สาระดีๆ! กับการเลี้ยงกระต่ายสวยงาม

 

 

 

 

 

 

     คนไทยเรานิยมเลี้ยงสัตว์กันมาช้านานแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินน่ารักจากธรรมชาติของตัวสัตว์ซึ่งช่วยทำให้จิตใจของเราอ่อนโยนขึ้น เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้เข้าใจเกี่ยวกับชีวิตสัตว์แต่ละชนิดไปด้วย แต่วิถีชีวิตของคนในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก มีการโยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้ามาหางานทำ และพักอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ กันมากขึ้น ซึ่งบ้านและที่ดินก็มีราคาแพงพื้นที่ใช้สอยจึงมีน้อยลง บางคนก็เลือกที่จะอาศัยอยู่บนตึกคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัดมากๆ แต่เราก็ยังอยากที่จะมีเลี้ยงสัตว์เป็นของตนเองไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาอยู่ดี กระต่ายสวยงามจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่คนรุ่นใหม่นิยมเลี้ยงไว้ในบ้าน ด้วยความน่ารักของกระต่ายที่มีขนสีสวยอ่อนนุ่มน่าสัมผัส ใช้พื้นที่เลี้ยงเพียงมุมหนึ่งของบ้าน กินหญ้าเป็นอาหารหลัก ไม่ดุร้าย ไม่ร้องส่งเสียง หาซื้อได้ตามร้านขายสัตว์เลี้ยงทั่วๆไป

 

         ข้อควรทราบก่อนเลี้ยงกระต่าย

      การเตรียมตัวและเตรียมใจก่อนตัดสินใจนำกระต่ายเข้าบ้าน ถ้าคุณคิดจะเลี้ยงกระต่ายกันจริงๆแล้วละก็ต้องถามตัวคุณเองก่อนนะว่าเตรียมตัวพร้อมแล้วหรือยัง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับกระต่ายที่คุณอาจจะยังไม่ทราบ

  • การเลี้ยงกระต่ายมีค่าใช้จ่ายพอสมควรครับ บางครั้งเราอาจนึกแต่เพียงว่ากระต่ายกินหญ้าเป็นอาหารคงหาเศษผักหรือเกี่ยวหญ้าได้ง่ายๆ แต่ความเป็นจริงยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายอย่างด้วยกัน เช่น กรงสำหรับเลี้ยงกระต่าย ที่ให้น้ำ ถ้วยใส่อาหาร ที่ใส่หญ้า อาหารสำเร็จอัดเม็ด และหญ้าแห้ง เป็นต้น

  • ผู้เลี้ยงควรมีความรักกระต่ายจริงๆ สามารถสละเวลาในการเลี้ยงดูกระต่าย ทำความสะอาดกรง และให้อาหารได้ทุกวัน รู้จักธรรมชาติของกระต่ายที่แต่ละวันจะถ่ายมูลเป็นจำนวนมาก และฉี่ด้วย

  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ไม่ควรเลี้ยงกระต่าย เพราะมีความเสี่ยงที่จะแพ้ขนกระต่าย มูลกระต่าย หรือ หญ้าที่ใช้เลี้ยงกระต่ายก็ได้

  • กระต่ายเป็นสัตว์ที่นอนพักผ่อนในเวลากลางวัน และออกหากินในยามค่ำคืน ฉะนั้นทุกๆคืนในขณะที่คุณนอนหลับจะมีเสียง กุก กิ๊ก ของกระต่ายบ้าง โดยเฉพาะกระต่ายพันธุ์พื้นเมือง แต่สำหรับพันธุ์ ND แล้วจะมีนิสัยเรียบร้อยกว่า

  • บ้านที่เลี้ยงไม่ควรมีสัตว์อื่นที่อาจจะทำอันตรายกระต่าย ได้แก่ สุนัข แมว เป็นต้น ยกเว้นกรณีที่เลี้ยงด้วยกันมาตั้งแต่เล็กๆ

  • ข้อสำคัญควรปรึกษาคนในครอบครัวก่อนเลี้ยง เพราะกระต่ายจะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวและมีชีวิตอยู่กับคุณไปอีกหลายปี

       เรื่องทั่วๆไปเกี่ยวกับกระต่าย

      กระต่ายเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ใน ORDER (ชั้น) LAGOMORPHA FAMILY (วงศ์) LEPORIDAE GENUS (สกุล) ORYCTOLAGUS SPECIES (ชนิด) CUNICULUS

  • กระต่ายมีใบหูไว้ทำอะไร? ปกติสัตว์ทั่วไปก็มีใบหูไว้ ช่วยให้การฟังเสียงชัดขึ้น คือให้เสียงมากระทบใบหูแล้วรวมเสียงพุ่งเข้าไปในรูหู กระต่ายเป็นสัตว์ในกลุ่ม ผู้ถูกล่า ต้องระแวดระวังภัยจากนักล่าตลอดเวลา ดังนั้น กระต่ายทั่วไปยกเว้นสายพันธุ์ Lop หูจะตั้ง ไว้ดักฟังเสียงอย่างที่ว่ามา แต่สำหรับกระต่าย....ใบหูจะมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง คือเป็นอวัยวะสำคัญในการระบายความร้อนออกจากร่างกาย โดยการส่งเลือดไปที่เส้นเลือดฝอยในใบหู เมื่อใบหูรับลมเย็น ก็จะเป็นการลดความร้อน เลือดที่เย็นลงก็จะวกกลับสู่ร่างกาย เลือดที่ร้อนกว่าก็จะหมุนวนเข้ามาแทน ร่างกายก็จะเย็นลง

