ตำนานและความเชื่อ Deja Vu

......ตำนานและความเชื่อ.......
..............Deja Vu ............



เคยไหมครับที่คุณกำลังทำอะไรเพลิน ๆ อยู่ จู่ ๆ ก็กลับมีความรู้สึกว่า “เอ๊ะ! เหตุการณ์แบบนี้ มัน เคยเกิดขึ้น มาแล้วนี่!” แถมบางครั้งยังรู้อีกด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น ... แต่ความรู้สึกที่ว่านี้มักจะเกิดในช่วงสั้น ๆ แล้วก็หายไป 


ฝรั่งมีศัพท์หลายคำที่ใช้เรียกความรู้สึกเช่นนี้ เช่น promnesia และ paramnesia แต่ที่นิยมที่สุด คือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า เดชาวู (déjà vu) แปลว่า เคยเห็นมาก่อนแล้ว คำว่า déjà vu นี้ นักวิจัยชาวฝรั่งเศสซึ่งศึกษาเรื่องลึกลับของจิตชื่อ Emile Boirac (เกิด ค.ศ.1851 ตาย ค.ศ.1917) ใช้เป็นครั้งแรกในหนังสือชื่อ L'Avenir des Sciences Psychiques 



ในปี ค.ศ.1986 ได้มีการทำโพลสำรวจพบว่า คนอเมริกันราว 67% เคยมีประสบการณ์เดชาวู ส่วนคนไทยเป็นเท่าไรนั้นยังไม่เคยเห็นสถิติ แต่ที่แน่ ๆ ผมเองก็เคยมีประสบการณ์นี้มากกว่า 1 ครั้ง ตั้งแต่ตอนยังเอ๊าะ ๆ เรียนอยู่มัธยมต้น (นานมาแล้ววว ...) ยังจำได้แม่นว่า เคยคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่มีประสบการณ์นี้เหมือนกัน ถึงขนาดที่ว่า ถ้าสร้างเงื่อนไขอย่างหนึ่ง เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดตามมา แต่ถ้าสร้างเงื่อนไขอีกอย่าง เหตุการณ์อีกแบบจะเกิดตามมา...โม้กันถึงขนาดนั้นเลย! 


ปกหนังสือ The Psychology of Deja Vu 


น่ารู้ด้วยว่า คำว่าเดชาวูนี้เป็นคำกลาง ๆ ที่ใช้เรียกประสบการณ์ประเภท "เคย ... มาแล้ว" (déjà experience) เพราะถ้าแบ่งอย่างละเอียดตาม ดร.เวอร์นอน เอ็ม เนปเป (Dr.Vernon M. Neppe) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเดชาวู ก็จะได้ถึง 21 แบบ 


ตัวอย่างประสบการณ์ เดชาวู (déjà vu) บางแบบ
•déjà vécu (already lived) = เคยใช้ชีวิตในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว


•déjà senti (already felt) = เคยรู้สึกเช่นนี้มาแล้ว


•déjà visitè (already visited) = เคยเยือนสถานที่นี้มาแล้ว


•déjà entendu (already heard) = เคยได้ยินมาแล้ว


•déjà eprouvè (already experienced) = เคยมีประสบการณ์มาแล้ว


• déjà fait (already done) = เคยทำเสร็จสิ้นไปแล้ว


• déjà pensè (already thought) = เคยคิดมาก่อนแล้ว


• déjà su (already known intellectually) = เคยรู้มาก่อนแล้ว


• déjà dit (already said/spoken) = เคยพูดมาก่อนแล้ว


• déjà lu (already read) = เคยอ่านมาแล้ว


• déjà revè (already dreamt ) = เคยฝันแบบนี้มาแล้ว


• déjà rencontrè (already met) = เคยพบคน ๆ นี้มาแล้ว 

• déjà goutè (already tasted) = เคยรับรู้รสในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว 




อย่างไรก็ดี นักวิชาการอีกท่านหนึ่งคือ ดร.อาเทอร์ ฟังค์เฮาสเซอร์ (Dr.Arthur Funkhouser) กลับบอกว่า น่าจะเลิกใช้คำว่า เดชาวู ได้แล้ว แต่ให้เจาะจงไปเลยว่าเป็นประสบการณ์แบบไหน โดยในบรรดาประสบการณ์ย่อยทั้งหมดนี้ มีอยู่ 3 แบบที่น่าสนใจ เพราะมีตัวอย่างอ้างอิงชัดเจน ได้แก่ 



