วันที่ 22 ก.ย. ที่สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายไพศาล ชื่นจิตร ผอ.สำนักสืบสวนและปราบปราม นายคณิท อิศดุล ผอ.ส่วนควบคุมทางศุลกากร นายธนวรรธน์ กุลกานต์สวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม พร้อมเจ้าหน้าที่ศุลกากรสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกันแถลงผลการยึดเต่าดำแฮมมิลตันหรือเต่าบึงดำลายจุด คละขนาด จำนวนรวม 220 ตัว น้ำหนักรวม 105 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1 ล้านบาท
นายไพศาล ชื่นจิตร ผอ.สำนักสืบสวนและปราบปราม กล่าวว่า ตามที่ นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายด้านการควบคุมทางศุลกากร และปกป้องสังคมอย่างเคร่งครัด และ กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้มงวดเป็นพิเศษ ในการสกัดกั้นการลักลอบหนีศุลกากร และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
จนกระทั่งวันนี้( 22 กันยายน) เวลาประมาณ 07.45น. ขณะที่ เจ้าหน้าที่ศุลกากร ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารฯ ปฎิบัติหน้าที่อยู่ภายในอาคารผู้โดยสาร พบกระเป๋าสัมภาระต้องสงสัย จำนวน 3 ใบ วางอยู่บริเวณใกล้เคียงประตู 6 ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ อาคารผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ เมื่อสอบถามแล้วไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้นำกระเป๋าสัมภาระดังกล่าวมาตรวจโดยละเอียด ก็ค้นพบ สัตว์มีชีวิตประเภท เต่าดำแฮมมิลตัน หรือเต่าบึงดำลายจุด คละขนาด ถูกเทปกาวสีน้ำตาลพันรอบตัวหรือช่องว่างเฉพาะหัว รวม 220 ตัว อยู่ในกระเป๋ากระเป๋าเดินทางใบใหญ่ทั้ง 3 ใบ และเมื่อตรวจสอบที่กระเป๋าไม่มีป้ายชื่อระบุ
ผอ.สำนักสืบสวนและปราบปราม กล่าวเพิ่มเติมว่า เต่าดำสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นเต่าน้ำจืด มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศ บังคลาเทศ คาดว่าจะนำเข้ามาขายเพื่อความสวยงาม โดยมีราคาขายอยู่ที่ตัวละ1,000– 10,000 บาท
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ฯจึงยึดเต่าทั้งหมดไว้เป็นของกลาง เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีรายชื่อห้ามซื้อขายในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้สูญพันธุ์(CITES) ก่อนส่งมอบให้กับด่านตรวจสัตว์ป่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำไปฟื้นฟูต่อ ส่วนเจ้าของกระเป๋าทั้ง3ใบอยู่ระหว่างติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เนื่องจากการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ประกอบมาตรา 16,17 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับ 9)พ.ศ. 2482 และความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535การนำเข้าต้องขออนุญาตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามมาตรา 23,24 ของ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535