ไทยเจ๋ง ! ผลิตชุดตรวจดื้อยา HIV ได้ชุดแรกในอาเซียน
ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นชุดตรวจการดื้อยาฝีมือของคนไทยชุดแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตรวจได้เร็วสุดในเวลา 2 วัน หลังริเริ่มวิจัยมาแต่ปี 2537 มั่นใจช่วยให้ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เข้าการตรวจเชื้อดื้อยาที่มีคุณภาพและราคาถูก
ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ดร.สุณี ศิริวิชยกุล ศ.นพ.ประพันธ์ ภานุภาค และ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน พัฒนาชุดตรวจเชื้อเอดส์ดื้อยา และทดสอบคุณภาพเป็นผลสำเร็จแล้ว ชื่อ PolGene® HIV Drug resistance genotypic assay ได้สำเร็จ เตรียมนำไปใช้จริง
โดยทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้คิดค้น และทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ทดสอบและประเมินผล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรู้ตัวว่าดื้อยาหรือไม่ เพื่อที่จะได้ทำการเปลี่ยนยา และจะส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตได้ยาวนานขึ้น
ทั้งนี้ในประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัสอยู่อย่างน้อย 200,000 ราย และทั่วโลกมีอยู่ประมาณเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งในปีนี้ WHO ได้แนะนำให้เริ่มรักษาเร็วขึ้นคือ ที่ CD4 ต่ำกว่า 500 จึงคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่ต้องรับประทานยาเพิ่มขึ้นประมาณ 25 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกจะมีผู้ที่ดื้อยาอยู่ ในอัตราประมาณร้อยละ 15-25 แล้วแต่กลุ่มประชากร ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการใช้ชีวิตได้น้อยลง จึงมีความจำเป็นต้องมีชุดตรวจที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกให้มีใช้และเข้าถึงในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ชุดทดสอบตรวจหาเชื้อดื้อยาดังกล่าวเป็นฝีมือของคนไทยชุดแรก และถือว่าประเทศไทยเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวขึ้นมาได้ โดยชุดทดสอบนี้จะใช้เวลาในการตรวจหาเชื้อดื้อยาได้เร็วสุดภายในเวลา 2 วัน และมีราคาถูกกว่าชุดทดสอบจากต่างประเทศร้อยละ 50
ทั้งนี้ อัตราการดื้อยาต้านไวรัสในประเทศไทยอยู่ที่ 1 ใน 5 มีปัจจัยมาจากการกินยาไม่ตรงเวลา และนอกจากนี้จากข้อมูลของศูนย์วิจัยโรคเอดส์พบว่า ในกลุ่มชายรักชายที่ติดเชื้อเอชไอวี มีร้อยละ 5 ที่ได้รับเชื้อดื้อยา ทั้งที่ยังไม่ได้กินยาต้าน โดยเป็นการได้รับเชื้อดื้อยาจากคู่ขาของกลุ่มชายรักชายด้วยกันเอง
นพ.เกียรติ กล่าวว่า ในผู้ป่วยหากพบว่ามีปริมาณเชื้อไวรัสเอชไอวีในเลือดมากกว่า 1,000 ตัวต่อซีซี ควรที่จะต้องตรวจหาเชื้อดื้อยา เพราะจะส่งผลต่อการให้ยาต้านไวรัสของแพทย์ด้วย เนื่องจากหากให้ผู้ป่วยที่ดื้อยากินยาต้านไวรัสตัวเดิมไปเรื่อยๆ จะส่งผลให้ผู้ป่วยหมดโอกาสในการกินยาต้านไวรัสในกลุ่มเดียวกันไปในทันที
เรียบเรียงโดย EZ Riya www.eduzones.com
ข้อมูล : ASTVผู้จัดการออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบ : ASTVผู้จัดการออนไลน์