ก_หรี่ คืออะไรกันแน่??

 

 

 

 

 

มีการโพสรูป แล้วมีคอมเม้นประนามเปรียบเทียบถึง "ก_หรี่"กันบ่อย เลยไขข้อสงสัย ว่าเขาเป็นใคร

การค้าประเวณี (อังกฤษ: prostitution) คือ กระทำการใด ๆ เพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อน เพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด
หญิงค้าประเวณีนั้นเรียก นครโสเภณี (อังกฤษ: prostitute) แปลว่า "หญิงงามเมือง" (โสเภณี แปลว่า หญิงงาม) และมักตัดไปเรียกว่า "โสเภณี" เฉย ๆ ส่วนภาษาถิ่นอีสานเรียก "หญิงแม่จ้าง" และภาษาปากเรียก "ก_หรี่", "หญิงหากิน" หรือ "อีตัว" เป็นต้น
สำนักของเหล่านครโสเภณีเรียก โรงนครโสเภณี, โรงหญิงนครโสเภณี หรือ ซ่องโสเภณี (อังกฤษ: bawdy house, brothel, disorderly house, house of ill fame หรือ house of prostitution)

 

ความหมาย

หญิงนครโสเภณีนั้นเรียกสั้น ๆ ว่า หญิงโสเภณี หรือโสเภณี ซึ่งเดิมพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ฉบับ พ.ศ. 2493) ให้นิยามว่า "หญิงงามเมือง, หญิงคนชั่ว"

ภาคอีสานเรียกหญิงนครโสเภณีว่า "หญิงแม่จ้าง" คือ เป็นผู้หญิงที่รับจ้างกระทำชำเราสำส่อน โดยได้รับเงินหรือผลประโยชน์เป็นค่าจ้าง

นครโสเภณี

ที่มีชื่อว่า "นครโสเภณี" นั้น ราชบัณฑิตยสถานว่าเห็นจะเป็นเพราะว่า หญิงพวกนี้อาศัยเมืองหรือนครเป็นที่หาเลี้ยงชีพ หญิงโสเภณีตามชนบทนั้นไม่มี เพราะการเป็นโสเภณีนั้นเป็นที่รังเกียจของสังคม ผู้หญิงพวกนี้จึงอาศัยที่ชุมชนเป็นที่หากิน อีกประการหนึ่ง ในเมืองหรือนครนั้นมีผู้คนลูกค้ามากมาย เป็นการสะดวกแก่การค้าประเวณี

อนึ่ง ว่ากันตามรากศัพท์แล้ว ราชบัณฑิตยสถานว่า "นคร" แปลว่าเมือง "โสภิณี" แปลว่าหญิงงาม "นครโสภิณี" จึงแปลว่า หญิงงามประจำเมือง หรือหญิงผู้ทำเมืองให้งาม คำว่า "นครโสเภณี" ปัจจุบันมักเรียกสั้น ๆ ว่า "โสเภณี"

หญิงโสเภณีมักรวมกลุ่มกันในสถานค้าประเวณีที่เรียกกันว่า "ซ่องโสเภณี" ซึ่งในภาษาไทยตามกฎหมายเก่า (พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทรศก 127) ว่า "โรงหญิงนครโสเภณี" อย่างไรก็ดี หญิงโสเภณีอาจอยู่ตามโรงแรม สถานอาบอบนวด โรงน้ำชา ภัตตาคาร ร้านเสริมสวย หรือตามสถานบันเทิง หรืออาจอยู่บ้านส่วนตัวและรับจ้างร่วมประเวณีเฉพาะโอกาสก็ได้

หญิงงามเมือง

ที่แปลว่า "หญิงงามเมือง" นั้น คำนี้ความหมายเดิมหมายถึงเพียงนางบำเรอชั้นสูงประจำนครใหญ่ ๆ หรือนครหลวง มีหน้าที่ปรนนิบัติและบำเรอชายทั้งที่เป็นแขกเมืองและชาวเมืองให้เป็นที่ชอบใจโดยไม่ประสงค์จะมีลูกสืบสกุล เพราะหญิงประเภทนี้ถือว่าถ้ามีลูกแล้วตนก็ไม่เป็นที่ชอบใจของชายที่จะมาให้บำเรออีก นี้เป็นวัฒนธรรมโบราณของแถบเอเชียตะวันตก