เดชา เวกู (déjà vécu)


เดชา ซองติ (déjà senti)


เดชา วิซีต (déjà visitè)


ทั้ง 3 แบบนี้มีส่วนคล้ายหรือต่างกันอย่างไร ลองมาดูรายละเอียดกันหน่อย 



เดชาวูที่น่ารู้จัก 3 แบบหลัก 



เดชาวูแบบแรกคือ เดชา เวกู (déjà vécu) หรือ "เคยใช้ชีวิตในลักษณะเช่นนี้มาแล้ว" ก็เหมือนกับเกริ่นเรื่องเอาไว้ นั่นคือ คนที่มีประสบการณ์นี้จะรู้สึกเหมือนกับว่า ตัวเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ได้เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในอดีต ตรงกันหมดในรายละเอียดไม่ว่าสถานที่ สิ่งของ คนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคำพูด และกิริยาท่าทางของคนรอบข้าง

นี่เองที่ทำให้ ดร.อาเทอร์ ฟังค์เฮาส์เซอร์ เสนอว่าควรจะเลิกใช้คำว่า เดชาวู ซึ่งมีความหมายตรงตัวเพียงแค่ "เคยเห็น" เพราะในกรณีเดชา เวกู นั้นมีครบเครื่องทุกการรับรู้และความรู้สึก (เห็น+ได้ยิน+สัมผัส+อื่น ๆ) ราวกับว่าเคยใช้ชีวิตในช่วงนี้มาแล้วนั่นเองจากการสำรวจ (ของฝรั่ง) พบว่า ประชากรประมาณ 1 ใน 3 เคยมีประสบการณ์นี้ โดยมักเกิดในช่วงที่อายุประมาณ 15-25 ปี โดยจุดสำคัญของเดชา เวกู ก็คือ เรื่องที่รู้สึกว่าเคยเกิดขึ้นมาแล้วนั้น มักจะเป็นเรื่องแสนจะธรรมดา แต่กลับมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องอย่างน่าพิศวง เช่น จำได้ว่าตรงนี้เป็นยังไง ใครพูดหรือทำอะไร และที่น่าพิศวงที่สุดก็คือ จะรู้สึกมั่นใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอีกไม่กี่อึดใจอีกด้วย! 


ส่วนแบบที่สองคือ เดชา ซองติ (déjà senti) หรือ "เคยรู้สึกเช่นนี้มาแล้ว" นั้น มีจุดแตกต่างจากเดชา เวกู ตรงที่ว่า เดชา ซองติ เป็นความรู้สึกที่ขึ้นในใจเป็นหลัก และมักจะถูกกระตุ้นด้วย "คำ" เช่น ได้ยินคนอื่นพูด คิดคำอยู่ในใจ หรืออ่านคำ ๆ หนึ่งแล้วคิดตาม และที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อ(ทำนายเหตุการณ์ไม่ได้) ซึ่งต่างจากกรณีของเดชา เวกู

นักประสาทวิทยาพบว่า เดชา ซองติ มักจะเกิดควบคู่ไปกับโรคลมบ้าหมูอันเนื่องมาจากมีปัญหาที่สมองกลีบขมับ (temporal lobe epilepsy) โดยก่อนอาการชักอย่างเต็มขั้นนั้น คนไข้อาจจะมีความรู้สึกในลักษณะนี้นำมาก่อน ด้วยเหตุนี้เอง นักประสาทวิทยาบางท่านจึงได้เสนอว่า เดชา ซองติ น่าจะเกิดจากสาเหตุเดียวกับโรคลมบ้าหมู 


สำหรับแบบที่สามคือ เดชา วิซีต (déjà visitè) หรือ “เคยเยือนสถานที่นี้มาแล้ว” นี่ก็ลึกลับไม่เบา เพราะมีหลายกรณีที่บางคนบันทึกไว้ว่า รู้สึกคุ้นเคยราวกับว่าเคยอาศัยอยู่ใน (หรือเคยไปเยี่ยมเยือน) สถานที่หนึ่ง ๆ มาแล้ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งไปเป็นครั้งแรก 


บางคนที่เชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิด พอได้ยินอย่างนี้เข้า ก็ตีปีกแล้วร้องดัง ๆ ว่า เห็นไหมเป็นเพราะชาติก่อน คน ๆ นี้เคยใช้ชีวิตอยู่ในสถานที่ดังกล่าว พอกลับมาเยือนอีกครั้งก็เลยจำได้ 