  • หมาเห่าโฮ่งๆ แมวร้อง เหมียวๆ แล้วกระต่ายร้องอย่างไร? กระต่ายนี่เป็นสัตว์ที่เงียบกว่า เพราะแทบจะไม่เคยได้ยินเสียงกระต่ายเลย แต่ก็มิใช่ว่ากระต่ายจะส่งเสียงไม่ได้ เวลาเขาไม่พอใจ หรือโกรธ หรือประสงค์จะขู่ เขาจะกระทืบเท้าหลังกับพื้นดังกึง ๆๆๆ แล้วก็อาจทำเสียงออกจากลำคอประมาณว่า อุกๆๆๆๆ หรืออูดๆๆๆๆ แต่ก็ไม่ได้ดังมากอะไร แต่กระต่ายจะร้องเสียงเหมือนนกหวีด เสียงแหลมๆ เมื่อมันตกใจกลัว หรือเจ็บมากๆ โดยเฉพาะเวลาที่ถูกสักเบอร์หู

  • กระต่ายมีฟันกี่ซี่? มองเผิน ๆ จะเห็นว่ากระต่ายมีฟัน 4 ซี่ คือ บน 2 ซี่ ล่าง 2 ซี่ แต่ถ้า เค้ายังใจดีอ้าปากให้เอา Otoscope (ซึ่งปกติจะใช้ส่องดูอะไร ๆ ในรูหู) ส่องเข้าไปดูในปาก จะเห็นว่า ฟันบนที่เห็นแค่ 2 ซี่นั้น ด้านหลังฟันที่มองเห็นยังมีฟันอีกคู่หนึ่งซ่อนอยู่ แต่จะสั้นกว่าฟันหน้า จึงถูกฟันหน้าบังมิด คุณหมอเขาเรียกว่าฟันกราม เราก็งงนิ ว่ามันเป็นกรามแบบไหนถึงไปซ่อนอยู่ตรงนั้น ส่วนฟันล่าง ก็มีเท่าที่เห็นคือ 2 ซี่ รวมเป็นกี่ซี่ก็บวกกันเอาเองนะจ๊ะ

  • กระต่ายประกาศขอบเขตถิ่นดินแดนของตนด้วยวิธีการใด? บริเวณทวารหนักของกระต่าย จะมีต่อมผลิตกลิ่นเฉพาะตัวของเค้า อึและฉี่กระต่าย จึงมีกลิ่นเฉพาะตัวที่ใช้ประกาศเขตแดนได้ และอธิบายได้ว่า ทำไม๊.....ทำไม น้องกระต่ายของเราจึงมักสบัดฉี่ และอึกระจายไปทั่วห้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามมุมห้อง ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดน ต่อมกลิ่นเฉพาะตัว อีกต่อมหนึ่ง จะขับกลิ่นออกมาจากใต้คาง น้องกระต่ายจึงเที่ยวเอาคางไปถู ๆ ไถ ๆ กับสิ่งของต่าง ๆ อันนี้มิใช้การประกาศเขตแดนโดยตรง แต่เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของ ว่า "อันนี้ ของหนู" ๆๆๆ

       พันธุ์กระต่ายสวยงาม

     ในท้องตลาดมีกระต่ายให้เลือกซื้ออยู่เพียงไม่กี่พันธุ์เท่านั้น หากต้องการเลี้ยงพันธุ์แปลกๆ ก็ต้องลงทุนซื้อจากร้านสัตว์เลี้ยงที่นำเข้ากระต่ายหลากหลายสายพันธุ์มาจากต่างประเทศ สำหรับพันธุ์กระต่ายสวยงามที่นิยมเลี้ยงกัน และราคาไม่แพงมากนั้นมีดังนี้

   • พันธุ์พื้นเมือง มีอยู่ในเมืองไทยเรามาแต่ดังเดิม ลักษณะขนสั้น หูตั้ง มีหลายสีคละกันไปไม่แน่นอน น้ำหนักตัวโตเต็มวัยอยู่ระหว่าง 1.5 - 1.8 กก. เลี้ยงง่ายทนทานต่อสภาพอากาศของไทย ลูกกระต่ายหย่านมที่ขายในตลาดนัดราคา 80 - 150 บาท พ่อค้ามักจะหย่านมแม่มาก่อนกำหนดอายุเพียง 21 - 30 วันเท่านั้นกำลังน่ารักก็จริงแต่อายุยังน้อยเกินไปจะเลี้ยงยาก ระยะเวลาหย่านมลูกกระต่ายปกติอยู่ที่อายุ 40 - 45 วันจะปลอดภัยกว่า แต่ถ้าคุณซื้อมาแล้วก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ ด้วยการเลือกซื้ออาหารอัดเม็ดที่มีโปรตีนสูงมากกว่า 16% อย่าจับลูกกระต่ายบ่อยเกินไป และมีถั่วคาวาลเคดแห้ง หรือถั่วอัลฟัลฟ่าแห้งเสริมให้กินอย่างเพียงพอ

 

  • พันธุ์ ND (Netherland Dwarf) มีขนาดเล็กกว่าพันธุ์อื่นบางครั้งเรียกว่ากระต่ายแคระ ลักษณะหูสั้นตั้งตรง น้ำหนักตัวเมื่อโตเต็มวัย 0.8 - 1.0 กก. มีนิสัยร่าเริง เรียบร้อย ตามร้านขายกระต่ายพันธุ์แท้ (Premium Grade) ราคาตัวละ 800 บาทขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีลูกกระต่าย ND ผสม พื้นเมืองอายุ 30 วันจำหน่ายตัวละ 180 บาท ราคาถูกและเลี้ยงง่ายทนทานกว่าพันธุ์แท้

