"เด่น โต๊ะมีนา" สะท้อนวงเจรจา"รบ.-บีอาร์เอ็น"

 

นายเด่น โต๊ะมีนา แกนนำกลุ่มวาดะห์ ในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงการพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อศึกษาข้อเสนอ 5 ข้อ บีอาร์เอ็นเพื่อนำไปพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นในครั้งต่อไป

- ทำไมบีอาร์เอ็นจึงยื่นข้อเสนอผ่านยูทูบแทนที่จะยื่นบนโต๊ะเจรจา

เขาต้องการคนกลาง ต้องการคนนั่งเป็นพยาน เพราะว่าถ้าพูดบนโต๊ะเจรจาคนอื่นไม่รู้ เลยต้องเสนอผ่านทางยูทูบ ให้คนรู้ว่าเขาต้องการตรงนี้ แล้วค่อยวกเข้ามาบนโต๊ะเจรจา ต่อจากนั้นก็ฟังเสียงประชาชนว่าสนับหนุนหรือไม่

- การตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษา 5 ข้อเสนอบีอาร์เอ็น 

ผมคิดว่าข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ที่นายนัจมุดดีน อูมา สมาชิกกลุ่มวาดะห์ เสนอให้ตั้งคณะทำงานถูกต้องแล้ว เพราะว่าคิดคนเดียวก็อาจจะผิดเจตนารมณ์ของเขาว่าต้องการอะไร และให้บีอาร์เอ็นชี้แจงมาเป็นข้อๆ อีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะให้ได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องของเรา เขามีหน้าที่ขอ เรามีหน้าที่พิจารณาว่าจะให้หรือไม่ให้อยู่ที่เรา

- ข้อที่ว่าต้องการให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง และยกเลิกหมายจับของนักสู้ปาตานี

การปล่อยผู้ต้องหา ก็ต้องดูว่าถ้าจับมาแล้วมีหลักฐานก็คงปล่อยง่ายๆ ไม่ได้ เว้นแต่ว่าศาลยกฟ้องคดีแล้วแต่โดนตามฆ่าภายหลัง เรียกว่ากองกำลังไม่ทราบฝ่ายเป็นคนฆ่า จนเกิดความระแวงสังสัยจากชาวบ้านว่าอาจจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร

- การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้เป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนของนักสู้เพื่อสันติภาพปาตานี นำโดยบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย

ข้อนี้คิดว่าประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือ แสดงว่าขณะนี้การพบปะระหว่างฝ่ายบีอาร์เอ็นกับฝ่ายรัฐไทยในฐานะอะไร ทางไทยก็พยายามพูดว่าอยู่ในสถานะขั้นการพูดคุยกันเท่านั้น ไม่ใช่การเจรจา ในขณะเดียวกันฝ่ายบีอาร์เอ็นรู้สึกว่าโดนบีบให้ต้องเจรจา ในฐานะที่มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

- การเจรจาแบบลับกับแบบเปิดเผยในแง่ผลสะท้อนกลับมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ผมว่าการเจรจาเปิดเผยก็ยังเป็นแบบที่คณะเจรจาฝ่ายไทยกับคณะเจรจาฝ่ายบีอาร์เอ็นพูดคุยกันอยู่ในขณะนี้ เพราะขนาดโรงแรมที่มีการพบปะกัน มาเลเซียก็ยังไม่เปิดเผยเลย และสื่อมวลชนก็ไม่สามารถเข้าไปได้ ก็ถือว่าเป็นการคุยแบบลับๆ เช่นกัน เพราะถ้ามีการเจรจาแบบเปิดเผยก็จะมีการวิเคราะห์กันใหญ่ เพราะฉะนั้นเจรจาแบบลับๆ แบบนี้ดีแล้ว เพราะเราต้องการผล ไม่ได้ต้องการอะไร

ในเมื่อฝ่ายบีอาร์เอ็นเขาถือว่าการที่เขาพูดคุยเป็นการเจรจาแล้ว แต่ฝ่ายไทยบอกว่ายังไม่ถึงขึ้นการเจรจา เป็นการพูดคุย ทำความรู้จักคุ้นเคยกันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเขามองว่าเจอผู้มีอำนาจฝ่ายไทยแบบลับๆ จะมีผลตรงไหน เพราะสามารถบิดเบี้ยวก็ได้ บิดเบือนก็ได้ ดังนั้น จึงมีการเสนอข้อตกลงที่ให้มาเลเซียเป็นคนกลาง เพราะเขาถือว่าถ้าไม่มีคนกลาง คงสำเร็จยาก เพราะหลังจากต่างฝ่ายต่างออกจากห้องประชุมแล้ว คนนี้ก็พูดอย่างนี้ คนนั้นก็พูดอย่างนี้ แต่ความจริงบนโต๊ะมีการพูดอย่างไรกันไม่มีใครรู้จึงน่าจะเอาคนกลางมา 

