แต่เดิมเชื่อกันว่า กบ “การ์ดิเนอร์ส ฟร็อก” (Gardiner?s frog) ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Sooglossus gardineri” หูหนวก แต่ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences เปิดเผยว่า พวกมันใช้โพรงปาก เพื่อถ่ายทอดสัญญาณเสียงไปยังสมอง
การค้นพบยังช่วยไขปริศนาว่าเหตุใดกบจึงสามารถส่งเสียงร้องที่ดังและแหลมได้ เนื่องจากกบขนาดจิ๋วดังกล่าว ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าดงดิบของหมู่เกาะซีเชลล์ ในมหาสมุทรอินเดีย ไม่มีพื้นที่หูส่วนกลางแต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่าพวกมันไม่มีเยื่อแก้วหู จึงไม่สามารถส่งคลื่นเสียงจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบไปยังหูชั้นใน ผ่านเซลล์ประสาท ไปยังสมอง
นักวิทยาศาสตร์ได้บันทึกเสียงร้องของกบ และเล่นให้กบได้ฟัง เพื่อสังเกตพฤติกรรมของพวกมัน จัสติน เกอร์ลาช จากกองทุนคุ้มครองธรรมชาติซีเชลส์ และสมาชิกทีมวิจัย กล่าวว่า ผลการเล่นเทปทำให้พบว่าพวกมันสามารถได้ยินเสียงดังกล่าว และสามารถตอบโต้เสียงด้วยการหันหน้ามาทางต้นเสียง หรือกระทั่งการร้องตอบโต้
ส่วนการศึกษาเพื่อหาวิธีที่กบได้ยินเสียงนั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้เทคนิคคลื่นเอ็กซเรย์ความถี่สูง ที่ศูนย์วิจัยซินโครตรอนยุโรป ที่เมืองเกรโนเบลอ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อวิเคราะห์กายวิภาคของกบอย่างละเอียด เพื่อดูว่าอวัยวะส่วนใดที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณคลื่นเสียงผ่านเส้นประสาทไปยังสมอง
นักวิจัยได้จำลองการสั่นสะเทือนของศีรษะของกบ ที่ตอบสนองต่อคลื่นเสียงในระดับความถี่เดียวกันกับเสียงร้องของกบ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า ด้วยความถี่ในระดับดังกล่าว โพรงบริเวณปากของกบจะทำให้เกิดเสียงสะท้อนคล้ายกับกีตาร์
กบการ์ดิเนอร์ส ฟร็อก ยังมีวิวัฒนาการกระทั่งเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างโพรงปากและหูชั้นในมีความบางลงและมีจำนวนชั้นน้อยลง กระทั่งคลื่นเสียงสามารถส่งต่อไปยังของเหลวในหูชั้นใน และผ่านเซลล์ประสาทไปยังสมอง
กบการ์ดิเนอร์ส ฟร็อก มีถิ่นอาศัยเฉพาะในเกาะสองแห่งของหมู่เกาะซีเชลส์ในมหาสมุทรอินเดีย หลังจากที่เกาะแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่เมื่อกว่า 65 ล้านปีก่อน พวกมันเป็นหนึ่งในกบที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก สายพันธุ์การ์ดินเนอร์มีลำตัวยาวเพียง 11 มิลลิเมตรหรือ 0.4 นิ้ว หรือเล็กกว่าเล็บมือของมนุษย์
ปัจจุบันพวกมันกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่า การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ และการบุกรุกของสัตว์นอกถิ่น
ที่มา : ข่าวสด