ยาลดความอ้วน" ลงไปในกาแฟ ซึ่งเมื่อนำไปตรวจพบว่าเป็นยา "ไซบูทรามีน" (sibutramine) ซึ่งเป็นยาลดความอ้วนที่มีอันตรายสูงถึงชีวิต ในทางกฎหมายจัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่จะต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาทั่วไป

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของยา "ไซบูทรามีน" ที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต็นเร็ว ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก และห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ควบคุมความดันโลหิต ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีโรคต้อหิน รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร

ขณะที่บทความทางการแพทย์ รายงานว่า เครื่องดื่มมีส่วนสำคัญในการทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือครึ่งหนึ่งของความอ้วนเกิดจากเครื่องดื่ม และปัจจุบันมีเครื่องดื่มหลากหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่เป็นชา สมุนไพร กาแฟ ซึ่งมีการปรุงสี กลิ่น รส และในจำนวนนั้นก็มีน้ำตาล ครีม ตลอดจนสารปรุงรสอื่นๆ ที่ช่วยให้เข้มข้นน่ากิน ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุของความอ้วนทั้งสิ้น

สรุปว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเครื่องหมาย อย.ไม่ได้หมายความว่ามีคุณสมบัติในการรักษาโรคได้ และย้ำว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น กาแฟ ถึงแม้จะผสมสารอาหารใดๆ ก็ตาม ไม่มีคุณสมบัติในการลดความอ้วนได้ ตรงกันข้ามอาจทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพได้ ถ้าบริโภคมากเกินไปหรือไม่เหมาะสม อาจต้องทนทุกข์กับผลข้างเคียงของยาอันตรายที่ลักลอบเติมมาในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม การลดความอ้วนด้วยยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาดังกล่าว แต่สำหรับการลดความอ้วน วิธีง่ายๆ ก็คือการออกกำลังกายเป็นประจำ ครั้งละประมาณ 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นอกจากจะเผาผลาญพลังงานแล้ว ยังช่วยขับเหงื่อ เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการพักผ่อนและผ่อนคลายทั้งกล้ามเนื้อและอารมณ์ได้อย่างดี เมื่อกลับไปพักผ่อนก็ช่วยให้นอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้น เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะสดชื่นและทำงานในวันใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Credit: http://www.goosiam.com/Health/html/0008812.html
4 ต.ค. 56 เวลา 10:25 2,135 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...