บริษัท จีดีเอส อาร์ชิเทคส์ ประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ อนุมัติแผนการสร้างหอคอยที่ใช้ไดโอดเปล่งแสงและกล้องเป็นส่วนประกอบ ที่จะทำให้อาคารมีความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเบื้องหลัง ที่ทำให้ดูเหมือนว่าล่องหน ภาพจำลองด้วยคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นหอคอยที่ค่อยๆ กลมกลืนไปกับท้องฟ้าและกลุ่มเมฆที่ปรากฏเป็นฉากหลัง
การก่อสร้างจะมีการติดตั้งกล้องไว้ในระดับความสูง 3 ระดับ บริเวณด้านทั้งหกของอาคาร เพื่อจับภาพแบบเรียล ไทม์ และจะมีการติดตั้งไดโอดเปล่งแสง 3 จุด แต่ละจุดจะประกอบด้วยจอแอลอีดี 500 แถว ที่จะเป็นตัวฉายภาพวิวที่ปรากฏเป็นฉากหลังของหอคอย
จีดีเอส อาร์ชิเทคส์ เรียกหอคอยกระจก ความสูง 450 เมตร ที่มีรูปร่างคล้ายปากกาหมึกซึมว่า "ทาวเวอร์ อินฟินิตี้" ขณะที่ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ "ซิตี้ ทาวเวอร์" ตามแผนมันจะเป็นอาคารหลักของโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเขตชองนาของเมืองอินชอน ห่างจากกรุงโซลไปทางตะวันตกราว 30 กม. และห่างจากสนามบินนานาชาติอินชอนเพียง 15 กม.
อย่างไรก็ตาม บริษัท โคเรีย แลนด์ แอนด์ เฮาส์ซิง คอร์ป ของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนโครงการ ปฏิเสธข่าวที่ว่าตึกหลังนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการสัญจรทางอากาศ นายคิม ฮี-แจ ผู้ดูแลด้านวางแผนสถาปัตยกรรมของโคเรีย แลนด์ แอนด์ เฮาส์ซิง กล่าวว่า การพรางตัวของอาคารจะเกิดขึ้นเฉพาะในเวลาใดเวลาหนึ่ง และเฉพาะบางมุมของตึกเท่านั้น ขณะที่แสงไฟอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่องออกมาจากอาคาร จะทำให้เกิดการล่องหนในวงจำกัด โดยเฉพาะในเวลากลางคืน และโครงสร้างกระจกก็มีลักษณะคล้ายอาคารกระจกทั่วไป
อย่างไรก็ตาม นายคิมกล่าวว่า เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ แต่หากได้รับการอนุมัติ เทคนิคการล่องหนดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมเท่านั้น และจะมีการเปิดไฟสัญญาณเตือนอากาศยานสีแดงตลอดเวลา เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุ
โครงการพัฒนานี้จะเน้นไปที่กิจกรรมเพื่อการพักผ่อนและสันทนาการเป็นหลัก โดยจะประกอบด้วยจุดชมวิว โรงภาพยนตร์ รถไฟเหาะ สวนน้ำ ร้านอาหาร รวมถึงอพาร์ทเมนต์ และเมื่อเสร็จสมบูรณ์มันจะเป็นหอคอยที่มีความสูงมากเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจาก หอคอยสกายทรี ในกรุงโตเกียว, หอคอยกวางโจว ทาวเวอร์, หอคอย ซีเอ็น ทาวเวอร์ ที่นครโตรอนโต, หอคอยออสตันคิโน ในกรุงมอสโก และหอคอยไข่มุกที่นครเซี่ยงไฮ้
นายคิมกล่าวว่า ยังคงไม่มีการกำหนดวันก่อสร้างและกำหนดวันเสร็จสิ้นโครงการ เนื่องจากยังคงต้องหารือกับนักลงทุนเอกชน