เทศกาลแปลกๆ ในโลกนี้มีมากมายจนเขียนกันไม่หมด แต่บทความนี้เราจะเอามาแต่เทศกาลที่เน้นการปาหรือโยนของแปลกๆ จากทั่วโลก ที่บางอันก็ดูน่าสนุกน่าไปเที่ยวชม แต่บางอันก็น่ากลัวเสียมากกว่าและถ้าให้ไปเล่นด้วยคงไม่เอา
ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่คือเทศกาลที่เต็มไปด้วยสีสันที่สุดในโลก เทศกาล Holi Festival อันโด่งดังของประเทศอินเดียที่เราคงเคยเห็นภาพกันมาบ้าง งานนี้เป็นเทศกาลที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและช่างภาพจากทั่วโลกให้ไปเข้าร่วมเล่นกันอย่างสนุกสนานและถ่ายภาพความประทับใจเก็บไว้
งานนี้จะมีขึ้นทุกๆ ปีในเดือนมีนาคม สีที่ใช้ปาใส่กันคือผงสีสันสดใสที่เรียกว่า Gulal ซึ่งจะถูกปาใส่ทุกๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของที่อยู่บริเวณในงาน ทำให้ทั้งเมืองกลายเป็นสีสันสดใส และสถานที่ๆ เป็นที่นิยมที่สุดในการไปเที่ยวเทศกาลนี้คือในหมู่บ้านรอบๆ รัฐอุตตร
ในวันก่อนงานเทศกาลจะมีการก่อกองไฟเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย และร้านค้าต่างๆ ก็จะกักตุนสี Gulal เอาไว้ขายในวันงาน เหตุที่ต้องใช้สีสันสดใสในเทศกาลนี้ก็เพื่อสื่อถึงความมีพลัง และความสุข สนุกสนาน
เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว ชาวเมือง Ibi ในอาลีคานเต้ ประเทศสเปน มีงานเทศกาลเพื่อเฉลิมฉลอง วันโกหก (April fool’s day) ด้วยการปาแป้งสู้กันในบริเวณศูนย์กลางเมือง เทศกาลนี้ชื่อว่า els enfarinats จากภาพถ่ายของผู้ที่ได้ไปเยี่ยมชม จะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในบริเวณงาน ไม่เว้นแม้แต่คน กลายเป็นสีขาวกันไปหมดจนแทบจะมองไม่เห็นสีอื่นเลย
งานนี้นอกจากการปาแป้งแข่งกันสนุกๆ แล้ว ใครที่แข่งปาแป้งและไข่กับคณะกรรมการเมืองชนะจะได้รับเกียรติให้ออกกฏหมายใหม่ที่จะใช้กันในเมืองเป็นเวลา 1 วัน และใครที่ฝ่าฝืนก็จะถูกปรับ ส่วนเงินที่ได้ก็จะนำไปเข้าการกุศลต่อไป
อีกหนึ่งเทศกาลโยนของแปลกๆ จากประเทศสเปน นี่เป็นหนึ่งในเทศกาลที่เป็นที่โต้เถียงกันมากที่สุด เพราะของที่เอามาโยนนั้นคือสัตว์เป็นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมันคงไม่ชอบใจนักที่จะถูกเอามาโยนแบบนี้ สัตว์ที่ว่านี้คือ แพะ ซึ่งถูกโยนลงมาจากหอระฆังสูง 50 ฟุต ลงมายังพื้นด้านล่างที่มีกลุ่มคนถือผ้าผืนใหญ่รอรับตัวมันอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นักต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์จะหัวเสียและเรียกร้องให้ยกเลิกงานเทศกาลนี้
ที่เมือง Manganeses de la Polvorosa ซาโมรา ประเทศสเปน จะมีการจัดงานเทศกาลนี้เพื่อเฉลิมฉลองให้กับแพะชื่อดังในประวัติศาสตร์เมือง เรื่องมีอยู่ว่า มีพระรูปหนึ่งซึ่งเลี้ยงแพะเอาไว้ ทุกๆ วันเขาจะพาแพะเดินไปตามที่ต่างๆ เพื่อเอานมของมันให้กับคนยากไร้ อย่างไรก็ตาม วันหนึ่ง แพงตัวนี้หนีขึ้นไปบนหอระฆัง เมื่อระฆังดังขึ้นมามันก็ตกใจมากจนวิ่งตกลงมาจากหอคอย แต่โชคดีที่ด้านล่างมีคนผ่านไปมาที่ถือผืนผ้าใบอยู่จึงรับมันเอาไว้ได้พอดี และแพะตัวนี้ก็รอดชีวิต แต่สำหรับแพะผู้โชคร้ายที่โดนเอามาโยนในงานเฉลิมฉลองนี้ส่วนมากไม่ได้โชคดีแบบแพะต้นเรื่องและตกลงมาตายเสียส่วนมาก ปัจจุบันนี้เทศกาลนี้ถูกแบนไปตั้งแต่ปี 2002 แล้ว แต่เชื่อว่ายังมีคนแอบทำกันอยู่ดี
