แต่หลายคนมีปัญหา คือดื่มนมแล้วเกิดอาการท้องเสีย จึงหลีกเลี่ยงไม่ดื่มนมเลย ซึ่งนับว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม เพราะทำให้ร่างกายขาดโอกาสในการได้รับสารอาหารที่จำเป็นโดยเฉพาะแคลเซียม ที่ถือว่านมเป็นแหล่งอาหารที่ให้แคลเซียมมากที่สุด โดยร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ง่าย เพียงแค่ดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว ก็จะได้รับแคลเซียมเพียงพอกับความต้องการของร่างกายแล้ว ซึ่งต่างจากการกินอาหารอื่นเพื่อให้ได้แคลเซียมเพียงพอ ที่ต้องกินอาหารจำนวนมากและต้องกินทุกวัน จึงเป็นไปได้ยากเมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มนมซึ่งง่ายและสะดวกกว่า
แต่บางคนดื่มนมแล้วเกิดอาการท้องเสีย แล้วจะทำอย่างไร ? สาเหตุที่ดื่มนมแล้วเกิดอาการท้องอืด เฟ้อ จุกเสียด แน่นในท้อง ผายลมบ่อยๆ ลำไส้ปั่นป่วน หรือท้องเสียนั้น เนื่องจากในน้ำนมของสัตว์ทุกชนิดทั้งนมคน นมวัว หรืออื่นๆ มีน้ำตาลแลคโตสเป็นส่วนประกอบ โดยคนเราจะมีน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแลคโตสนี้กันทุกคนเมื่อแรกเกิด แต่พออายุประมาณ 4-5 ปีขึ้นไป น้ำย่อยนี้จะค่อยๆ ลดลง และหมดไปในคนที่ไม่ได้ดื่มนมอีก ซึ่งในคนกลุ่มนี้เมื่อกลับมาดื่มนมใหม่ ร่างกายไม่สามารถย่อยน้ำตาลในนมหรือน้ำตาลแลคโตสได้ เมื่อนมไหลผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่ จึงถูกจุลินทรีย์ในลำไส้ย่อยสลาย เกิดกรดหรือแก๊สขึ้น จึงเกิดอาการไม่สบายในท้อง หรือท้องเสียได้
วิธีแก้ปัญหาอาการท้องเสียเมื่อดื่มนมคือ การดื่มนมวันละน้อยๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นในวันต่อๆ มา โดยควรดื่มหลังอาหาร หรือดื่มร่วมกับอาหารว่างอื่น ไม่ควรดื่มขณะท้องว่าง ซึ่งจะสามารถหลีกเลี่ยงอาการไม่สบายในท้องต่างๆ ได้ แต่หากทำตามข้อแนะนำแล้วยังเกิดปัญหาอยู่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มนมไปก่อน แล้วหันมากินโยเกิร์ตแทน เพราะในโยเกิร์ตมีการเติมเชื้อจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตสเรียบร้อยแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่ง จึงค่อยกับมาลองดื่มนมสดใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่หลากหลาย และแคลเซียมเพียงพอ
Credit : โรงพยาบาลลำปาง