เศษผมในแก้วน้ำ

 

 

 

เศษผมในแก้วน้ำ

 

 

น้ำใสในแก้วฉ่ำเย็น น่าดื่มกินเพียงใด

หากแม้นมีเพียงเส้นผมเส้นเดียว หย่อนลงไปปนอยู่ในน้ำในแก้วนั้น

น้ำที่ว่าใส เย็นฉ่ำ น่าดื่มกิน ก็หมดซึ่งคุณค่าไป

เป็นที่น่ารังเกียจ ไม่อาจดื่มกินลงไปได้

น้ำใสนี้ กลายเป็นน้ำที่ไม่น่าดูไม่น่าดื่ม

ก็ด้วยความน่ารังเกียจ ของสิ่งที่ปนเปื้อน ที่ใส่เข้าไป"

"ความดี" ก็เป็นดั่งนี้ ทำความดีทำไว้มากเพียงใดก็เหมือนดังเติมน้ำลงไปใส่น้ำลงไปในแก้ว ความดีเปรียบดังน้ำที่ใสสะอาด ฉ่ำเย็น น่าดื่ม น่ากิน แต่เมื่อใดที่ผิดพลาดพลั้งเผลอนำความชั่ว แม้เพียงครั้งเดียว ด้วยความไม่รู้ด้วยความไม่ตั้งใจหรือด้วยเหตุใดๆ ก็เปรียบเหมือนดั่งหย่อนเส้นผมลงไปในน้ำในแก้วนั้น ความดีที่สร้างที่ประจักษ์อยู่ก็จะทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของความดีนั้นมัวหมองลงไปด้วยความไม่ดี ด้วยความชั่วที่ตนกระทำ 

นี้เป็นการมอง...นี่เป็นการมองของคนในโลกมนุษย์ทั้งหลาย ชอบที่จะมอง"ความเลว"ของผู้อื่น แทนที่จะมองซึ่ง "ความใสสะอาด" อันเป็นเหมือนดั่ง "ความดี"ของผู้นั้น "น้ำในแก้วใสสะอาดแต่ไม่มีใครมอง กลับมัวแต่มองเส้นผมเส้นเดียวที่อยู่ในแก้วนั้น"นี่เป็นการมอง...นี่เป็นการมองที่เป็นของคนทั้งหลาย เป็นการมองของปุถุชนผู้ยังมีกิเลสอยู่ 

แต่หากเป็นผู้รู้ ผู้มีปัญญา ผู้เป็นบัณฑิต เขาจะไม่มองแบบนั้น เขาจะยังมองคุณค่าของแก้วน้ำที่มีน้ำใสอยู่แต่จะหยิบเส้นผมนั้นออกไป แก้วน้ำนั้นก็บรรจุน้ำใสเหมือนดั่งเดิม แม้อาจจะไม่น่าดื่มกินแต่ก็ยังดีที่ยังน่ามอง และสามารถให้ประโยชน์ กับสิ่งมีชีวิตอื่นนอกเหนือจากตน อาจเป็นต้นไม้ อาจเป็นสัตว์อื่น ที่จะยังคุณค่าให้กับสิ่งมีชีวิตนั้น น้ำก็ยังมีคุณค่าของน้ำ เส้นผมที่เป็นเศษเส้นผมก็ด้อยค่าตามลงไป 

"ผู้มีปัญญา" จึงต้อง รู้จักมอง รู้จักเลือกที่จะมอง รู้จักที่จะดำรงตน เพื่อให้รู้จักเห็น รู้จักคิด มองในส่วนที่ดี มองเห็นในส่วนที่ชอบ และหยิบสิ่งที่เป็นส่วนเสียของผู้อื่นให้ทิ้งไป การมองแบบนี้จะทำให้โลกสงบร่มเย็นเต็มไปด้วยความสุข ไม่เพ่งโทษ ไม่กล่าวร้าย ไม่นินทา ไม่ว่ากล่าวใดๆ อันนำมาซึ่งความทุกข์ให้กับตนและกับผู้อื่นจึงน่าสังเวชยิ่งกับผู้ที่ไม่รู้จักมอง "ผู้ที่ด้อยปัญญา" มัวแต่นินทา มัวแต่ว่ากล่าว มัวแต่กล่าวโทษ เพ่งโทษ ไม่หันกลับมามองตน 

เฉกเช่นเดียวกันหากแก้วน้ำนั้น...เป็นของตนเอง เส้นผมนั้น...เป็นของตนเอง กลับไม่น่ารังเกียจยังสามารถดื่มกิน ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มใจ

หากเป็นของตนทั้ง "ดี" และ "ชั่ว" กลับภูมิใจ.. ไม่อาจบอกใคร แต่หากเป็นของผู้อื่นแล้วไซร้กลับน่ารังเกียจ

ผู้มีปัญญา จึงต้องมองให้ลึกและมองให้เห็นว่า การมองตนกับการมองผู้อื่นสิ่งไหนสำคัญยิ่งกว่ากัน? จึงอยากบอกกล่าวและอยากเผยแพร่ให้บอกออกไปว่า 


"หากคิดจะมองสิ่งใด ความดี หรือ ความชั่ว ต้องกลับมองมาที่ตัวตนของตนเองเถิด"

