ไขมัน… เป็นเรื่องที่หลายคนหวาดกลัว อาจเป็นเพราะ ว่าไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงของไขมันนั่นเอง ดังนั้นวันนี้เราจะพามาทำความรู้จักเจ้าไขมัน เจ้าปัญหาของสาวๆ หลายๆคน ให้ได้รู้กัน ว่าไขมันแบบไหนที่เราควรหลีกเลี่ยง และไขมันแบบไหนที่เป็นมิตรกับเรา
ไขมันจัดเป็นอาหารหลัก 5 หมู่ที่ให้พลังงาน และสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายของเรา ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงานได้ 9 แคลอรี่ ดังนั้นใน1วัน ร่างกายของเราควรได้รับไขมัน ไม่น้อยกว่า 20 – 40 % ของแคลอรี ประจำวัน หรือ 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมนั่นเอง และไขมันในร่างกายของเรานั้น ยังแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ ดังนี้
1. โคเลสเตอรอล เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อสมองและระบบประสาท ใช้สร้างกรดน้ำดี และยังเป็นวัตถุดิบในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศ รวมถึงเป็นส่วนประกอบในโมเลกุลของวิตามินอีกด้วย ร่างกายของคนเรานั้น สามารถสร้างโคเลสเตอรอลได้เองจากตับ และยังได้รับจากอาหารที่มาจากสัตว์ที่เรารับประทานเข้าไป แต่โคเลสเตอรอลนั้น ก็มีทั้งที่เป็นโคเลสเตอรอลดี และ ไม่ดี
2. ฟอสโฟไลปิด เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายใช้เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์ผนังหลอดเลือด เป็นต้น และยังเป็นสารลดความตึงผิวที่อยู่ภายในถุงลมของปอด ถ้าขาดสารนี้ไปถุงลมปอดก็ไม่อาจพองตัวเมื่อเราสูดหายใจเข้าไปได้ ฟอสฟอไลปิดจึงเป็นสารที่ร่างกายต้องใช้ในขณะที่ร่ายกายทำงานตามสรีรภาพ
3. ไตรกลีเซอไรด์ ไขมันส่วนใหญ่ที่เรากินเข้าไปคือ ไตรกลีเซอไรด์ ที่ประกอบด้วยไตรกลีเซอรอล กับ กรดไขมันอีก 3 โมเลกุล มีประโยชน์คือ ช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย และยังเป็นตัวทำละลายสำหรับวิตามินกลุ่มที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ, ดี, อี, เค
ไขมันมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ กรดไขมัน (Fatty Acid) โดยกรดไขมันนี้ประกอบไปด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน เรียงจับกันในลักษณะต่างๆ ตามโครงสร้างทางเคมี เราจึงแบ่งประเภทของกรดไขมัน ได้ดังนี้
1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acid) คือ กรดไขมันที่มีโครงสร้างธาตุคาร์บอนเรียงต่อกันด้วยพันธะเดี่ยว โดยที่แขนของคาร์บอนแต่ละตัวจะจับกันครบกับไฮโดรเจน จึงไม่เหลือแขนว่างอยู่เลย ร่างกายสามารถสร้างกรดไขมันชนิดนี้ได้เอง และยังพบมากในอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันพาลมิติก (Palmitic) สูง เป็นต้น หากร่างกายได้รับกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากเกินจำเป็น และไม่ถูกย่อยไปใช้เป็นพลังงาน กรดไขมันชนิดนี้จะตกตะกอนในหลอดเลือด ส่งผลให้ไขมันในเลือดสูง และนำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง หัวใจและสมองขาดเลือดได้
2. กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid) คือ กรดไขมันที่เมื่อธาตุคาร์บอนเรียงตัวกันแล้ว เกิดมีบางตำแหน่งที่จับกับไฮโดรเจนไม่เต็มกำลัง ทำให้มีแขนคู่ให้จับกับไฮโดรเจนเพิ่มได้อีกในบางตำแหน่ง การบริโภคกรดไขมันชนิดนี้จะช่วยลดระดับ LDL Cholesterol หรือโคเลสเตอรอลตัวร้ายในเลือด กรดไขมันไม่อิ่มตัวยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
2.1 กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated Fatty Acid-MUFA) ได้แก่ กรดโอเลอิค (Oleic Acid) เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายสร้างเองได้
2.2 กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated Fatty Acid-PUFA) ประกอบด้วยกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ คือกรดไลโนเลอิค และอัลฟาไลโนเลอิค ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการลดระดับ LDL Cholesterol และ ไตรกลีเซอไรด์ และเพิ่มระดับ HDL Cholesterol ที่เป็นโคเลสเตอรอลดีในเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
สรุปง่ายๆ นั่นก็คือ กรดไขมันอิ่มตัวนั้น คือ กรดไขมันตัวร้าย ที่เราควรหลีกเลี่ยง และควรหันมาบริโภค กรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว ที่เป็นกรดไขมันดี แทน เพราะเต็มไปด้วยกรดไขมันที่จำเป็น และ เป็นมิตรกับร่างกายของเรา
แล้วกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หาได้จากที่ไหน คำตอบง่ายๆ ใกล้ตัวเราก็คือ น้ำมันถั่วเหลือง หรือ น้ำมันพืช ที่เราใช้ประกอบอาหารกันอยู่ทุกวัน นั่นเอง
วิธีง่ายๆ ที่เราจะเลือกน้ำมันถั่วเหลือง 100% โดยสังเกตว่าน้ำมันควรมีสีเหลืองพอประมาณ มีความใสปราศจากตะกอน ปราศจากกลิ่นหืน ดังนั้นจึงควรเลือกใช้น้ำมันถั่วเหลืองที่กลั่นด้วยระบบไอน้ำแรงดันสูง เพราะมั่นใจได้ในความสะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารพิษปนเปื้อน