10 เรื่องจริงชีวิตนักเรียนแพทย์

 

 

 

 

 

10 เรื่องจริงชีวิตนักเรียนแพทย์ นี้เป็นข้อมูลจากนักเรียนแพทย์ปีที่ 3 ที่ได้บรรยายให้เราได้ฟังกันว่า การเป็นแพทย์นั้นมันไม่ได้ง่ายเลย ต้องผ่านอะไรตั้งมากมาย หลายคนคิดว่า แพทย์นั้นต้องเป็นเหมือนในละคร บ้าเรียน มีแต่โลกส่วนตัว เงียบๆ แต่จริงๆแล้ว!สิ่งที่เราคิดอาจจะมีอะไรถูกหรือผิดก็ได้นะ ลองตาม teen.mthai ไปดู 10 เรื่องจริงชีวิตนักเรียนแพทย์  กันดีกว่าคะ โดยเรื่องที่เล่ามานี้เฉพาะปี 1-3 หรือชั้น pre-clinic นะคะ^^

 10 เรื่องจริงชีวิตนักเรียนแพทย์ 

1. นักเรียนแพทย์ปี 1 เป็นปีที่มีความใกล้เคียงกับเด็กมหา’ลัยมากที่สุด 

ที่พูดอย่างนี้เพราะตั้งแต่ปี 2 เป็นต้นไป นักเรียนแพทย์จะไม่ค่อยใช้ชีวิตเหมือนเด็กมหา’ลัยทั่วๆไป เรียกว่าเป็นปีที่ต้องเก็บเกี่ยวชีวิตนิสิตนักศึกษา(ปกติ)ให้ได้มากที่สุด ชั้นปีนี้จะได้เรียนวิชานอกคณะ ได้เจอเพื่อนๆต่างคณะ (คือถ้าใครตั้งใจจะคิดคบสนมสนิทกับเพื่อนต่างเพศนอกคณะ ก็รีบๆคว้าไว้ตั้งแต่ปีนี้ 55) ถ้าอยู่จุฬาฯจะรู้ว่า คณะแพทย์ฯอยู่นอกรั้วจุฬาฯใหญ่ (นั่นคือ ถูกตัดขาดจากคณะอื่น) … ซึ่งปี 1 เป็นปีเดียวที่ได้เดินเพ่นพาน และใช้ชีวิตนอกคณะมากกว่าในคณะตัวเอง จนบางทีก็เกือบลืมไปแล้วว่า “กุเรียนหมอ”

2. อาจารย์ใหญ่ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เมื่อก่อน ถ้าถามถึงการเรียนหมอ สิ่งแรกที่นึกถึงคือ “อาจารย์ใหญ่” ซึ่งพอได้เข้ามาเรียนจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายวิชากายวิภาคฯ หรือ Anatomy เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนหมอ แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง ยังมีอะไรอีกมากมายก่ายหน้าผากให้ต้องศึกษา และแน่นอนเมื่อพูดถึงอาจารย์ใหญ่ คนส่วนใหญ่มักจะกลัวกัน ในครั้งแรกที่ได้เรียน สารภาพด้วยเกียรติของยุวกาชาดว่า ”กลัว” แต่พอเวลาผ่านไป ความกลัวเปลี่ยนเป็นความเคารพ จนตอนนี้ก็ตอบไม่ได้ว่าถ้าไม่มีอาจารย์ใหญ่ ในแต่ละปี จะสามารถผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพออกมาได้สักคนรึปล่าว ถ้าจะพูดกันจริงๆ อาจารย์ใหญ่ ไม่ได้มีพระคุณเฉพาะกับพวกเรานักเรียนแพทย์ แต่มีพระคุณต่อทุกคนที่นั่งๆนอนๆอยู่บนโลกร้อนๆใบนี้ หรือจะปฏิเสธว่าชีวิตนี้ไม่เคยไปหาหมอ ???

3. ความหลากหลายในคณะ

คณะแพทย์ฯ ก็เป็นสังคมๆ หนึ่ง ย่อมมีความหลากหลายทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ เคมี สังคม ภาษาไทย (ไม่ใช่แระ ) อีกเรื่องที่คนทั่วไปมองนักเรียนแพทย์คือ เรื่องความฉลาด จริงๆแล้ว ใช่ว่านักเรียนแพทย์ทุกคนจะเก่งเว่อกว่าชาวบ้าน (อย่างเราอาจจะต่ำกว่ามาตรฐานมนุษย์ทั่วไปด้วยซ้ำ เหอะๆ)

4. แกะในใบจาม

คล้าย ”กบในกะลา” นี่แหละหนา ด้วยการเรียนที่หนัก(โคตร) ทำให้นักเรียนแพทย์ค่อยๆถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทีละน้อยๆ ตั้งแต่ปี2ขึ้นไป นักเรียนแพทย์จะต้องเรียนแต่วิชาคณะ ตั้งแต่เช้ายันเย็น หรือ โคตรเช้ายันตะวันตกดินในบางวัน แม้แกะบางตัวจะสังคมขนาดไหน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเรียนแพทย์แล้ว ยังไง๊ ยังไง ก็ปฏิเสธข้อนี้ไม่ได้ แต่ละวันก็จะเจอแต่เพื่อน พี่ น้อง ในคณะ เรียกว่าเวลาที่จะไปพบปะกับเพื่อนต่างคณะน้อยลงทุกทีตามชั้นปีที่สูงขึ้น …. ฉะนั้น นักเรียนแพทย์อาจโดนเพื่อนต่างคณะเลิกคบได้ทุกเมื่อ

เพื่อนต่างคณะ : เอ้ย วันจันทร์เลี้ยงน้องจังหวัดนะ 4โมงเย็น มาให้ได้นะแก

นักเรียนแพทย์ : เออน่า เด๋วเราไปก่อนเวลาสักครึ่งช.ม.เลยเป็นไง ฮ่าๆๆ

             วันจันทร์ 16:00 น.

เพื่อนต่างคณะ : ไหนว่าจะมาก่อนเวลาไง 

นักเรียนแพทย์ : เดี๋ยวแปบนึงนะ เรายังผ่าอาจารย์ใหญ่ไม่เสร็จเลยอะ 

              16:30 น.

เพื่อนต่างคณะ : เสร็จยังวะ อย่าบอกนะว่าไม่มา ปีที่แล้วก็ชิ่งทีนึงแล้ว 

นักเรียนแพทย์ : เออ บอกว่าไปก็ไปดิ แค่นี้ก่อนนะเว้ย คุยลำบาก ต้องถอดถุงมือ

             17:00 น. 

เพื่อนต่างคณะ : เฮ้ย เค้ารอเมิงคนเดียวเนี่ย จะมามั้ย จะได้ให้น้องเค้ากินๆกันก่อน 

นักเรียนแพทย์ : เออๆ เมิงให้เค้ากินกันเลย กุน่าจะสาย (ได้ข่าวว่าสายอยู่แล้ว) เสร็จแล้วเดี๋ยวกุโทรไป

              19:00 น.

เพื่อนต่างคณะ : โทษทีที่กุโทรมาก่อน คือเค้าเสร็จกันแล้ว เมิงจะมาเจอพวกกุป่ะ 

นักเรียนแพทย์ : เออเมิง โทษทีว่ะ อาจารย์เพิ่งบอกว่าพรุ่งนี้quiz กุคงต้องอ่านหนังสือ 

เพื่อนต่างคณะ : ไอ้….. 

 อย่างไรก็ตาม วันว่างๆหลังสอบ หรือช่วงที่ไฟไม่ลนก้นก็สามารถไป hang out กับเพื่อนๆได้บ้างนะ 555

5. มักไม่ค่อยเสียดุลให้เด็กต่างคณะ 

จากผลพวงของข้อที่แล้ว นักเรียนแพทย์ส่วนใหญ่มักใช้เวลาอยู่ในคณะตัวเอง ไม่ค่อยมีเวลาออกไปพบปะผู้คนสักเท่าไหร่ จากเดิมที่เคยเสียดุลให้ต่างคณะก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะสาวๆที่มีแฟนอยู่คณะอื่น พอเริ่มไม่มีเวลาให้ หนุ่มๆก็จะเริ่มหายหน้าไปอย่างช้าๆ ถ้าไม่รักหนักแน่นเหมือนเพลงพี่เบิร์ดก็เป็นอันต้องลงท้ายด้วย ”เราเป็นเพื่อนกันเถอะ” ทุกครั้งไป และสุดท้าย พอเริ่มเรียนไปเรื่อยๆ เจอคนหน้าเดิมๆซ้ำๆ ทุกวันๆ ก็เกิดอาการ ”เพื่อน กุรักมึงว่ะ” (อันนี้ใช้ได้กับทุกเพศ )

6. สายรหัสผูกพัน สายสัมพันธ์ชั้นปี

ไม่แน่ใจว่าทุกมหา’ลัยจะเหมือนกันรึเปล่า? แต่เท่าที่รู้มา ทั้งจากที่จุฬาฯเองและจากเพื่อนนักเรียนแพทย์ ม.อื่นๆ พบว่า คณะแพทย์ฯ เป็นคณะที่มีความผูกพันกันในสายรหัสมากที่สุดคณะหนึ่ง โดยไม่ได้สนิทกันเฉพาะชั้นปีที่ติดๆกันเท่านั้น แต่นักเรียนแพทย์ทุกคนจะถูกปลูกฝังให้รักน้องพี่ในสายรหัสเป็นอย่างมาก จะมีการช่วยเหลือเกื้อกูล และปรึกษาหาเรื่อง เอ้ย หารือ(มันจะเล่นทำไมเนี่ยมุกนี้ ) กันตลอดเวลา น้องๆชั้นปี1-5ก็จะได้รับมรดกตกทอดจากพี่ๆปีสูงกว่าจากรุ่นสู่รุ่น ประหนึ่งเป็นทายาทอสูร ไม่เว้นแม้กระทั่งพี่ปี 6 ที่จะจบแหลไม่จบแหล (ฟังดูแปลกๆ เหอะๆ) ในบางสายรหัสก็จะมีพี่สายที่จบไปแล้วค่อยฝากของมาให้อยู่เนืองๆ รวมทั้งเทศกาลล้มทับพี่รหัส หรือการเลี้ยงสายก็จะต้องจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี น้องเล็กของสายก็จะอิ่มหนำสำราญเป็นพิเศษ ถ้าเป็นที่จุฬาฯ น้องปี1ในคณะจะได้รับการเลี้ยงจากพี่ๆในสายอย่างเป็นทางการรวม 8 ครั้ง (บวกลบ 2 แล้วแต่สายรหัส) นอกจากนี้อาจมีการเลี้ยงจากอาจารย์ที่ปรึกษาสายรหัสอีก 1 หรือ 2 ครั้ง นี่ยังไม่รวมการเลี้ยงอย่างไม่เป็นทางการในกรณีที่พี่คนไหนกระเป๋าหนักเป็นพิเศษ หรือถ้าโชคดีก็อาจมีพี่สายที่จบไปแล้ว นึกอยากจ่ายตังค์ขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล ก็ทำให้น้องๆลดค่าอาหารลงได้อีกหลายสตางค์เลยทีเดียว สาเหตุที่ทำให้สายรหัสมีความผูกพันกันมากเป็นพิเศษ (นอกจากการได้รับประโยชน์จากการกินแล้ว)ประเด็นสำคัญอาจมาจากเรื่องเรียนที่หลายครั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพี่ๆ รวมถึงการใช้ชีวิตวนเวียนในคณะก็ทำให้มีโอกาสเจอกันได้บ่อยๆ นอกจากความผูกพันในสายรหัสแล้ว นักเรียนแพทย์ในแต่ละชั้นปียังมีความสนิทสนมกันมาก ด้วยจำนวนที่ไม่มาก(แต่ก็ไม่น้อย)  ประกอบกับการเรียนในคณะที่จะแตกต่างจากคณะอื่นๆ คือจะเรียนไปพร้อมๆกันในทุกๆวิชา ตลอดวัน ตั้งแต่ต้นเทอมยันจบเทอม (ยังกะเด็กประถม)

