หลุยส์ ซัตตัน แห่งมหาวิทยาลัยลีดส์ เมโทรโพลิแทน บอกว่า ซูชิซึ่งมีทั้งหน้าปลาดิบ ไข่ หรือผัก อาจมีคอเลสเตอรอล เกลือ พยาธิตัวกลม สารปรอท และแบคทีเรีย ฉะนั้นควรเลือกกินอย่างชาญฉลาด
คอเลสเตอรอล : ไข่ปลาค็อดที่แนมมากับซูชินั้น มีกรดไขมันโอเมกา-3 ซึ่งช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่ไข่ปลาก็มีคอเลสเตอรอลสูง จึงไม่ควรกินคราวละมาก ๆ หรือกินบ่อย ๆ หากเป็นคนที่มีคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว ส่วนผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่ควรกินซูชิเพราะมีกรดยูริกสูง ซึ่งจะทำให้อาการกำเริบ
เกลือ : แม้ซูชิมีเกลือน้อย แต่ถ้าจิ้มซอสถั่วเหลืองจนชุ่มก็จะเป็นการเพิ่มเกลือ ส่วนซอสที่ใส่มาในถุงพร้อมซูชินั้น มีเกลือ 1 กรัม คนเราไม่ควรได้รับเกลือเกินวันละ 6 กรัม ฉะนั้น คนที่มีความดันโลหิตสูงจึงควรหลีกเลี่ยงซอสถั่วเหลือง หรือคนที่แพทย์แนะนำให้กินอาหารที่มีเกลือน้อย
พยาธิตัวกลม : รายงานวิชาการสองชิ้น ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมของสมาคมศาสตร์ว่าด้วยกระเพาะอาหารและลำไส้อเมริกันเมื่อเร็ว ๆ นี้บอกว่าพบพยาธิตัวกลมในซูชิ เมื่อถูกย่อยในทางเดินอาหารของมนุษย์ ตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมจะเกาะเข้ากับเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ และท้องร่วง ดังนั้น ปลาดิบที่จะนำมาทำซูชิควรแช่แข็งที่อุณหภูมิลบ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้พยาธิตาย
สารปรอท : เมื่อปีที่แล้ว ผลวิจัยในวารสาร Biology Letters ในอังกฤษ เปิดเผยว่า ซูชิหน้าปลาทูน่าซึ่งมีขายตามร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐ มีสารปรอทสูงเกินระดับมาตรฐานด้านสาธารณสุข หากได้รับสารปรอทมากเกินไปจะส่งผลต่อระบบประสาท เช่น อัมพาตสมอง หูหนวก ตาบอด ดังนั้นหญิงมีครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงปลาบางชนิด เช่น เนื้อปลาทูน่าสด
แบคทีเรีย : แบคทีเรียที่พบบ่อยในซูชิเป็นชนิดสตาไฟโลค็อกคัส ออรีอุส ซึ่งเจอในข้าวมากกว่าในปลาดิบ หากข้าวปั้นถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง แบคทีเรียในข้าวจะแบ่งตัว และเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ
เช่นนั้นแล้ว การเลือกซื้อควรเลือกซูชิที่สดใหม่ กินหมดภายในเวลาที่กำหนด และเก็บแช่ในตู้เย็น เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ถามหา