อียิปต์ได้จัดแสดงศิลปวัตถุที่กู้ได้จากก้นทะเล มีทั้งจารึกอักษรภาพและเทวรูปมากมาย บ่งบอกถึงอารยธรรมเมื่อ 1,200 ปีก่อน เผยความมั่งคั่งของเมืองท่าการค้าปากแม่น้ำไนล์
รูปปั้นฟาโรห์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นองค์ไหนในประวัติศาสตร์
วัตถุโบราณที่นำออกแสดงได้มาจากเมืองเฮราคลีออน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองท่าอเล็กซานเดรีย เรื่องราวของเฮราคลีออนปรากฏในบันทึกของเฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกแห่งศตวรรษที่ 5 ซึ่งบอกว่า เฮเลน หญิงผู้เลอโฉมที่สุดในโลก ได้ยกกองเรือนับพันไปยังเมืองนี้พร้อมกับปารีส คู่รักชาวเมืองโทรจัน
ฟรังก์ ก็อดดิโอ อธิบายจารึกซึ่งกู้ขึ้นจากเมืองใต้ทะเล เฮราคลีออน
เฮราคลีออนเป็นเพียงตำนานมาโดยตลอด จนกระทั่งนักโบราณคดีใต้สมุทรชาวฝรั่งเศส ฟรังก์ ก็อดดิโอ ได้พบศิลปวัตถุบางชิ้นระหว่างออกค้นหาเรือที่นโปเลียนใช้ในการสู้ศึกในสมรภูมิแม่น้ำไนล์ ซึ่งเขาได้พ่ายลอร์ดเนลสันของอังกฤษในน่านน้ำแถบนั้น
รูปปั้นเทพี ไอซิส
นับแต่พบวัตถุโบราณดังกล่าว ก็อดดิโอได้ร่วมกับศูนย์โบราณคดีทางทะเลของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กับกรมศิลปากรของอียิปต์ กู้ซากต่างๆขึ้นจากอ่าวอะบูกีร์ ห่างจากอเล็กซานเดรียไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 32 ก.ม.
รูปสลักหินแกรนิตสีแดงของเทพฮาปิ
สิ่งที่พบมีทั้งรูปปั้นขนาดใหญ่ของเทพีไอซิส, เทพฮาปิ และฟาโรห์ รวมทั้งรูปปั้นของเทพีและเทพเจ้าหลายองค์ อาทิ นายทวารบาลผู้เฝ้าประตูวิหารอามุนเกเร็บ ที่ซึ่งคลีโอพัตราได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นราชินี
เศียรรูปปั้นที่ถูกนำขึ้นมาจัดแสดง
แล้วยังมีโลงหินที่บรรจุมัมมี่ของสัตว์ที่ถูกบูชายัญแด่เทพอามุนเกเร็บ กับเครื่องรางของขลังรูปไอซิส, โอซิริส และฮอรัส ซึ่งพวกพ่อค้าได้รับเอาไปบูชาเป็นศาสนาของตน เพื่อคุ้มกันภัยในการเดินทางไกล
ชื่อเมืองเฮราคลีออน ตั้งชื่อตามวีรบุรุษชาวกรีก เฮอร์คิวลิส ผู้สังหารงูร้ายไฮดรา เรื่องราวความกล้าหาญเป็นที่ยกย่องในโลกยุคโบราณ หลายเมืองได้นำชื่อนี้ไปตั้งชื่อนครของตน
ที่ตั้งเมืองเฮราคลีออน ใกล้กับอเล็กซานเดรีย
ที่ซากเมืองซึ่งได้จมลงทะเลเมื่อราวศตวรรษที่ 6 หรือ 7 แห่งนี้ ยังพบเรือ 64 ลำ กับสมอเรืออีก 700 สมอ, เหรียญทองคำและตะกั่ว, ทองสำริด และตุ้มถ่วงหินจากนครเอเธนส์ ซึ่งใช้ในการชั่งน้ำหนักสินค้าและคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย
ไม่แต่เท่านั้น ยังพบเสาหินจารึกอักษรภาพ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาและการเมืองของอียิปต์ยุคโบราณได้ดีขึ้นอีกด้วย.