แทบทุกคนรู้ว่าคอรัปชั่นเป็นเรื่องชั่วร้าย เป็นความผิดทั้งทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม แต่ดูเหมือนการปลูกจิตสำนึกในบาปบุญคุณโทษตามค่านิยมวัฒนธรรมและศาสนาดูจะไม่ได้ผล เนื่องด้วยผลประโยชน์ที่มหาศาล และค่านิยมที่เชื่อว่าการ “แก้กรรม” สามารถทำได้ โกงแล้วก็ไปสร้างวัด สร้างพระ ก็น่าจะหายกันไป อย่างไรเสีย ผู้คนก็จะนิยมยกย่องผู้ที่มีอำนาจและมั่งคั่งเสมอไป
ผมมีความเชื่อว่า การจะต่อสู้กับคอรัปชั่นให้ได้ผล สังคมจะต้องรับรู้รายละเอียดในโทษของคอรัปชั่นอย่างแจ้งชัดเท่านั้น จึงจะสามารถผนึกสรรพกำลังในการทำสงครามระยะยาวได้ ในที่นี้ผมจะขอเรียบเรียงถึงโทษมหันต์ของคอร์รัปชั่น 6 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ความไม่มีประสิทธิภาพของนโยบายการคลัง ในทางเศรษฐศาสตร์ นโยบายการคลังคือการเคลื่อนย้ายทรัพยากรจากภาคส่วนที่มั่งคั่งกว่าไปสู่ภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ จากภาคส่วนที่จำเป็นน้อยกว่าสู่ภาคส่วนที่จำเป็นมากกว่า เช่น บริการสาธารณะและสวัสดิการสังคมจากอนาคตมาใช้แก้ปัญหาปัจจุบัน อาทิ การแก้วิกฤตโดยกู้ยืมจากหนี้สาธารณะ ถ้าพิจารณาจากขนาดของงบประมาณ ทั้งรัฐและรัฐวิสาหกิจจะรวมเกินกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติ การคอรัปชั่นนอกจากทำให้ทรัพยากรส่วนนี้รั่วไหลไม่เกิดประโยชน์ตามสมควรแล้ว ยังทำให้เกิดการบิดเบือนการตัดสินใจในนโยบายการคลัง ทำให้ทรัพยากรภาครัฐซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ถูกจัดสรรและใช้งานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนบางครั้งก็เป็นต้นเหตุของวิกฤตร้ายแรงต่างๆ ในอนาคต
2. คุณภาพและต้นทุนของบริการพื้นฐาน โดยเหตุที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบบริการพื้นฐานสาธารณะแทบทั้งหมด การที่มีการคอรัปชั่นอย่างกว้างขวางในทุกภาคส่วน ทำให้บริการพื้นฐานมีคุณภาพต่ำ ปริมาณไม่เพียงพอ และมีต้นทุนสูง ทำให้ระบบเศรษฐกิจไม่มีประสิทธิภาพในการแข่งขัน
3. ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนของการจัดสรรทรัพยากรในภาคเอกชน เนื่องด้วยคอรัปชั่นขนาดใหญ่มักเกิดขึ้นในภาคที่ไม่ใช่สินค้าบริการในตลาดโลก หรือที่เรียกว่า Non-Tradables ซึ่งอำนาจรัฐสามารถเอื้อประโยชน์ได้มากเพราะช่วยกีดกันการแข่งขันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดกำไรอย่างมาก ทำให้ทรัพยากรจำนวนมากไหลเข้าสู่ภาคนี้เกินสมควร ทั้งทรัพยากรเงินทุนและทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ คือ ฉลาด เก่ง แต่ไม่มีสำนึกคุณธรรม จะเห็นได้ว่ามหาเศรษฐีไทยจำนวนมากอยู่ในภาคส่วนนี้ดังได้กล่าวมาแล้ว และอัจฉริยะจำนวนไม่น้อยจะมีอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น การเมืองภาคสกปรก และลอบบี้ยิสต์เป็นต้น
4. โทษใหญ่อีกประการหนึ่งคือ การบั่นทอนศักยภาพการแข่งขันของประเทศโดยรวม ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากว่า 50 ปี ตั้งแต่มีนิยามคำนี้ ถึงแม้จะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกว่า 10 แผน แต่ก็ก้าวหน้ามาได้แค่ครึ่งทาง ถ้านับตามนิยามรายได้ประชาชาติต่อคนต่อปี ผมมั่นใจว่าคอรัปชั่นเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของการพัฒนา เพราะนอกจากจะมีโทษตามที่กล่าวมาแล้วทั้ง 3 ประการ ยังทำให้ภาคเอกชนขาดการพัฒนา เช่น การที่มีช่องทางมากมายที่จะซื้อหาความได้เปรียบหรือกีดกันการแข่งขัน โดยที่ไม่ต้องพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพแท้จริง ทำให้ขาดแรงกดดันและความจำเป็นในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมทั้งการค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เอกชนไทยมีงบประมาณการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาต่ำที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะการซื้อหาความได้เปรียบย่อมมีความแน่นอนกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในการวิจัยและพัฒนามาก
หรือการที่ภาคเอกชนไทยได้ชื่อว่ามี Home Bias สูงที่สุดประเทศหนึ่ง กล่าวคือ มีการลงทุนนอกประเทศซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะกดดันให้พัฒนาศักยภาพ และยังช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ในประเทศ ก็เพราะไม่สามารถหาช่องทางซื้อหาความได้เปรียบในการแข่งขันได้ในประเทศอื่น
ไม่เคยมีประเทศใดๆ ในโลกที่สามารถก้าวพ้น “กับดักการพัฒนา” ได้เลย หากไม่สามารถปรับปรุง “ดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น” ให้สูงเกินกว่า 5.0 ซึ่งในปัจจุบันของเราอยู่ที่ 3.4
-------------------------
กฎหมาย ปราบคอร์รัปชัน เอาผิดนักการเมือง และข้าราชการทุจริต ได้ง่ายมาก เพียงแต่ยังขาด ผู้นำการเมืองที่เอาจริง เท่านั้น ยึดทรัพย์ได้หมด เพียงข้อหา ร่ำรวยผิดปรกติ แล้วฟ้องติดคุก
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา