"ปั้นเหน่ง"
มีความหมายถึง หัวเข็มขัด แต่ที่เรียกว่า "ปั้นเหน่งแม่นาค" เพราะว่ากันว่าเป็นที่สิ่งสถิตของวิญญาณแม่นาคพระโขนง ทั้งนี้ ตามตำนานเล่ากันว่า ในสมัยของรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่แม่นาคออกอาละวาดหลอกหลอนผู้คนอย่างหนัก และครั้งหนึ่งข่าวแม่นาคหลอกหลอนหนักโดยเฉพาะที่แยกมหานาค(ในปัจจุบัน) ทำให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้มาทำการสะกดวิญญาณความเฮี้ยน และเจาะกะโหลกผีแม่นาคเอามาขัดเป็นมัน ลงอักขระอาคม ทำเป็นปั้นเหน่งคาดเอว ซึ่งหลังจากนั้นได้นำปั้นเหน่งไปเก็บรักษาไว้ที่วัดระฆังโฆสิตาราม
ครั้นเมื่อท่านชรามากแล้ว ได้มอบปั้นเหน่งกระดูกหน้าผากแม่นาคนี้ไว้กับหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ ซึ่งในภายหลังท่านได้เป็นหม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัต) ต่อมาท่านได้ประทานปั้นเหน่งแม่นาคให้กับหลวงพ่อพริ้ง หรือพระครูวิสุทธิ์ศิลาจารย์ แห่งวัดบางปะกอก ซึ่งภายหลังได้นำเอาปั้นเหน่งอันนี้มาถวายแด่กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ในเวลาต่อมา ก่อนที่ปั้นเหน่งแม่นาค จะถูกเปลี่ยนมือไปอีกหลายทอด และหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย อย่างไรก็ตาม "ปั้นเหน่งหรือกะโหลกหน้าผากแม่นาค" ถือได้ว่าเป็นหลักฐานที่หลงเหลือและจับต้องได้เพียงชิ้นเดียว จากตำนานรักอมตะระหว่างผีกับคน ที่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่า ของศักดิ์สิทธิ์จากตำนานรักแม่นาค ตกทอดไปอยู่ในมือของผู้ใด?