  • พันธุ์ Minirak หรือขนกำมะหยี่ มีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว ขนเป็นกำมะหยี่นุ่มมือ น้ำหนักตัวโตเต็มวัย 1.0 กก. ราคา 800 - 900 บาท

  • พันธุ์ฮอลแลนด์ลอป ลักษณะหูปลกกำลังเป็นที่นิยม มีนิสัยดี เรียบร้อย สีสวย ตัวใหญ่ ราคาขาย 1,000 บาทขึ้นไป แต่ก็มีลูกกระต่ายเกรด 2 ออกมาขายกันแล้วอายุประมาณ 45 วัน ราคาตัวละ 280 บาท

       กรงกระต่าย

     ขนาดของกรงขึ้นกับจำนวนกระต่าย ถ้าเป็นกรงเดี่ยวควรมีขนาดกว้าง 50 - 60 เชนติเมตร ยาว 60 - 90 เชนติเมตร สูง 45 - 60 เซนติเมตร ถ้าต้องการเลี้ยงกระต่ายหลายตัว อาจทำเป็นกรงตับและซ้อนกัน 2-3 ชั้น หรือถ้าจะขังหลายๆ ตัวรวมกัน กรงที่ใช้จะต้องใหญ่พอที่กระต่ายจะอยู่กันได้ไม่หนาแน่นเกินไป วัสดุที่ใช้ทำกรงอาจใช้ไม้ระแนง หรือลวดตาข่าย ที่มีช่องกว้างประมาณ 1/2 - 3/4 นิ้ว ถ้าเป็นกรงสำหรับแม่กระต่ายเลี้ยงลูก ลวดตาข่ายที่ใช้บุพื้น ควรมีช่องขนาด 1/2 นิ้ว เพื่อป้องกันขาของลูกกระต่ายติดในร่องของลวด ถ้าเลี้ยงกระต่ายไม่กี่ตัว อาจชื้อกรงสำเร็จรูปที่มีขายตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ทั่วไป แต่ต้องไม่ลืมว่ากรงที่ใช้จะต้อง มีขนาดใหญ่พอที่กระต่ายจะอยู่ได้อย่างสบาย และต้องแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน เนื่องจากฉี่ของกระต่ายมักจะพุงออกไปทางด้านข้าง บางทีทะลุออกไปนอกกรงไม่ลงไปในถาดที่เตรียมไว้กลิ่นฉี่ก็ฉุนด้วย ถ้าเลี้ยงกระต่ายไว้ภายในบ้านพัก กรงกระต่ายต้องมีขอบโลหะสูงประมาณ 10 เซนติเมตรกันฉี่ไว้ด้วย ทุกวันควรนำถาดรองมูลออกมาเทล้างน้ำทำความสะอาด เสร็จแล้วปูรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เสร็จแล้วจึงนำกลับไปใส่ไว้ที่กรงตามเดิม

     การทำความสะอาดโรงเรือนและกรงควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพี่อลดกลิ่นเหม็นที่เกิดจากมูลกระต่าย ส่วนภาชนะใส่น้ำและอาหารควรล้างทำความสะอาด อย่างน้อยสัปดาห์ ละ 1 ครั้ง

       อุปกรณ์ภายในกรง

     ที่ใส่อาหาร ภาชนะที่ดี คือถ้วยเซรามิกทรงกลม หรือถ้วยดินเผา ที่มีขอบสูงประมาณ 3 ซ.ม.ด้านบนมีที่กันอาหารหกหล่น ขนาดของถ้วยต้องไม่ใหญ่จนกระต่ายเอาก้นเข้าไปแหย่ได้ง่าย ๆ เพราะกระต่ายหลายตัว ชอบอึ และ ฉี่ ใส่ถ้วย ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรเล็กมาก เพราะน้ำหนักเบากระต่ายจะคาบเหวี่ยงได้ง่ายเกินไป ที่ใช้อยู่และรู้สึกพอดี คือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 ซ.ม.

     ที่ให้น้ำ มีผู้ทำขายหลายแบบด้วยกัน เป็นถ้วยดินเผาใส่น้ำราคาถูกใช้ง่าย แต่กระต่ายอาจถ่ายมูลหรือ ปัสสาวะลงในถ้วยทำให้สกปรกได้ต้องทำความสะอาดทุกวัน ขวดพลาสติกให้น้ำใช้สะดวกมีที่ยึดติดกับกรงทำด้วยขวดพลาสติกที่ฝาปิดมีท่อโลหะบริเวณปากมีลูกเหล็กไว้กันน้ำไหล วิธีใช้ให้นำขวดไปเติมน้ำจนเกือบเต็มขวดแล้วคว่ำขวดแขวนที่ข้างกรงกระต่ายให้ปลายท่อสูงระดับที่กระต่ายกินน้ำได้สะดวก ถ้าเลี้ยงกระต่ายรวมกันหลายๆตัว อาจใช้ที่ให้น้ำของไก่ก็ได้แต่ควรมีโลหะครอบไว้บริเวณขอบป้องกันกระต่ายแทะ น้ำสะอาด จำเป็นมากสำหรับกระต่าย ยิ่งกระต่ายที่กินหญ้าแห้ง และอาหารเม็ดซึ่ง "แห้ง" มากเมื่อเทียบกับอาหารในธรรมชาติ กระต่ายก็ยิ่งต้องการน้ำมากขึ้นไปอีก

