โรคเบาหวาน
โรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งจะพบในผู้สูงอายุที่ครอบครัวมีการเกิดโรคนี้ อาการของโรคนี้จะเกิดอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลด จนเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วยโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคตา โรคไต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
โรคความดันโลหิตสูง
เป็นโรคเรื้อรัง โดยในปกติคนเราจะมีค่าความดันโลหิตอยู่ 2 ตัว คือความดันตัวบนอยู่ที่ไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท ความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท หากสูงกว่านั้นจะจัดอยู่ในภาวะความดันโลหิต ซึ่งเป็นโรคที่เกิดได้บ่อยในผู้สูงอายุ จะเกิดในขณะที่มีความเครียด ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง แต่บางครั้งจะมีอาการใจสั่น ปวดศีรษะ หน้ามืด ตาพร่า โรคนี้ตรวจพบได้ง่าย รักษาไม่ยาก แต่หากปล่อยไว้ จะทำให้เกิดโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ อาจถึงกับหัวใจล้มเหลว
โรคทางสมอง
เป็นโรคที่เกิดจากภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำไม่ได้ ทำให้มีอาการหลง ๆ ลืม ๆ โดยโรคทางสมองที่พบบ่อยคือ โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน มักพบในผู้สูงอายุซึ่งมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อาการเริ่มแรกมักจะลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น หาของใช้ไม่พบทั้งที่มีที่เก็บประจำ เป็นต้น ซึ่งวิธีป้องกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ของโรคนี้ คือ ควรพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อย ๆ และพยายามไม่คิดมาก ไม่เครียด
โรคหัวใจขาดเลือด
เกิดจากเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดอาการตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ กล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจนชั่วขณะ เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก อาการจะทุเลาเมื่อพัก และถ้าเส้นเลือดที่ตีบเกิดอุดตันอย่างเฉียบพลัน จะทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง อาจมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วนก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาลได้
โรคกระดูก
กระดูกของคนเราจะเริ่มเสื่อมและบางลงเมื่อเรามีอายุ 45 ปีขึ้นไป และผู้หญิงก็จะมีกระดูกที่เสื่อมและบางมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน สาเหตุเพราะเกลือแร่ซึ่งมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสถูกขับออกจากร่างกาย ซึ่งอาการที่สามารถรู้ได้ คือ ฟันผุ อาการปวดกระดูก ส่วนสูงลดลง หลังงุ้ม ขาโก่ง ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดการแตกหักของกระดูกในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะกระดูกส่วนแขนระหว่างข้อศอกจนถึงข้อมือ
วิธีดูแลการป้องกันการเกิดโรคในผู้สูงอายุ
1. ควบคุมอาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง รสหวาน รสเค็ม
2. ลด ละ เลิกสิ่งอบายมุข ได้แก่ บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
4. ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายประมาณสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่ให้อ้วนเกินไป
6. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด พักผ่อนอย่างเพียงพอ
7. สังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเกิดอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์
8. ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ทุก 6-12 เดือน