ยูเนสโกเผยงานวิจัยพบเด็กไทยเครียดเพราะสอบมาก
สทศ.ก้าวขึ้นสู่ปีที่9 เดินหน้าสู่ความเป็นสากล เชิญวิทยากรจากอเมริกาและยูเนสโกร่วมแสดงทัศนะการจัดการทดสอบทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้าน "พงศ์เทพ" หวังเรียนรู้เทคนิคนำมาปรับใช้พัฒนาหลักสูตรและข้อสอบ ประกอบการปฏิรูปการศึกษาไทย ขณะที่ผู้แทนยูเนสโก ชี้เด็กไทยสอบมากส่งผลเครียด-ต้องเรียนเพิ่ม แนะทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้
วันนี้(4 ก.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ได้มีการประชุมนานาชาติ 2013 "NIETS International Symposium" ในโอกาสครบรอบ 8 ปี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)
ซึ่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงานว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐและทรัพยากรมนุษย์ที่มีการศึกษาก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยประเทศไทยลงทุนด้านการศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่ง คือมากกว่าร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี แต่คุณภาพการศึกษาของเรายังตามหลังอยู่หลายประเทศ
ดังนั้นการประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีในการเรียนรู้ แนวปฏิบัติและเทคนิคจากต่างประเทศ ในการพัฒนาระบบการทดสอบให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงเรียนรู้วิธีการจัดทำเนื้อหาข้อสอบเพื่อชี้วัดการใช้ทักษะความจำและการวิเคราะห์ของผู้เรียน ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรและการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยต่อไป
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. กล่าวว่า ตนมีนโยบายที่จะเดินหน้าพัฒนาการทดสอบให้เป็นมาตรฐานสากล โดยพัฒนาระบบการจัดทำข้อสอบในด้านต่างๆ อาทิ การจัดทำคลังข้อสอบโอเน็ต ทดสอบความรู้ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา มุ่งวัดสมรรถนะผู้เรียนเพื่อนำผลการทดสอบไปใช้เชื่อมโยงกับหลักสูตรและการเรียนการสอน รวมถึงให้ผลการทดสอบสามารถเทียบเคียงกับผลการทดสอบระดับนานาชาติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้จะพัฒนาระบบอี-เทสติ้งให้มีเสถียรภาพและน่าเชื่อถือ และจะมีการนำร่องการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา รวมทั้งเร่งพัฒนาระบบการทดสอบด้านภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ดร.ฉาง กว่าง ซอย ผู้แทนยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากงานวิจัยของยูเนสโก พบว่าประเทศไทยมีการจัดทดสอบในทุกระดับชั้น ส่งผลให้นักเรียนมีความเครียด และต้องไปเรียนพิเศษนอกห้องเรียนมากขึ้น
ซึ่งข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาจะต้องมีการลงทุนพัฒนาความสามารถเชิงหลักสูตร และคุณภาพของครูให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้การพัฒนาคุณภาพการเรียนและการประเมินผลจะต้องมีการทำวิจัย ซึ่งอาจเป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งยูเนสโกได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันยูเนสโกได้มีการทำวิจัยการทดสอบด้านศิลปะและพลศึกษา เพราะการประเมินผลการทดสอบเพียงแค่ด้านวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์ยังไม่เพียงพอ แต่จะต้องมีการทดสอบเพื่อให้เห็นถึงความรู้ความสามารถด้านศิลปะ และพลศึกษาด้วย อันนำไปสู่การช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
ด้าน ศ.ดร.มาร์ค แอล เดวิสัน อาจารย์ด้านจิตวิทยาการศึกษา จากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สหรัฐอเมริกามุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์ การอ่าน และวิทยาศาสตร์ เป็นหลัก
โดยปัจจุบันมีระบบการจัดสอบ 2 รูปแบบ คือ ให้แต่ละรัฐจัดสอบเองโดยรัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ ส่วนอีกระบบเป็นนโยบายของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีที่เน้นการจัดการทดสอบโดยมีรัฐบาลกลางเป็นผู้กำหนดหลักสูตรและออกข้อสอบเป็นชุดเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการพัฒนาการทดสอบของสหรัฐ ให้เปลี่ยนมาเป็นแบบทดสอบเดียว แต่จะต้องสามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์ของทุกรัฐได้ และนักเรียนแต่ละคนสามารถเปรียบเทียบได้ว่า เขามีความสามารถในการเรียนรู้เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนในแต่ละรัฐอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ในการดำเนินการรัฐบาลจะมอบให้หน่วยงานเอกชนเป็นผู้จัดการทดสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพการสอบและการประเมินผลได้ ขณะที่เนื้อหาการสอบยังคงเน้นการอ่านและคณิตศาสตร์ ซึ่งรูปแบบที่สหรัฐใช้อยู่เป็นรูปแบบเดียวกับที่รัฐบาลไทยทำอยู่แล้ว
" การพัฒนาระบบการทดสอบประเมินผลจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลการดำเนินงานที่ผ่านมาทุกระยะเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลของแต่ละรูปแบบได้ และสิ่งสำคัญที่สุด คือการสร้างเครือข่ายการทำบททดสอบในเชิงมืออาชีพ ทั้งในระดับรัฐหรือชุมชน และระดับรัฐบาล โดยให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น พร้อมกับช่วยกันดูทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการทำข้อสอบ หรือการออกข้อสอบในระดับชาติ" ดร.มาร์ค กล่าว