7. นักเรียนแพทย์เป็นคนธรรมดา ที่เมื่อถึงเวลาเนิร์ดก็(จำเป็นต้อง)เนิร์ดได้

แม้การเรียนจะหนักเพียงใด แต่นักเรียนแพทย์ก็คือคนปกติทั่วไป ที่ยังคงต้องเสพสิ่งบันเทิง และมีอารมณ์ขี้เกียจได้ (บ่อยๆ)ในบางรายก็จะชิวไปเรื่อยๆ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็กางเกงไหม้ไปครึ่งก้นแล้ว  แต่ระดับความขี้เกียจในแต่ละคนก็ใช่ว่าจะเท่ากัน คำว่า ”ยังไม่ได้อ่าน”ของนักเรียนแพทย์คนหนึ่ง อาจหมายถึงการ ”อ่านอย่างตั้งใจ” ของนักเรียนแพทย์อีกคนหนึ่งก็เป็นได้ ฉะนั้นในหลายๆครั้ง นักเรียนแพทย์ควรใช้วิจารณญาณในการตีความคำพูดของเหล่าทวยเทพให้ดี เพราะถ้าเผลอตัว หรือตั้งใจคิดเข้าข้างตัวเอง อาจเกิดอาการ”ดินพอกหางแกะ”ได้ อย่างไรก็ตาม พบว่า นักเรียนแพทย์ทุกคนที่จบไปเป็นหมอได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองสูงอยู่พอตัว คืออย่างน้อยๆจะต้องสามารถประมาณความสามารถตัวเอง และแบ่งเวลาในชีวิตได้ ไม่ใช่ว่าจะปล่อยตัวปล่อยใจจนเสียการเรียน

8. นักเรียนแพทย์หญิง มักจะหาเพื่อนรู้ใจยากกว่าสาวๆคณะอื่น

เมื่อเทียบคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน ทั้งรูปร่าง หน้าตา นิสัย ชาติตระกูล เศรษฐานะ ความแอ๊บแบ้ว หรืออะไรก็ตาม ระหว่างสาวคณะแพทย์ กับสาวคณะอื่นๆ พบว่า แม้จะมีลักษณะเหมือนๆกัน แต่นักเรียนแพทย์หญิงกลับมีเปอร์เซนต์การปลดระวางจากคานทองน้อยกว่าคนทั่วไปอย่างน่าใจหาย! ) ซึ่งถ้าฝ่ายชายไม่คิดว่าตัวเองมีดีระดับนึงก็จะไม่ค่อยกล้าเข้าหา หรือหนุ่มบางรายก็มองว่าสาวเจ้าไม่มีเวลาให้ตัวเองเลย ความจริงข้อ8นี้ถ้าใครไม่เชื่อ ลองเดินถามผู้ชายแท้ๆสัก 10 คนว่า ถ้าจะให้จีบสาวสักคนมาเป็นแฟนอย่างจริงๆจังๆ คนนึงเรียนหมอ อีกคนนึงเรียนบัญชี, อักษร, นิเทศ แล้วลองนับดูว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกจีบใคร

9. ไม่ควรถามเรื่องโรคภัยไข้เจ็บกับนักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic 

คนทั่วไปพอรู้ว่าเป็นนักเรียนแพทย์ เรื่องส่วนใหญ่ที่มักจะถามกัน หนีไม่พ้นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆนานา เพราะคาดหวังว่า มันเรียนหมอ ก็ต้องรู้สิวะ แต่จริงๆแล้ว นักเรียนแพทย์ในชั้น Pre-clinic เกือบทั้งหมดยังไม่มีความรู้มากพอที่จะแนะนำการรักษาได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำได้อย่างมาก็แค่วิธีเบื้องต้นเท่านั้น (บางรายอาจยังบอกอะไรไม่ได้เลย เพราะเรียนมาก็ลืมๆหมด) เพราะชั้นปี1-3เรียนแค่ทฤษฎี ยังไม่ลงลึก และยังไม่เคยรับเคสรักษาคนไข้มาก่อน

