ค่า เอฟที ที่พูดถึงค่าไฟฟ้าคืออะไร

ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที คือ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้า ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของกิจการไฟฟ้า

คำว่า เอฟที Ft เดิมมาจาก Float time มีความหมายว่า การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันคือ Fuel Adjustment Charge (at the given time) หมายถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและชาติเพื่อนบ้าน

สูตรคำนวณค่าเอฟทีมีการปรับปรุงหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาวการณ์ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นๆ ที่ผ่านมาการปรับค่าเอฟทีดำเนินการโดยคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ 

ต่อมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยกเลิกคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ขณะที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและให้ความเห็นชอบค่าไฟฟ้าเอฟที

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2551 เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้แต่งตั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงการปรับค่าเอฟทีด้วย

ที่ประชุม กกพ. วันที่ 13 ก.ค. 2554 มีมติเห็นชอบ โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2554-2558 โดยให้ประกาศใช้อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ รวมถึงการคำนวณเอฟทีใหม่ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าในรอบเดือนก.ค. 2554 เป็นระยะเวลา 2 ปี และให้ทบทวนในปี 2556

กกพ.จะพิจารณาค่าเอฟที ปรับปรุงทุกๆ 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย., พ.ค.-ส.ค. และก.ย.-ธ.ค.) เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุน

ช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ (2556) ที่เกิดภาวะเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง กกพ.พิจารณาว่า ส่งผลดีทำให้ราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลง ประกอบกับทุกส่วนร่วมกันลดใช้ไฟฟ้าในวันที่ 5 เม.ย.นี้ จึงไม่จำเป็นต้องนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามาใช้ผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติที่หายไปจากการหยุดซ่อมแท่นผลิตก๊าซในพม่า ระหว่างวันที่ 5-14 เม.ย.2556 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดพ.ค.-สิ้นปีนี้ มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง 

กระบวนการพิจารณาค่าเอฟทีในแต่ละครั้ง จะเริ่มที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอต้นทุนค่าเอฟทีที่ประมาณการได้มากให้กกพ. ภายใน 3-5 วันทำการ

กกพ.จะวิเคราะห์จัดทำข้อเสนอ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะอนุกำกับอัตราค่าบริการ เพื่อพิจารณาข้อเสนอของกฟผ. จากนั้นจะสรุปข้อเสนอทั้งหมดเข้าที่ประชุมกกพ.ภายใน 3-5 วันทำการ


ปัจจัยคำนวณค่าเอฟทีในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1.ค่าเชื้อเพลิงฐาน

2.ประมาณการค่าเชื้อเพลิงโรงผลิตไฟฟ้าของกฟผ.

3.ประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

4.ประมาณการค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ

5.ต้นทุนเชื้อเพลิงที่เป็นค่าปรับ

6.ยอดสะสมเอฟทีที่ตรึงมาจากงวดก่อนหน้า

7.ประมาณการหน่วยขายปลีก 

8.ประมาณการหน่วยจำหน่าย


ข้อดีของค่าเอฟทีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

1.ทำให้ทราบค่าไฟฟ้าล่วงหน้า 4 เดือน

2.สะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริง

3.ในช่วงที่ค่าเชื้อเพลิงผันผวน ภาครัฐสามารถบริหารจัดการค่าเอฟทีไม่ให้ผันผวนตามค่าเชื้อเพลิงได้


ข้อเสีย หากค่าเอฟทีจริงต่ำกว่าค่าที่ประมาณการได้ ส่งผลให้กฟผ.เรียกเก็บเกินจริง อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วก็นำไปเฉลี่ยคืนในงวดต่อไปได้
 

Credit: http://variety.teenee.com/foodforbrain/55831.html
9 ก.ย. 56 เวลา 07:59 1,048 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...