ทําไม ดาราฮอลลีวู้ดอย่าง "แองเจลินา โจลี" จึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดเอาเต้านมทั้งสองข้างออก เพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
คำตอบคือ ปัจจุบัน ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นทุกปี
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า มีผู้ป่วยปีละ 13,000 คน เสียชีวิตปีละ 4,600 คน เฉลี่ยเสียชีวิต 12 คนต่อวัน
นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งตับ
โรคดังกล่าวส่วนใหญ่จะพบในหญิง อายุ 40-45 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มอุบัติการณ์ของโรค 20 ต่อแสนประชากร
ความเสี่ยงจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิง หรือฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากกินฮอร์โมนมากเกิน กินยาคุมกำเนิดตั้งแต่เด็ก มีประจำเดือนอายุน้อยกว่า 12 ปี และหมดก่อน 50 ปี ส่วนสาเหตุจากพันธุกรรมในคนไทยพบต่ำกว่าในประเทศตะวันตก
โดยทั่วไปการรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่ได้ผลดีที่สุดคือ การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า...ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวที่สุด
แต่นับจากนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าขึ้นสามารถผ่าตัดเนื้อร้ายออกได้โดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้ง ที่สำคัญผู้ป่วยยังไม่ต้องกังวลถึงผลข้างเคียงจากกระบวนการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีบ่อยครั้งอีกด้วย
เทคนิคการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ได้รับการยืนยันจาก "คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล" ซึ่งเพิ่งจะมีการแถลงข่าวถึงการพัฒนาเทคนิคการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ด้วยการผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม
"รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์" อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ ในฐานะผู้ริเริ่มการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ในศิริราช ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมเป็นที่นิยมมากขึ้น
หลักการคือ ผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก โดยเก็บผิวหนังบริเวณเต้านม หัวนม และลานนมไว้ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่สูญเสียเต้านม
แต่ปัญหาที่ผ่านมา จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า การผ่าตัดดังกล่าวจะทำให้อัตราการเกิดซ้ำของมะเร็งเต้านมสูงขึ้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการฉายรังสีรักษาภายนอกหลังการผ่าตัดเป็นจำนวน 25-30 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ติดต่อกัน
ซึ่งการรักษานี้ สร้างความลำบากให้ผู้ป่วย นอกจากเรื่องการเดินทางไปกลับโรงพยาบาลบ่อยๆ แล้ว โอกาสที่บางรายจะเกิดผลข้างเคียงก็มี และยังทำให้การบริการทางรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนานขึ้น
ผศ.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะแพทย์ศิริราชจึงได้มีการพัฒนาเทคนิคการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่เพื่อลดอุปสรรคต่างๆ ได้มีการอบรมพัฒนาเทคนิคต่างๆ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจากอิตาลีและอังกฤษ กระทั่ง รพ.ศิริราช สามารถพัฒนาเทคนิคการรักษารูปแบบเฉพาะของศิริราชขึ้น
"เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการรักษา ในปี 2555 ได้จัดประชุมวิชาการเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการฉายรังสีรักษาในห้องผ่าตัด คือ โปรเฟสเซอร์ R. Orrecchia และโปรเฟซเซอร์ Y .Petit จาก European Institute of Oncology ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมด้วยวิธีนี้ และมีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาแล้วมากกว่า 2,000 ราย ทำการประเมินและให้ข้อชี้แนะแก่ทีมแพทย์ศิริราช ทำให้มีการปรับปรุงคุณภาพ เทคนิคการผ่าตัด จนสามารถรักษาผู้ป่วยได้สำเร็จ" ผศ.นพ.สืบวงศ์กล่าว