ที่ Port Lincoln ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย มีการแข่งขันโยนทูน่าที่ชื่อ Tunarama ซึ่งเป็นงานกีฬาประจำปี โดยกฏกติกาก็ง่ายมากคือ ใครโยนทูน่าไปได้ไกลสุดเป็นผู้ชนะ
เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1962 จุดมุ่งหมายในตอนแรกก็เพื่อโปรโมตอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่กำลังก่อตัวขึ้นใน Port Lincoln แต่เมื่อเวลาผ่านไป งานนี้ก็กลายเป็นการแข่งขันที่จริงจังขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดมีการทำเว็บเป็นจริงเป็นจัง บันทึกสถิติผู้ชนะของแต่ละปีและความไกลที่สุดของแต่ละคนไว้ให้ดูแบบออนไลน์ ที่นี่ ส่วนผู้ชนะก็จะได้ตำแหน่งเป็น Banska Tuna Toss World Champion และคำรับประกันว่าตำแหน่งนี้เอาไปใช้สมัครงานที่ไหนก็มีแต่คนรับแน่นอน (ไม่รู้ว่าแค่ในหมู่อุตสาหกรรมทูน่าอย่างเดียวหรือเปล่านะ)
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ไม่ได้ใช้ปลาทูน่าจริงๆ ในการโยนกันแล้ว เพราะปลาจริงๆ หนึ่งตัวใช้โยนได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ อีกทั้งปลาที่ถูกโยนไปกระแทกพื้นไส้แตกกระจายทำให้เลอะเทอะ เก็บกวาดยาก และไม่น่าดูอีกต่างหาก เลยมีการทำปลาจำลองขึ้นมาแทนซึ่งรับประกันโดยผู้ทดสอบไว้แล้วว่า รูปร่าง ขนาด และน้ำหนัก เหมือนทูน่าจริงๆ ไม่ผิดเพี้ยน
การต่อสู้่ด้วยอาหารครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศอิตาลีจัดขึ้นทุกปีที่เมือง Ivrea อาวุธที่ให้ใช้ได้อย่างเดียวก็คือ ส้ม เท่านั้น และก็เหมือนกับเทศกาลทั้งหลายของประเทศอิตาลี ที่ตอนแรกอาจจะจัดขึ้นเพื่อความสนุกอย่างเดียวแต่สุดท้ายก็กลายเป็นการแข่งขันสุดดุเดือด
ผู้เข้าร่วมงานจะมากันเป็นทีมเพื่อต่อสู้กับฝั่งตรงข้าม และมีอยู่บ่อยครั้งที่งานเทศกาลนี้ก็กลายเป็นการไล่ล่าปาส้มใส่กลุ่มศัตรูเป้าหมายแทน ดังนั้นงานเทศกาลนี้จึงไม่ใช่แค่งานสนุกสนานแต่ออกจะเครียดไปหน่อย และไม่เหมาะกับคนที่ต้องการมาเที่ยวเทศกาลเพื่อพักผ่อนอย่างแน่นอน ส่วนใครที่อยากเข้าร่วมเทศกาลนี้ก็ต้องเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหน ผู้เข้าชมจะดูได้อย่างเดียวเท่านั้นไม่อนุญาตให้ปาส้มเข้าใส่ใคร และถ้าใครอยากดูเฉยๆ ไม่อยากเจ็บตัวก็ต้องใส่หมวกสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นแค่คนดูเท่านั้น (มักมีนักท่องเที่ยวผู้โชคร้ายที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่โผล่มาในงานนี้ด้วยและโดนถล่มด้วยส้มเพราะไม่รู้ว่าต้องใส่หมวกสีแดงถึงจะปลอดภัย)