         วิธีจับกระต่าย

     สำคัญมากนะครับถ้าจับกระต่ายไม่ถูกวิธีไม่คนจับก็กระต่ายอาจได้รับบาดเจ็บได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเลี้ยงกระต่ายมาก่อนต้องฝึกจับกระต่ายให้ถูกต้อง จุดที่บอบบางของกระต่ายคือหู และท้อง หูกระต่ายมีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยงจำนวนมากหากเราใช้มือหิ้วที่หูกระต่าย กระต่ายจะเจ็บและดิ้นมาก จนบางครั้งหูกระต่ายยืดจนเสียรูปทรงไปเลย ส่วนที่บริเวณท้องนั้นประกอบไปด้วยอวัยวะภายในหลายอย่างทั้งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระพุ่งลำไส้ ที่บอบบางบริเวณนี้ไม่มีโครงกระดูกมาป้องกัน ถ้าผู้จับเผลอไปจับที่ท้องเมื่อกระต่ายดิ้นก็บีบท้องโดยไม่ได้ตั้งใจอาจทำให้อวัยวะภายในบอบช้ำถึงตายได้ จุดที่จะทำอันตรายต่อผู้จับกระต่ายคือ เล็บที่ขาทั้งสี่ถ้าจับกระต่ายไม่ระวังก็จะถูกเล็บกระต่ายข่วนจนเป็นแผลได้ ฉะนั้นถ้าจับกระต่ายขึ้นมาไม่ถนัดกระต่ายจะดิ้นรุนแรงก็ให้ปล่อยกระต่ายลงไปที่พื้นก่อน แล้วค่อยจับขึ้นมาใหม่ให้ถนัดมือกระต่ายจะรู้สึกว่าปลอดภัยและไม่ดิ้นอีก

      กระต่ายเล็ก ถ้าเป็นกระต่ายแรกเกิดถึงอายุ 2 สัปดาห์ก็ไม่ควรจับหากจำเป็นต้องระวังกลิ่นตัวเราไปติดจนแม่กระต่ายไม่เลี้ยงลูก วิธีจับกระต่ายเล็กให้ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งคีบจับที่หนังบริเวณหลังส่วนต้นคอ หรือหนังบริเวณหลังส่วนเอว ดึงขึ้นมาต้องใช้ความรวดเร็วหากจับไว้นานเกินไปลูกกระต่ายจะดิ้นจนหลุดมือ ถ้าไม่ถนัดต้องจับใหม่

     กระต่ายขนาดกลาง อายุตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ให้ใช้มือข้างที่ถนัดทั้งนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางจับที่หนังบริเวณหลังส่วนต้นคอให้แน่น เมื่อยกตัวกระต่ายขึ้นมาได้แล้วให้เอามืออีกข้างหนึ่งเข้าไปประครองที่ก้นกระต่ายเพื่อรับน้ำหนักตัวไว้ กระต่ายจะรู้สึกสบายและไม่ดิ้น แต่กระต่ายขนาดนี้จะดิ้นเก่งมากให้ระวังเล็บจากขาหลังตะกุยขว่านขึ้นมาที่มือได้ อาจป้องกันด้วยการหงายท้องกระต่ายขึ้นแต่ถ้าไม่ถนัดก็ให้วางลงไปก่อนแล้วจับขึ้นมาใหม่ ควรปฏิบัติด้วยความรวดเร็ว

     กระต่ายขนาดใหญ่ อายุ 3 เดือนขึ้นไป หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 2.5 กิโลกรัม ให้ใช้มือข้างที่ถนัดทั้งนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางจับที่หนังบริเวณหลังส่วนต้นคอให้แน่น เมื่อยกตัวกระต่ายขึ้นมาได้แล้ว ให้ดึงเข้าหาลำตัวใช้แขนอีกข้างหนึ่งหนีบขากระต่ายไว้มือก็ประครองที่ก้นกระต่ายรับน้ำหนักไว้ กระต่ายจะรู้สึกสบายและไม่ดิ้น

       การดูเพศกระต่าย

     กระต่ายเล็กอายุ 3 สัปดาห์ถึง 6 สัปดาห์สามารถดูที่อวัยวะเพศได้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย แต่ต้องฝึกฝนหาความชำนาญเล็กน้อย เริ่มจากการใช้มือข้างที่ถนัดทั้งนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางจับที่หนังบริเวณหลังส่วนต้นคอให้แน่น เมื่อยกตัวกระต่ายขึ้นมาได้แล้วให้หงายตัวกระต่ายขึ้นมาจนเห็นอวัยวะเพศได้ถนัด ใช้นิ้วก้อย นิ้วนาง และนิ้วกลาง ของมืออีกข้างหนึ่งประครองก้นกระต่ายไว้ ใช้นิ้วชี้กดที่ปลายอวัยวะเพศด้านที่ติดกับก้นลงไป แล้วใช้นิ้วโป้งค่อยๆกดเบาๆที่อวัยวะเพศอีกด้านหนึ่งให้อวัยวะภายในปลิ้นขึ้นมา ถ้าเห็นเป็นท่อสูงขึ้นมาแสดงว่าเป็นเพศผู้ แต่ถ้าเห็นเป็นรอยผ่ายาวไปจนถึงก้นแสดงว่าเป็นเพศเมีย ถ้าไม่แน่นใจให้ดูซ้ำเมื่อลูกกระต่ายอายุมากขึ้น แต่ถ้ากระต่ายเพศผู้ที่อายุ 3 เดือนขึ้นไปจะเห็นไข่อันฑะยื่นออกมาชัดเจน