มีตัวอย่างในสมัยพุทธกาลคือ นางสาลวดี มารดาของหมอชีวกโกมารภัจ นางเป็นนางบำเรอชั้นสูงประจำกรุงราชคฤห์ นครหลวงแคว้นมคธ (ปัจจุบันคือรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อบำเรอชายแล้วก็เกิดตั้งท้องขึ้นจึงอ้างว่าเจ็บป่วยเพื่อปิดความจริงและไม่ยอมพบใครทั้งสิ้นตลอดเวลาตั้งท้องนั้น เมื่อคลอดแล้วได้เอาเบาะหุ้มห่อทารกใส่กระด้งไปทิ้งในเวลากลางคืน เจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จไปพบและรับมาเลี้ยงจึงรอดตาย ทารกนั้นจึงได้ชื่อว่า "ชีวก" (/ชีวะกะ/) แปลว่า "ผู้มีชีวิต"

ก_หรี่ หมายถึง

คำว่า "ก_หรี่" เป็นคำตลาดหมายถึง หญิงโสเภณี ตัดทอนและเพี้ยนมาจากคำเต็มว่า "ช็อกกะรี" และคำ "ช็อกกะรี" นี้ก็เพี้ยนมาจาก "ชอกกาลี" ซึ่งมาจากคำ "โฉกกฬี" ในภาษาฮินดี แปลว่า เด็กผู้หญิง คู่กับ "โฉกกฬา" (छोकरा, Chōkarā) ที่แปลว่า เด็กผู้ชาย เป็นทอด ๆ

จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สันนิษฐานว่า ที่เรียกหญิงโสเภณีว่า "โฉกกฬี" อันแปลว่า เด็กผู้หญิงนั้น คงเป็นทำนองเดียวกับที่เรียกหญิงโสเภณีว่า "อีหนู"

คำ "ก_หรี่" ในความหมายว่า โสเภณี ยังไม่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับใด ๆ แต่ราชบัณฑิตยสถานบันทึกไว้ใน พจนานุกรมคำใหม่ ว่า "ก_หรี่ น. โสเภณี (เป็นคำไม่สุภาพ)." ส่วนคำ "ช็อกกะรี" ปรากฏใน พจนานุกรมคำใหม่ เช่นกัน ความว่า "ช็อกกะรี น. โสเภณี."

ประวัติ

ในสมัยดึกดำบรรพ์ หญิงโสเภณีไม่มีราคาหรือไม่ถือว่าต่ำช้า เพราะในสมัยนั้นไม่ถือธรรมเนียมหรือคุณค่าทางพรหมจารี การสมสู่เป็นไปโดยเสรีและสะดวก ยิ่งกว่านั้นยังปรากฏว่า ชาวสลาฟโบราณถือว่า หญิงดีมีค่านั้นจะต้องมีชายรักใคร่เสน่หาร่วมประเวณีมาก่อนสมรส ถ้าสามีตรวจพบว่าภริยาของตนมีพรหมจารีที่ยังไม่ถูกทำลายก็มักไม่พอใจ บางรายถึงขนาดขับไล่ไสส่งภริยาไปก็มี เนื่องจากอุดมคติในเรื่องพรหมจารีมีอยู่เช่นนี้ จึงทำให้ผู้หญิงบางหมู่แสวงหาเครื่องหมายจากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของชายคู่รักเพื่อเก็บไว้อวดชายที่มาเป็นสามี เมื่อเสรีภาพในการร่วมประเวณีมีอยู่เช่นนั้น หญิงโสเภณีในยุคแรกเริ่มเดิมทีก็นับว่าไม่มี

จากการศึกษาพบว่า หญิงโสเภณีมีกำเนิดมาจากพิธีการทางศาสนา ปฏิบัติกันอยู่ในเอเชียตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ คือหญิงสาวจะต้องกระทำพิธีสละพรหมจารีของตนเพื่อบูชาเทวีผู้ซึ่งมีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ของอินเดียได้แก่พิธีบูชาพระแม่กาลีซึ่งบางทีก็เรียก "ทุรคาบูชา" (ฮินดี:Durgapuja) พิธีเช่นว่านี้สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความรู้สึกฝังใจอยู่กับชายคนแรกที่เธอร่วมประเวณีด้วย การสละพรหมจารีดังกล่าวจึงกระทำเพื่อบูชาเทวีเบื้องบนเสีย และชายผู้ร่วมประเวณีด้วยนั้นก็มักจะเป็นแขกแปลกหน้าที่หญิงนั้นไม่รู้จัก โดยถือกันว่าชายแปลกถิ่นเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะนำโชคลาภมาสู่ตน

การสละพรหมจารีด้วยการร่วมประเวณีกับชายแปลกหน้านั้นบางแห่งก็มีสิ่งตอบแทน หญิงชาวบาบิโลนโบราณพากันมานั่งคอยชาวแปลกหน้าในวิหารเจ้าแม่อิชตาร์ (Ishtar) เพื่อเข้าสู่พิธีสละพรหมจารีกับชายแปลกหน้า ถ้าชายพึงใจในหญิงคนใดก็จะโยนเหรียญมาที่ตักของเธอ หญิงที่ได้รับเหรียญจะต้องลุกตามเขาไปทันทีเพื่อประกอบพิธี โดยไม่ว่าเงินที่ชายโยนให้นั้นจะมากน้อยเพียงไร เมื่อได้พลีพรหมจารีแล้วก็เป็นอันหมดหน้าที่ หญิงนั้นจะได้กลับไปบ้านเมืองและครองชีวิตอย่างมีเกียรติพร้อมกับตั้งหน้าคอยโชคลาภต่อไป หญิงที่รูปไม่งามอาจต้องนั่งรอชายแปลกหน้าเป็นเวลาหลายปี

ภาพล้อเลียนทางการเมืองแสดงสภาพโสเภณีในสังคมตะวันตกโบราณ ชื่อ "การขึ้นภาษีร้านค้าไม่ได้กระทบกระเทือนผู้ค้าปลีก" ("Retail traders not affected by the shop tax") ศิลปะตะวันตก พ.ศ. 2330

บางท้องที่ก็มีพิธีกรรมทางโสเภณีเพื่อการศาสนา เช่น นักบวชหญิงร่วมกันจัดพิธีกรรมต่าง ๆ ทางโสเภณีซึ่งถือว่าเป็นการพลีกายเพื่อศาสนา เงินที่ได้จากพิธีกรรมทางเพศดังกล่าวจะส่งเข้าบำรุงศาสนา บางแห่งหญิงสาวต้องไปวัดเพื่อขอให้นักบวชชายเบิกพรหมจารีให้ โดยถือว่านักบวชเป็นตัวแทนของพระเจ้า บางแห่งหญิงสาวอุทิศตนเป็นนางบำเรอประจำวัด เพื่อร้องรำทำเพลงบำเรอพวกนักบวชและพวกธุดงค์ที่มาสักการะเทพเจ้าในสำนักตน ทั้งหมดนี้เป็นจุดกำเนิดของหญิงโสเภณีในปัจจุบัน แต่โสเภณีทางศาสนาดังกล่าวมาแล้วกระทำในคลองจารีตประเพณีของศาสนา ไม่อื้ออึงหรืออุจาดนัก

ต่อมาเกิดมีธรรมเนียมใหม่คือ หญิงสาวหันมาเป็นโสเภณีเพื่อสะสมทุนทรัพย์สำหรับสมรส ชายที่สมสู่ไม่ต้องวางเงินบนแท่นบูชาแต่ให้ใส่ลงในเสื้อของหญิง ภายหลังหาเงินได้สองสามปีก็จะกลับบ้านเพื่อแต่งงาน และถือกันว่าหญิงที่ได้ผ่านการเป็นโสเภณีมาแล้วเป็นแบบอย่างของเมียและแม่ที่ดี การปฏิบัติของหญิงโสเภณีประเภทหลังนี้ บางคนก็กระทำไปโดยมิได้เกี่ยวข้องกับพิธีทางศาสนาเลย

ครั้นกาลเวลาล่วงมา อารยธรรมในทางวัตถุนิยมเพิ่มมากขึ้น การโสเภณีทางศาสนาค่อยเลือนลางจางไป โดยมีโสเภณีทางโลกเข้ามาแทนที่ โรงหญิงโสเภณีโรงแรกจึงถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเอเธนส์ โดยเป็นโรงหญิงโสเภณีสาธารณะ เก็บเงินรายได้บำรุงการกุศล ผู้จัดตั้งชื่อ "โซลอน" (Solon) เป็นนักกฎหมายและนักปฏิรูป วัตถุประสงค์ในการตั้งโรงหญิงโสเภณีดังกล่าวมีสองประการ คือ 1) เพื่อคุ้มครองอารักขาความบริสุทธิ์ให้แก่ครอบครัวของประชาชน มิให้มีการซ่องเสพชนิดลักลอบและมีชู้ และ 2) เพื่อหารายได้บำรุงการกุศลต่าง ๆ

จากนั้นโสเภณีก็ได้คลี่คลายขยายตัวเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นอยู่อย่างปัจจุบัน

 
Credit: http://men.postjung.com/706412.html
#ก #หรี่ #คืออะไรกันแน่??
hanachoi
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
15 ก.ย. 56 เวลา 18:16 20,659 9 190
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...