เพราะเมื่อใดก็ตามที่รู้จักมองและสามารถพบเห็นความผิดความบกพร่องของตนได้ ก็เหมือนดั่งการหยิบจับเอาเส้นผมนั้นทิ้งไปจากแก้วน้ำ น้ำนั้นก็มีคุณค่ากับตนเองได้ตนก็ยังได้ประโยชน์จากน้ำนั้น เปรียบเหมือนดั่งตนก็ได้ประโยชน์จากความดีที่ตนกระทำ เพราะได้หยิบจับความชั่วหรือหลีกลี้หนีไกลจากความชั่วช้าให้หมดไปนั่นเอง 

เมื่อจิตของผู้ใดคิดได้แบบนี้ก็จะสามารถดำรงตนด้วยความสุข และสามารถขัดเกลากิเลสออกจากจิตของตน ก็จะทำให้จิตเปรียบเหมือนดั่งน้ำใสอยู่ในแก้วใสเย็นฉ่ำชื่นใจตลอดเวลา ยังประโยชน์ให้กับตนและยังประโยชน์ให้กับผู้อื่น ถือเป็นคุณค่าที่สุดแล้ว

"ความดี" อย่างไรก็คือ "ความดี"
ความดีของผู้อื่น กับ ความดีของตนเปรียบเทียบกันไม่ได้ ความดีของผู้อื่นกับความดีของตน.เปรียบเทียบกันไม่ได้ ความดีของผู้ใดก็ให้เปรียบเทียบภายในกับความดีของผู้นั้น ไม่ต้องเพ่งโทษไม่ต้องกังวลว่าดีของตนจะดีกว่าใครหรือจะด้อยกว่าใคร ไม่มีน้อยใจในความดี เพราะความดีอยู่ที่จิตใจ ความดีอยู่ที่จิตใจ ความดีอยู่ที่จิตใจ เมื่อรู้จักมองเห็น เมื่อรู้แจ่มชัดในคุณค่าของความดีของตนเองแล้ว ก็จะรู้จักคุณค่าอย่างชัดแจ้งในความดีของผู้อื่น ก็จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยความดีที่มีต่อกัน ความดีนี้แหละที่จะนำพาแต่ละคน แต่ละจิตให้ไปสู่สุคติภูมิ แม้ในโลกนี้ก็มีความสุขสงบเย็น แม้ในโลกหน้าก็ถึงซึ่งความสุขนั่นเอง 

หากสม่ำเสมอในการพิจารณา การดำรงชีวิตของแต่ละคนนั้นก็ไม่ต้องสนใจใยดีกับคำครหานินทาทั้งหลาย และเช่นเดียวกันก็ไม่หลงระเริงกับคำเยินยอของคนทั้งหลายที่รายล้อมอยู่ ก็ไม่ต้องทุกข์หนักกับการมอง การส่งจิตออกนอก จิตก็จะอยู่ภายในพิจารณาแต่จิตของตนว่าดีพร้อมมากน้อยเพียงใด จะสามารถดำรงชีวิตได้ ด้วยความสงบเย็น จะไม่ทุกข์ร้อน จะไม่ร้อนรน และจะทนได้กับทุกสภาวการณ์ นี่เป็น "นิสัยของผู้รู้ผู้มีปัญญา" 

ในการพิจารณานั้น จะต้องพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ให้ถ้วนถี่ว่า จิตของตนฝึกดีเพียงใด 
- เอื้อเฟื้อต่อตนก็เพื่อให้ความเอื้อเฟื้อของตนเองนั้นเผื่อแผ่จากตนออกไปสู่ผู้อื่นด้วยความเยือกเย็น 
- เมื่อรู้จักให้เกียรติตนก็รู้จักให้เกียรติผู้อื่น
- เมื่อรู้จักีสั่งสอนตักเตือนตน ก็รู้จักสั่งสอนตักเตือนผู้อื่นได้ 
- เมื่อให้ตนรู้จริงได้ก็ให้ผู้อื่นรู้จริงได้ เช่นเดียวกัน 

การพิจารณาเพื่อเข้าถึง กระแสแห่งพระนิพพาน
กระแสแห่งพระนิพพานเริ่มต้นด้วย... การรู้จักคิดการรู้จักมองเข้าไปข้างในจิตของตนก็จะเห็นทั้งกุศลและอกุศลภายในจิตตน ก็จะเห็นทั้งกุศลและอกุศลของจิตผู้อื่น เมื่อรู้จักตนดีแล้วก็จะรู้จักตัวตนของผู้อื่นเช่นเดียวกัน เมื่อรู้จักทั้งตนและรู้จักทั่วถึงตนแล้วก็จะรู้จักปล่อยวางตนเอง เป็นผู้ไม่ยึดถือ เป็นผู้สงบเย็น ไม่ปล่อยให้ทนทุกข์อยู่อีกนาน จะเป็นผู้ก้าวข้ามพ้นจากบ่วงมารอันเป็นวัฏฏสงสารนี้ได้ พื้นฐานแห่งจิตนำมาซึ่งปัญญา ปัญญาที่มีค่ายิ่งเป็นปัญญาอันเกิดจากธรรม ธรรมนำสู่ปัญญา ปัญญาเข้าถึงธรรม ธรรมอันเป็นของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมใดที่ผุดขึ้นจากภายในธรรมนั้นจะอยู่กับผู้นั้นตราบจนวันตาย และธรรมนั้นจะนำพาผุ้นั้นไปสู่จุดหมาย คือ "พระนิพพาน" 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

ที่มา ธรรมะจากสวนพุทธ 1

Credit: http://variety.teenee.com/index000.htm
12 ก.ย. 56 เวลา 18:18 5,693 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...