       อาหารกระต่าย

     กระต่ายใช้อะไรในการย่อยอาหาร? เมื่อกระต่ายเคี้ยวอาหารเสร็จอาหารจะถูกส่งผ่านหลอดอาหาร(Esophagus) ช่วงนี้อาหารจะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักนอกจากจะมีขนาดเล็กลง เมื่ออาหารลงไปที่กระเพาะ (Stomach) ที่นี่อาหารบางส่วนจะถูกย่อยด้วยน้ำย่อย แต่การย่อยอาหารแทบทั้งหมดไม่ได้ย่อยในกระเพาะนะ เมื่ออาหารส่งเข้าไปในลำไส้เล็ก (Small Intestine) จึงจะมีการดูซึมเอาโปรตีนและคาร์โบไฮเดรทไปใช้งาน อาหารส่วนที่เหลือส่งต่อไปที่กระพุ้งลำไส้ (Caecum) ในกระพุ้งลำไส้นี้เองที่อาหารส่วนที่ไม่ได้รับการย่อยทั้งหมดจะได้รับการย่อยซ้ำ ด้วยการทำงานของแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกับ Enzyme การที่กระต่ายต้องอาศัยแบคทีเรียในการย่อยอาหารนี้เอง กระต่ายจึงจะมีสุขภาพที่ดีถ้าภาวะของแบคทีเรียในกระพุ้งลำไส้ของเค้าสมดุลและสมบูรณ์ดี แต่ถ้าเราต้องให้ยาปฏิชีวนะรักษาอาการป่วยของกระต่าย ยาบางตัวอาจเข้าไปทำลายแบคทีเรียทั้งดีทั้งร้ายตายไป หลังฟื้นไข้กระต่ายจึงควรได้รับแบคทีเรียดี ๆ จากมูลกระต่ายด้วยกันคืนกลับเข้าไป

     อึกระต่ายมีกี่ชนิด? กากอาหารที่พ้นจากการย่อย จะถูกปั้นเป็นก้อนกลม ๆ โดยการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ (Colon) แล้วขับออกผ่านทวารหนัก (Rectum) ออกทางรูกัน (Anus) เป็นอึที่เราเห็นทั่วไป กระต่ายจะถ่ายออกมาวันละประมาณ 200 เม็ด มีประโยชน์ใช้เป็นปุ๋ยสำหรับต้นไม้ หรือนำไปตากแดดให้แห้งจะมีกลิ่นหอมของหญ้าเมื่อโรยในบ่อจะลอยน้ำใช้เลี้ยงปลากินพืชได้ดี อึอีกชนิดเป็นกากอาหารที่รวมกับแบคทีเรียชั้นดีใน Caecum จะถูกเคลือบด้วยเมือกก่อนจะส่งไปที่ทวารหนักแล้วขับออกมาในลักษณะ เม็ดจิ๋ว ๆ เกาะกันเป็นพวง คล้ายพวงองุ่นเล็ก ๆ เราจึงมักเรียกอึแบบนี้ว่า "อึพวงองุ่น" กระต่ายจะกินกลับเข้าไปเพื่อเพิ่ม หรือรักษาสมดุลของแบคทีเรียให้กับตัวเอง ว่ากันว่า มันจะก้มลงกินจากก้นของมันเลย และมักกินช่วงกลางคืน เราจึงไม่เห็นมันกินอึพวงองุ่นให้เห็นต่อหน้าต่อตาเท่าไหร่

     อาหารมีความสำคัญต่อการเลี้ยงกระต่ายและมีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าครึ่งหนึ่ง การที่จะเลี้ยงกระต่ายให้เติบโตเร็ว มีสุขภาพดี และให้ลูกที่แข็งแรงนั้น จะต้องเลี้ยงด้วยอาหารที่เหมาะสม และมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของกระต่าย อาหารที่ใช้เลี้ยงกระต่ายแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้

  1. หญ้า หรืออาหารหยาบ (Roughage) หมายถึงอาหารที่มีโภชนะย่อยได้ต่ำ มีเยื่อใยสูงสัตว์กินเข้าไปแล้วมีกากขับถ่ายออกมาเป็นของเสียมาก ส่วนใหญ่ได้มาจากลำต้น และใบของพืช ตระกูลหญ้า และพืชตระกูลถั่ว เช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าขน หญ้ากินนี ถั่วอัลฟัลฟ่า ถั่วคาวาลเคด เป็นต้น หรืออาจจะใช้ต้น พืชผักชนิดต่างๆ เช่น ผักบุ้ง ผักโขม ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลี แครอท ผักกาดหอม หัวผักกาด มันเทศ มันแกว ฯลฯ เลี้ยงกระต่ายก็ได้ อาหารหยาบประเภทใบพืช ผัก หญ้า ควรให้กินเต็มที่ กระต่ายชอบหญ้าสด ผักสด มากกว่าตากแห้ง แต่ถ้าไม่มีเวลาก็ควรมีหญ้าแห้งให้กินแทนทั้งนี้ต้องมีหญ้าให้กระต่ายกินทุกวัน เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานเป็นปกติ และการที่กระต่ายกินหญ้ายังเป็นการลับฟันที่ยื่นออกมาตามธรรมชาติไม่ให้ยาวเกินไปด้วย ให้กินหญ้าสดหรือหญ้าแห้งดี กรณีกระต่ายอายุยังไม่ถึง 3 เดือน แนะนำว่าไม่ควรให้กินของสด เช่น ผลไม้ หรือหญ้าขนสด เพราะบางครั้งของสดเหล่านี้มีสารเจือปนที่เป็นอันตรายอยู่ครับเสี่ยงมากที่จะทำให้กระต่ายท้องเสียได้ และของสดจะทำให้กระต่ายฉี่มีกลิ่นฉุนขึ้นด้วยครับ ควรให้เป็นหญ้าแห้ง และ อาหารเม็ดก็พอ