ส่วนคนที่เชื่อเรื่องกายทิพย์ (astral body) หรือประสบการณ์ออกนอกกายเนื้อ (out-of-body experience, OBE) ก็จะบอกว่าเป็นเพราะกายทิพย์ของคนนั้นได้ไปเยือนสถานที่แห่งนั้นมาแล้ว (เช่น ในระหว่างที่เขากำลังหลับอยู่) พอกายเนื้อไปที่นั่นจริง ๆ ก็เลยจำได้ 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทฤษฎีกลับชาติมาเกิดและกายทิพย์นี่จะใช้กับ “เดชาแบบอื่น ๆ” ไม่ได้ เช่น ไม่ได้ตอบคำถามว่า แล้วรู้สึกได้อย่างไรว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้นในกรณีของเดชา เวกู เป็นต้น 


มีเหมือนกันที่เชื่อเพียงว่า เดชา วิซีต เกิดจากการที่เราเคยไป (หรือเคยรับรู้เกี่ยวกับ) สถานที่นั้นมาแล้ว แต่ดันลืมไปเอง แม้ทฤษฎีนี้จะดูง่ายไปหน่อย แต่ก็มีหลักฐานสนับสนุนอยู่ เช่น กรณีที่นาทาเนียล ฮอว์ทอร์น (Nathaniel Hawthorne) ไปเยือนคฤหาสน์ Stanton Harcourt ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษในปี ค.ศ.1856 ฮอว์ทอร์นเขียนไว้ในบันทึกการเดินทางชื่อ Our Old Home ว่าเขารู้สึกตื่นตะลึงเมื่อได้เห็นห้องครัวขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนว่าเขาจะเคยเห็นที่ไหนมาก่อน แต่ต่อพอไล่เลียงสาเหตุไปมาก็กลับพบว่า ที่เขารู้สึกเช่นนั้นเป็นเพราะเคยอ่านงานเขียนของอะเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) ซึ่งกล่าวถึงสถานที่นั้นมาก่อนนั่นเอง 



นอกจากแนวคิดเรื่องการกลับช���ติมาเกิด กายทิพย์ และทฤษฎีลมบ้าหมูแล้ว ยังมีคำอธิบายอื่น ๆ เกี่ยวกับเดชาวูอีกหลายแบบ ตัวอย่างเช่น 



เฟเดอริก ไมเออร์ส (Frederic W.H. Myers) เสนอว่า เดชาวูเกิดจากการที่จิตใต้สำนึกบันทึกเหตุการณ์ไว้ก่อนจิตสำนึกเล็กน้อย ทำให้สมองตีความไปว่า เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินไปอยู่นั้นเคยเกิดขึ้นในอดีตมาก่อน


อีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าจะเทียบเคียงกับทฤษฎีของไมเออร์สเสนอว่า เดชาวูเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนกระบวนการรับรู้ (perception) และการระลึกได้ (cognition) ของสมอง โดยข้อมูลจากประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและรับรู้อยู่นั้นถูกส่งไปเก็บเป็นความจำก่อน จากนั้นสมองจึงนำมาแปลความหมายและระลึกได้ภายหลัง เลยกลายเป็นว่าประสบการณ์ ณ ขณะนั้น ถูกตีความว่าเป็นประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต


Pierre Gloor เสนอว่า เดชาวูเกิดในขณะที่ระบบความจำส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดึงข้อมูลออกมาใช้ (retrieval system) ไม่ทำงาน ในขณะที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคุ้นเคย (familiarity system) ทำงานเป็นปกติ แต่ก็มีคนแย้งว่า ระบบดึงข้อมูลออกมาใช้ไม่น่าจะปิดตาย แต่ระบบทั้งสองน่าจะทำงานไม่ประสานกันซะมากกว่า


ฟังทฤษฎีเยอะแยะพวกนี้แล้ว ก็อาจจะรู้สึกมึนๆ ปนฉงนไม่แพ้ กับความรู้สึกเดชาวู 

 




Credit: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=735661219784769&set=a.301458716538357.97728.299830193367876&type=1&theater
#Deja #Vu
CMjojo
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
1 ต.ค. 56 เวลา 11:52 3,039 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...