เพื่อนต่างคณะ : แม่ นี่เพื่อนหนูเอง เรียนหมออะ 

แม่เพื่อน : เรียนหมอด้วยหรอลูก พอดีเลย เนี่ยคุณยายเค้าเป็นกรดไหลย้อน มันอันตรายมากมั้ยลูก 

นักเรียนแพทย์ : (เอ๋อไปพักนึง ก่อนที่จะพยายามเคาะสนิม ดึงความรู้ที่มีทั้งหมดเกี่ยวกับกรดไหลย้อนออกมาพูด) …. เอ่อ…. คือ.. จากที่หนูเรียนมานะคะ อาจารย์เค้าบอกว่า…. กรดไหลย้อนเกิดจากการที่กรดในกระเพาะอาหาร มันไหลกลับขึ้นไปทางหลอดอาหาร …. เพราะว่า esophageal sphincter …. เอ่อ …. หมายถึง หูรูดที่หลอดอาหารกับกระเพาะอะคะ มันหลวมเกินไป (อาจมีการเผลอหลุดศัพท์ประหลาดออกมา อย่าคิดว่าต้องการโชว์ภูมิแต่อย่างใด จริงๆแล้วเกิดจากการท่องหนังสือไปสอบ )

แม่เพื่อน : (เริ่มรู้สึกว่ามันตอบไม่ตรงคำถาม แถมยังมาพ่นอะไรก็ไม่รู้ให้ฟังอีก) เอ่อ…แล้วตกลงมันอันตรายมั้ยล่ะลูก 

นักเรียนแพทย์ : คือมันก็อาจทำให้ เอ่อ…. … อ๋อ … ทำให้เกิดการแสบหรือเจ็บหน้าอก บางทีก็มีรสเปรี้ยวที่คออะค่ะ

แม่เพื่อน : (รู้สึกว่ามันก็ยังตอบไม่ตรงคำถามอยู่ดี เลยเริ่มเปลี่ยนคำถามใหม่) แล้วลูกรู้มั้ยว่ารักษายังไงดี เนี่ยหมอเค้าให้ยาแล้วก็ก็ไม่ค่อยจะดีขึ้นเลย

นักเรียนแพทย์ : (หมอให้ยาไม่หาย แล้วหนูจะช่วยได้มั้ยเนี่ย 

เพื่อนต่างคณะ : หนูว่าแม่ไปถามหมอดีกว่า 555

10. นักเรียนแพทย์ชั้น Pre-clinic ส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองใกล้เคียงกับความเป็นหมอ  

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า นักเรียนแพทย์ส่วนใหญ่ในชั้น Pre-clinic ซึ่งแม้จะเป็นชั้นที่ผ่านการเรียนกายวิภาคฯกับร่างท่านอาจารย์ใหญ่มาแล้ว หรือผ่านการทำแลบมาแล้วมากมายก็ตาม แต่หลายคนก็ยังมองภาพตัวเองภายใต้คำนำหน้าชื่อว่านายแพทย์หรือแพทย์หญิงกันไม่ค่อยออก นักเรียนแพทย์หลายคนยังเกิดความครางแครงใจว่า อย่างกุ จะเป็นหมอได้จริงๆหรอ (รวมทั้งเราก็เกิดความคิดนี้ด้วย ฮ่าๆๆ) แต่ช้าก่อนท่านทั่งหลาย อย่าได้กังวลกับอนาคตของแพทย์ไทย… เพราะถ้าพี่รหัสไม่หลอกเรา ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อนักเรียนแพทย์เหล่านี้ขึ้นชั้น clinic ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาล พบกับผู้ป่วยจริงๆ เค้าเหล่านั้นก็จะรู้สึกถึงความเป็นหมอมากขึ้นๆเอง ..

ข้อมูลจาก i-aeez.exteen.com/20090615/10-pre-clinic

ขอบคุณรูปภาพ Facebook สมาคมนิยมนิสิต นักศึกษาแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

Credit: http://teen.mthai.com/variety/63267.html
20 ก.ย. 56 เวลา 08:29 3,393 1 160
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...