  2. อาหารอัดเม็ด หรืออาหารข้น (Concentrate) หมายถึงอาหารที่มีโภชนะย่อยได้สูง มีเยื่อใยต่ำ ย่อยง่าย อาจทำจากอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งหรือผสมกันหลายๆชนิดเพื่อให้ได้โปรตีน และพลังงานตามความต้องการของกระต่ายก็ได้ ผู้ขายนิยมอัดเป็นเม็ดหรือแท่งเล็กๆเพื่อไม่ให้กระต่ายเลือกกินหรือคุ้ยอาหารจนตกหล่นเสียหาย ผู้เลี้ยงกระต่ายควรมีอาหารชนิดนี้ไว้เสริมให้กระต่ายกินวันละ 30 – 50 กรัม เพราะหญ้าที่เราใช้เลี้ยงกระต่ายนั้นมีพลังงานไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย กระต่ายป่าตามธรรมชาติก็ยังต้องหาเมล็ดหญ้า หรือเมล็ดธัญพืชกิน เพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และเลี้ยงลูก ส่าหรับอาหารข้นควรเสริมให้กินในตอนบ่าย กระต่ายที่ไม่ได้เสริมด้วยอาหารข้น ควรมีแร่ธาตุประกอบด้วย เกลือ กระดูกป่น และเปลือกหอยบดอย่างละเท่า ๆ กัน ผสมให้เข้ากัน ตั้งให้กินตามชอบ อาหารป่นที่แห้งอาจผสมน้ำเล็กน้อยพอชื้น เพื่อสะดวกใน การกินและจะช่วยมิให้ร่วงหล่นเสียหาย ซึ่งเราแบ่งอาหารข้นออกเป็น 2 กลุ่มคือ

 ก. อาหารที่เป็นแหล่งพลังงาน คืออาหารที่มีแป้ง (คาร์โบไฮเดรต) หรือไขมันสูง ได้แก่ รำ ปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันเส้น และไขมัน จากพืชหรือสัตว์

 ข. อาหารที่เป็นแหล่งโปรตีน ได้แก่ นมผง ปลาป่น กากถั่วเหลือง และกากถั่วลิสง

  3. อาหารผสมสำเร็จรูป (Complete feed) เกิดจากการนำอาหารข้นและอาหารหยาบมารวมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม มีสภาพเป็นผงหรืออัดเป็นเม็ด นำมาใช้เลี้ยงกระต่ายได้สะดวก กระต่ายที่เลี้ยงด้วยอาหาร สำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวในปริมาณที่เพียงพอจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ในการเลี้ยงโดยทั่วไปนิยมเสริมหญ้าสด เพื่อลดต้นทุน และควรให้หญ้าหลังจากที่กระต่ายกินอาหารสำเร็จรูปในปริมาณมากพอสมควร เพื่อให้กระต่ายได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

       การให้อาหาร

     ควรให้วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น เช้าให้ช่วง 8.00 น. กระต่ายทั่วไปเน้นให้หญ้าแห้งเป็นหลัก ส่วนกระต่ายเลี้ยงลูกหรือกระต่ายรุ่น เพิ่มอาหารข้นอัดเม็ดให้ด้วย ช่วงเย็น 15.00 น. ให้ทั้งหญ้าแห้งและอาหารข้นอัดเม็ด ถ้ามีเวลาก็ควรเดินตรวจความเรียบร้อยในตอนหัวค่าอีกครั้งเนื่องจากกระต่ายจะกินอาหารได้มากในเวลากลางคืน หากพบเห็นว่า น้ำ หรืออาหารของแม่เลี้ยงลูกหมดจะได้เติมให้ได้กระต่ายจะได้ไม่แคระแกรน ปริมาณการให้ควรกะให้กระต่ายกินหมดพอดี เพราะอาหารที่เหลือคากรงไว้ส่วนมากกระต่ายจะลงไปอึไปฉี่ในชามข้าวเลย

   ในการให้อาหารกระต่ายขอให้แบ่งตามช่วงวัยของกระต่ายออกเป็นดังนี้

  1. กระต่ายวัยทารก (Infant/Baby) คือกระต่ายแรกเกิดจนถึงหย่านม (อายุ 1 เดือนครึ่ง) อาหารหลักของกระต่ายวัยทารก ช่วงแรกเกิดจนถึง 15-20 วัน คือนมแม่เพียงอย่างเดียว ช่วงที่กินแต่นมแม่นั้นเราไม่ควรเข้าไปยุ่งอะไร นอกจากกรณีแม่ตาย แม่ไม่เลี้ยงลูก หรือแม่มีลูกมากเกินไปจนบางตัวแย่งเขากินไม่ทัน หากมีแม่กระต่ายที่วันคลอดใกล้เคียงกันก็ให้นำไปฝากโดยนำรังคลอดออกมานำลูกฝากใส่ลงไป หากจำเป็นต้องป้อนนมเองก็ใช้นมแพะชนิด Sterilize หากพ้นจากนี้ไปกระต่ายน้อยจะเริ่มกินอาหารเม็ดได้