รพ.ศิริราช เริ่มทำการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแนวใหม่ผสมกับการฉายรังสีในคราวเดียว ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ให้บริการผู้ป่วยแล้ว 50 ราย โดยทำการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนล (ตัดต่อมน้ำเหลืองบางส่วนแทนการตัดต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด) จากนั้นผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออก
ตามด้วยการฉายรังสีครั้งเดียวในห้องผ่าตัดด้วยการวางท่อนำรังสีโดยตรงในบริเวณที่ต้องการจะฉาย ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที หลังการผ่าตัดได้ติดตามผู้ป่วยเป็นเวลาหนึ่ง พบว่าได้ผลดีเยี่ยม มีอัตราการเกิดโรคซ้ำเพียงร้อยละ 2 หรือพบเพียง 1 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม การรักษาแนวนี้ช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเวลา ไม่ต้องฉายรังสีหลายครั้ง แถมยังลดงานบริการผู้ป่วยให้กับบุคลากรในโรงพยาบาลด้วย
อาจสงสัยว่าการฉายรังสีเพียงครั้งเดียว จะช่วยลดการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำได้อย่างไร เรื่องนี้ "นพ.กุลธร เทพมงคล" อาจารย์แพทย์ประจำสาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา ในฐานะผู้ฉายรังสีรักษา อธิบายว่า แต่เดิมการฉายรังสีสำหรับมะเร็งเต้านม เป็นการป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำ ซึ่งต้องมีการฉายรังสี 25-30 ครั้ง ประมาณ 5 สัปดาห์
แต่ปัญหาคือ 1.ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้ารับการฉายรังสีรักษาครบตามระยะเวลาที่กำหนด 2.มีการศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากหลายๆ ประเทศ พบว่า ผู้ป่วยส่วนหนึ่งกลับมาเป็นซ้ำเฉพาะบริเวณใกล้ก้อนมะเร็งเดิมเท่านั้น ดังนั้นจึงมีการพัฒนาฉายรังสีเฉพาะที่บริเวณก้อนมะเร็งเดิมเท่านั้น
"รูปแบบการรักษานี้ ทางรังสีมีหลายวิธี สำหรับการฉายแสงในห้องผ่าตัด ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งลดระยะเวลาการรักษาให้สั้นที่สุดและเร็วที่สุด ผลก็คือ เนื่องจากบริเวณฉายรังสีเล็กลง ผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น ปอด หัวใจ เนื้อเยื่อเต้านมบริเวณอื่นและผิวหนังจึงลดลงด้วย ทั้งนี้ จากการศึกษาด้านรังสีชีววิทยาเบื้องต้น พบว่า การฉายรังสีครั้งเดียวในบริเวณเล็กๆ ที่เต้านมไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง และต่อมามีการทดสอบทางคลินิกนอกเหนือจากในอิตาลี คือ ข้อมูลการศึกษาระยะที่ 3 แบบสุ่มจากหลายสถาบันในอังกฤษ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะสมตามเกณฑ์จะมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำที่ 4 ปี ประมาณร้อยละ 1 ซึ่งตัวเลขเท่ากันกับการฉายรังสีทั้งเต้านม" นพ.กุลธรกล่าว และว่า วิธีการรักษาแนวใหม่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการฉายรังสีดีขึ้น ผลการศึกษาในอังกฤษ คุณภาพชีวิตตามแบบวัดของยุโรป (EORTC) โดยวัดสุขภาพร่างกายทั่วไป ความรู้สึกเรื่องภาพลักษณ์ อาการต่างๆ ที่เต้านมและที่แขน พบว่ามีผลคุณภาพชีวิตที่ 3 ปี ดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการฉายแสงแบบเดิม
แต่สำหรับผู้ป่วยที่ รพ.ศิริราช ขณะนี้ยังเป็นการติดตามผลเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งพบว่าคุณภาพชีวิตมีแนวโน้มสูงพอๆ กับการศึกษาในต่างประเทศ และผู้ป่วยส่วนใหญ่พอใจกับการรักษาแนวนี้
การรักษาด้วยการฉายรังสีในห้องผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม แต่ต้องย้ำว่า...ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะทำการรักษาวิธีนี้ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่ที่การประเมินของคณะแพทย์ อาทิ ผู้ป่วยต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป เป็นมะเร็งขนาดก้อนน้อยกว่า 2 เซนติเมตร ไม่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง และมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง ส่วนค่ารักษากรณีการผ่าตัดนั้น ยังคงเป็นไปตามสิทธิผู้ป่วย แต่การฉายรังสีซึ่งไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ เบื้องต้นอยู่ที่ 38,000 บาท
แต่ล่าสุดทีมแพทย์ศิริราช ได้ทำหนังสือไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อขอบรรจุกรณีฉายรังสีไว้ในสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการแล้ว
งานนี้หากทำได้ ก็หวังว่าสิทธิประกันสังคม และ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ควรต้องได้อย่างเท่าเทียมด้วยเช่นกัน...