เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2556 เว็บไซต์สเปซ รายงานว่า นาซาค้นพบหลุมดำพลังงานมหาศาลแห่งใหม่มากถึง 10 แห่ง ในกาแล็กซีที่อยู่ห่างไกล โดยการค้นพบหลุมดำพลังงานมหาศาลทั้ง 10 แห่ง ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความบังเอิญ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังตรวจสอบภาพที่ได้จากกล้องนิวสตาร์ (NuSTAR - Nuclear Spectroscopic Telescope Array) กล้องโทรทรรศน์เอกซ์เรย์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการค้นหาหลุมดำโดยเฉพาะ
เดวิด อเล็กซานเดอร์ อาจารย์สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยเดอแฮม กล่าวว่า พวกเขาสังเกตเห็นจุดแสงปริศนาที่อยู่บนพื้นหลังของภาพ ในขณะที่กำลังค้นหาดาวเป้าหมายของพวกเขาอยู่
หลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็พิสูจน์การมีอยู่ของหลุมดำเหล่านั้นอีกครั้ง ด้วยกล้องรังสีเอกซ์จันทราขององค์การนาซา และ XMM-Newton ดาวเทียมขององค์การอวกาศแห่งยุโรป ซึ่งเป็นดาวเทียมที่สามารถตรวจจับแสงพลังงานต่ำได้ด้วย โดยหลุมดำพลังมหาศาลทั้ง 10 แห่งนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้นของการค้นหาหลุมดำอีกกว่า 100 แห่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้เท่านั้น และพวกเขาก็หวังว่า จะสามารถทำความเข้าใจกลุ่มหลุมดำเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับกุญแจดอกแรกที่นำไปสู่การไขความลับเรื่อง หลุมดำ ถูกเผยออกมาในปี พ.ศ. 2505 หลังจากที่มีนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแสงปริศนาปรากฏอยู่ในห้วงจักรวาล แต่ในตอนนั้นไม่อาจทราบได้ว่า แสงปริศนาแสงนั้นมาจากที่ใด แต่ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบที่มาของแสงเหล่านั้นแล้วว่า เป็นลำแสงที่ส่องสว่างมาจากหลุมดำพลังงานมหาศาลที่อยู่ไกลโพ้นที่กำลังกลืนดาว ซึ่งหลุมดำบางแห่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์พันล้านเท่า ที่อยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
ทางด้าน เดเนียล สเทิร์น นักวิทยาศาสตร์จาก Jet Propulsion Lab ขององค์การนาซา นำผลการสำรวจครั้งล่าสุดออกมาพร้อมกับเผยว่า หลุมดำเหล่านั้นถูกห้อมล้อมด้วยกาแล็กซีขนาดใหญ่กว่า และน่าจะเกิดจากการปะทะหรือรวมตัวของกาแล็กซีหลายกาแล็กซีเมื่อในอดีต
ทั้งนี้ หลุมดำพลังงานมหาศาลทั้ง 10 แห่งที่จับภาพได้โดย กล้องนิวสตาร์ จะถูกนำไปศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งรวมไปถึงดาวเทียมไวส์ (WISE - Widefield Infrared Survey Explorer) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ Spitzer Space Telescope ด้วย