  2. กระต่ายวัยเด็ก (Kids) คือเริ่มจากหย่านมจนถึง 3 เดือน มีอาหารเม็ดหลากหลายชนิดที่ตั้งใจผลิตกันขึ้นมาเพื่อให้กระต่ายวัยนี้กิน ซึ่งเป็นวัยที่กำลังโตต้องการสารอาหารกลุ่มโปรตีน และแคลเซียมสูง เพื่อสร้างกล้ามเนื้อและโครงสร้าง กระต่ายวัยเด็กมีน้ำหนักตัวน้อยหากได้รับสารเคมีเพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้มาก อีกประการหนึ่งร่างกายกระต่ายน้อยยังไม่แข็งแรง และระบบการกำจัดสารพิษยังไม่ดีพอที่จะจัดการกับสิ่งแปลกปลอมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการกรองสารเคมีจากเลือดสู่สมองซึ่งจะพัฒนาเต็มที่เมื่อย่างเข้าอายุ 3 เดือน และนี่คือเหตุผลว่า ทำไมคุณหมอถึงไม่หยดยากำจัดพยาธิให้กระต่ายที่อายุไม่ถึง 3 เดือน สรุปได้ว่ากระต่ายเด็กควรให้อาหารเม็ดโปรตีนสูง ตามธรรมชาติกระต่ายจะเริ่มกินหญ้าแล้วจึงควรให้หญ้าแพงโกล่าแห้ง หรือต้นถั่วคาวาลเคดแห้ง หรือ Alfalfa ที่ผลิตมาอย่างสะอาด ให้กินเต็มที่แต่ไม่ควรให้เหลือ

  3. กระต่ายวัยรุ่น (Junior) คือช่วงหลัง 3 เดือน จนถึง 5 หรือ 6 เดือนแล้วแต่สายพันธุ์ กระต่ายวัยรุ่น กำลังมีพัฒนาการทางร่างกายที่ยังคงต้องการอาหารที่มีคุณค่าโปรตีนและแคลเซียมสูงอยู่ จึงยังคงให้กินอาหารสำหรับกระต่ายเด็กต่อไป ที่ต่างออกมาคือพออายุได้ 3 เดือน ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของน้องต่ายก็สมบูรณ์พอในขณะเดียวกัน น้ำหนักก็มากพอ สมควรที่จะเริ่มให้หญ้าสดกินได้แล้ว หญ้าสดที่หาได้ง่ายในบ้านเราและมีคุณค่าทางอาหารทีดีคือ หญ้าขน นี่เองตัดมาเฉพาะยอด มีใบ 3 – 4 ใบ ใน 1 ก้าน นำมาแช่ในน้ำยาล้างผัก ซึ่งก็เป็นตัวเดียวกันกับน้ำยาล้างขวดนม ซึ่งเป็นสารที่สกัดมาจากมะพร้าวและข้าวโพด แช่อยู่ 10 นาทีก็สะบัดน้ำทิ้ง เพื่อล้างฝุ่นผงและสิ่งแปลกปลอม ถัดจากนั้นก็ล้างด้วยน้ำเปล่า 1 ครั้งแล้วแช่ในน้ำที่ผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต อีก 10 นาที เพื่อขจัดสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตราย ล้างน้ำเปล่าอีก2-3รอบ สะบัดเบา ๆ แล้วผึ่งให้หมาดน้ำก่อนเสิร์ฟ การเริ่มให้หญ้าสด ควรเด็ดเฉพาะยอดแหลม ๆ พร้อมใบ อีก 1 ใบ ให้กินตัวละ 1 ก้านก่อน แม้ว่าน้องต่ายจะหม่ำกร้วม ๆๆ รวดเดียวหมดแล้วทำท่ากระดี๊กระด๊า ตะกายกรง ประมาณว่า เอาอีก ๆๆ ก็ขอความกรุณาอย่าใจอ่อนเด็ดขาด รอดูอาการว่า ถัดจากนั้น อึเขายังเป็นปกติดี ไม่เหลว และไม่มีสัญญาณอันตรายใด ๆ วันต่อมาค่อยให้ 2 ก้าน แล้วดูอาการ หรือค่อย ๆเพิ่ม แต่ไม่เกินวันละ 4 ก้าน จนครบ 1 สัปดาห์ ถ้าทุกอย่างเป็นปกติจะให้เท่าไหร่ก็เอาเลย วัย 3 เดือนครึ่ง คือหลังจากให้หญ้าขนมาราว ๆ 1-2 อาทิตย์ ก็ลองให้ผักเสริมในช่วงเช้า ๆ หรือค่ำ ๆ ให้คราวละชนิดก่อน เมื่อไม่มีสัญญาณอันตรายใด ๆ ก็จัดจานผักสลัดให้ได้เลย ให้กับน้องต่าย อาทิตย์ละ 3-4 วัน คือ ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ คะน้าฮ่องกง ผักกาดหอม แครอทหั่นชิ้นเล็ก ๆ ข้าวโพดหวาน (ดิบ) แกะเมล็ด (อย่าให้มากจะอ้วน) และแอปเปิ้ล (ระวังแกนและเมล็ดมีพิษจ้ะ) นาน ๆทีก็มี คึ่นช่าย กระเพรา ให้ตัวละ 1 ก้าน อาทิตย์ละ 1 ครั้ง ผักที่ต้องห้ามสำหรับกระต่ายคือ ผักบุ้ง เพราะมียาง-ระบบย่อยอาหารของกระต่ายอาจรวนได้ ถั่ว/กะหล่ำปลี ไม่ควรให้เพราะทำเกิดแก๊สในกระเพาะทำให้ท้องอืด และ กระถินเพราะมีสารพิษชื่อ Mimosine ทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ ขนร่วง และต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) สาร Mimosine นี้อาจลดลงได้ถ้าตากแดดหรืออบความร้อนในขบวนการผลิตอาหารสัตว์ระดับโรงงาน แต่สำหรับเรา ๆ เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไว้ก่อน จะปลอดภัยกว่า

