ฝรั่งแลไทยลืม
เก่าแก่มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
เชื่อกันว่า ต้นเค้าของการแสดงละครนั้น เริ่มแรกมาจากการเล่านิทานในสมัยโบราณ จากการพูดเล่ากันอย่างธรรมดา ต่อมาจึงมีการแต่งบทเล่าให้เป็นกลอน ก่อให้เกิดการละเล่นที่เรียกว่า ขับเสภา ขึ้น จากนั้นในภายหลัง มีการนำคนมารำให้เข้ากับท่วงทำนองเพลง กลายมาเป็น เสภารำ ซึ่งเสภารำนี้เองที่น่าจะเป็นต้นเค้าแห่งละครในเวลาต่อมา.... ส่วน ละคร จะมีขึ้นมาในประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งใดนั้น ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แม้ว่าจะพบชื่อละคร อยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นครั้งแรกก็ตาม หากก็ได้มีการสันนิษฐานว่า แท้ที่จริงแล้ว ละครน่าจะมีมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือนาฏศิลป์ของ หลวงวิจิตรวาทการ ที่ได้ระบุเอาไว้ว่า "การละคร เป็นที่นิยมแพร่หลายขึ้นใน สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา" ซึ่งสอดคล้องกับข้อเขียนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ได้กล่าวไว้ว่า
"ละคร มีรากฐานมาจากประเพณีร้องรำทำเพลง ที่มีเรื่องนิยายอยู่ในชุมชนชาวบ้าน มาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ แต่ยังไม่พบร่องรอยว่า เริ่มเข้าสู่ราชสำนักเมื่อไร เพิ่งมีหลักฐานครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ก็กลายเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ ที่เล่นคราวละ ๓ วัน ย่อมแสดงว่าราชสำนักกรุงศรีอยุธยา จะต้องคุ้นเคยกับละครมาก่อนหน้านั้นนานพอสมควรทีเดียว"
ละครสมัยอยุธยา เล่นกันกลางแจ้ง มีคนดูอยู่ ๓ ด้าน อีกด้านที่เหลือเป็นที่สำหรับพิณพาทย์ และ ตัวละครใช้แต่งตัว เครื่องประดับสถานที่มีเพียงคอน ซึ่งทำมาจากกระบอกไม้ไผ่ให้ตัวละครนั่ง ภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้เตียงแทน ผู้แสดงมีเพียง ๓ ตัว ได้แก่ พระเอก นางเอก และ ตัวตลก ครั้นพอได้รับความนิยมมากขึ้น จึงได้มีการปลูกโรงชั่วคราว โดยมีผ้าม่านกั้นเพียงผืนเดียว ... กล่าวกันว่า การแสดงละครเจริญรุ่งเรืองมากใน รัชสมัยแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
เดิมทีเดียว ละครมีชื่อเรียก และ แบ่งประเภทออกเป็นละครชาตรี ละครนอก และ ละครใน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เกิดมีละครร้อง และ ละครพูดขึ้น จึงมีการเรียกละครแบบดั้งเดิม คือ ละครชาตรี ละครนอก และ ละครใน รวมกันเป็นละครรำ
มีเวลาสัก 1 นาทีไหม ช่วยดูหน่อย อิอิอิ