  4. กระต่ายโตเต็มวัย (Adult /Senior) เป็นกระต่ายที่พ้นวัยรุ่นมาแล้ว เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่อกระต่ายเริ่มอายุได้เกือบ ๆ 6 เดือน พัฒนาการต่าง ๆ จะถึงจุดคงที่แล้ว ต้องเปลี่ยนอาหารเป็นอาหารสำหรับกระต่ายโต ซึ่งจะลดปริมาณโปรตีนลงและเน้น ไฟเบอร์มากขึ้น ควรผสมอาหารเม็ดสำหรับกระต่ายโต กับอาหารเม็ดเดิม แทรกเข้าไปวันละประมาณ 15 - 20 % จนครบ 1 สัปดาห์ กระต่ายก็จะชินกับอาหารใหม่ทั้งหมด การให้ถั่วคาวาลเคด หรือ Alfalfa ในช่วงวัยนี้ ควรลดลงเปลี่ยนเป็นหญ้าแพงโกล่าแห้งแทน การให้หญ้าสด และผัก ก็ให้เหมือนกระต่ายรุ่น คือให้หญ้าขนสด ตลอดวัน และเสริมผัก สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เริ่มคุมปริมาณอาหารเม็ดไว้ที่ 40-50 กรัมต่อวัน ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ถ้าเขากินจนหมดแล้วยังหิวอยู่ เขาจะกินหญ้าสดและหญ้าแห้งแทนเอง ถ้าให้อาหารเม็ดมากไปจะอ้วน ทำให้อ่อนแอ ผสมพันธุ์ติดยาก หญ้าแห้งจะช่วยให้ฟันหน้าของกระต่ายสบกันสนิท เนื่องจากต้องบดเข้าหากันในขณะเคี้ยวหญ้า ถ้ากระต่ายกินแต่อาหารเม็ดซึ่งขบปุ๊บแตกปั๊บ ฟันของกระต่ายจะไม่ได้บดเข้าหากันเหมือนเคี้ยวหญ้า อาจจะงอกยาวออกมาทำให้ฟันผิดรูปได้

  5. กระต่ายที่เริ่มตั้งท้อง และช่วงให้นมลูก เมื่อกระต่ายท้องจะต้องการสารอาหารมากสำหรับบำรุงตัวเองและลูกในท้อง ยังคงใช้อาหารสำหรับกระต่ายโต แต่กลับมาเสริมโปรตีนและแคลเซียมด้วยต้นถั่วคาวาลเคด หรือ Alfalfa ในขณะเดียวกัน ปริมาณอาหารเม็ดและหญ้า ต้องให้มากพอ หรืออาจจะให้ไม่จำกัดเลยก็ได้ ส่วนผักสด เพิ่มปริมาณข้าวโพดหวานดิบ จะช่วยให้แม่กระต่ายสร้างน้ำนมได้ดีขึ้น ให้อาหารแบบนี้กับกระต่ายหลังหย่านมลูกต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงดี แล้วจึงค่อยปรับอาหารให้เป็นอาหารของกระต่ายโตธรรมดา ต่อไป

  6. กระต่ายมีอายุ...อันนี้พูดยาก ว่าจะเริ่มที่อายุเท่าไหร่ เป็นว่าพ้นวัย (ที่ควรจะ) ผสมพันธุ์ก็แล้วกัน คือตกอยู่ในช่วง 4 ปีขึ้นไปสำหรับกระต่ายเพศเมีย ส่วนเพศผู้ก็อาจประมาณ 5 ปี กระต่ายเลี้ยงนี่มีอายุยืนนะครับ อาจจะประมาณ 10 ปีถึง 15 ปี พออายุมาก ๆ คือเกินกว่า 4-5 ปีแล้วนั้น แทบไม่มีกิจกรรมอะไรแล้ว เอามาปล่อยสนามหญ้าก็วิ่ง เปาะๆ แปะๆ 2-3 นาทีก็นอนเหยียด ตาปรือ เอามาอุ้มเล่นได้ง่าย ไม่ดิ้นไม่ตะกาย เพราะนอกจากจะคุ้นกับเราจนเป็นเพื่อนรักไว้ใจกันได้สนิทใจแล้ว ก็ยังไม่รู้จะซนไปหาอะไรอีกแล้วด้วย อาหารที่เหมาะกับกระต่ายวัยนี้ จึงน่าจะเป็นหญ้าต่าง ๆ เน้นแต่ไฟเบอร์เป็นหลัก ให้โปรตีนให้แคลเซียมมากไปก็เดือดร้อนไตที่ต้องขับออก ดังนั้นก็ให้อาหารเม็ดสำหรับกระต่ายโตบ้าง แต่ไม่ต้องมาก 30-40 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็พอแล้ว วางหญ้าแพงโกล่าแห้ง และหญ้าสด ให้เป็นหลัก วัยนี้ผอมนิดหน่อยดีกว่าอ้วนเกินครับ เขาจะได้นอนหนุนตักเราเล่นไปนาน ๆ อาหารที่สำคัญสุด ๆของกระต่ายวัยเกษียณ คือ อาหารใจครับ อุ้มเล่น ลูบหัวลูบตัวพูดคุยกับเขา อย่าละเลยทอดทิ้ง อย่าเห่อกระต่ายใหม่ ๆ จนลืมเขา นะครับ

       ความต้องการโภชนะของกระต่าย

  ระดับโภชนะที่กระต่ายต้องการนั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการได้แก่ พันธุ์ น้ำหนัก ระยะการเจริญเติบโต อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ความต้องการโภชนะ ของกระต่ายที่เลี้ยงแบบให้กินอาหารเต็มที่ ได้แสดงไว้ในตารางที่ 1

     ตารางที่ 1 ความต้องการโภชนะของกระต่าย

 

ประเภทโภชนะ                                                       ระยะ

 

                                                  เจริญเติบโต ดำรงชีพ ตั้งท้อง เลี้

Credit: http://board.postjung.com/704342.html
7 ก.ย. 56 เวลา 21:44 1,760 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...