- ความแตกต่างระหว่างผู้อำนวยความสะดวกกับคนกลาง

ผิดกันนะ ผู้อำนวยความสะดวกเหมือนเจ้าของบ้านที่คอยจัดน้ำจัดท่าให้เท่านั้นเอง เขาคุยอะไรก็ไม่รู้ นั่งฟังอยู่ด้วยแต่จะเกี่ยวข้องอะไรก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นคนไกล่เกลี่ยก็จะสามารถติงตรงนี้นิด ติงตรงนี้หน่อยได้ เพื่อให้เข้ากัน สามารถคุมทั้ง 2 ฝ่ายได้ เพื่ออะลุ้มอล่วยกัน ให้หนักเป็นเบา น่าจะดีกว่า ผลออกมาจะดีกว่า ความหมายของทั้ง 2 คำมันต่างกัน เพราะฉะนั้นจึงเห็นด้วยว่าให้รัฐบาลมาเลเซียในฐานะคนกลางคอยไกล่เกลี่ย 

- ถึงแม้ว่าจะรับข้อเสนอแต่เมื่อการกดขี่ข่มแหงกันยังมีอยู่ การเจรจาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

รับแล้วต้องอย่าไปกดขี่ข่มเหงคนในพื้นที่อีก ถึงแม้ข้อเสนอนี้จะไม่มี จะรับหรือไม่รับข้อเสนอ แต่พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐก็ควรปรับปรุง

- ประชาชนในพื้นที่ต้องการปกครองตนเองหรือไม่

ขั้นแรกต้องมีการเปิดโอกาสให้มีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน ซึ่งเวลานี้หลายฝ่ายเห็นด้วยเยอะแล้ว แต่ไม่ได้หมายถึงการแบ่งแยกดินแดน เพราะกรุงเทพฯ พัทยา ก็สามารถทำได้ แต่ทำไมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงทำไม่ได้ แม้กระทั่ง จ.เชียงใหม่ ก็มีการร่างกฎหมายไว้เรียบร้อยแล้ว เตรียมที่จะเลือกผู้ว่าฯกันเองแล้ว

- แนะนำคณะเจรจาที่จะไปพูดคุยในครั้งต่อไปกับคณะเจรจาบีอาร์เอ็น

ผมว่ามันคนละเรื่องกับที่ผมพูดถึง เรื่องการเจรจาก็พูดคุยกันต่อไประหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นก็แล้วแต่ เพราะเรื่องที่พูดถึงคือ ทำอย่างไรให้โลกมุสลิมทั้งหมด หรือโอไอซี ให้เขาเห็นว่าไทยขณะนี้มีธนาคารอิสลามแล้วนะ ต่อไปมีศาลศาสนาแล้วนะ ส่วนข้อเสนอบีอาร์เอ็นที่เสนอมามันไม่ค่อยจะเข้าท่า เพราะทางโลกมุสลิมจะไม่เข้าข้างเขา ต้องเข้าข้างรัฐไทย สิ่งที่ผมให้ความสำคัญอยู่ตรงนั้น

- เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้เป็นก็เรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข

มองว่าขบวนการอย่างนี้ ไม่ใช่เฉพาะที่ปัตตานี ไม่ใช่เฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็น อาเจะห์แลนด์เหนือ ฟิลิปปินส์ เจรจาก็เจรจาไป เหตุการณ์ก็ต้องเกิดขึ้น เพราะถ้าเหตุการณ์ไม่เกิดขึ้นอำนาจต่อรองจะไม่มี ที่รัฐไทยยื่นมือเจรจาเพื่ออะไร ก็เพื่อต้องการให้พื้นที่สงบใช่ใหม ถ้าต้องการให้สงบก็ต้องคุยกัน ทุกประเทศเป็นเหมือนกันหมด เพื่อต้องการอำนาจต่อรองในประเทศนั้น

- หัวใจสำคัญอยู่ที่ข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น หรือการเลือกผู้ว่าฯ หรือการตั้งศาลศาสนา

ถ้าทำพร้อมๆ กันได้มันก็สงบเร็วขึ้น เพราะเมื่อมีการเลือกผู้ว่าฯเอง หรือทางอิสลามต้องการอะไร เช่น ศาลศาสนา ประชาชนในสังคมก็จะรู้สึกว่าไปอยู่มาเลเซียก็เหมือนกัน อยู่ปัตตานีก็เหมือนกัน แล้วทำไมต้องแบ่งแยกดินแดน เพราะฉะนั้นประชาชนต้องการตรงนี้ การเจรจาก็เจรจาไป ซึ่งมันก็มีผลกระทบเหมือนกัน

- บีอาร์เอ็นมองเรื่องการพัฒนาในพื้นที่เหมือนประชาชนในพื้นที่หรือไม่

เขาไม่เคยพูดเลย แต่ผมมองประชาชนมากกว่า ว่าประชาชนต้องการอะไร ซึ่งที่คุณทวีทำถูกต้องแล้ว ผมว่ามันคนละส่วนกัน เพราะเขาไม่เคยเรียกร้องเรื่องพวกนี้เลย แต่เขาต้องการการแก้ปัญหาความยุติธรรม การปกครองแบบตรงไปตรงมามากกว่า นี่คือข้อเรียกร้องเขา

- 5 ข้อเสนอจะสามารถพบกันครึ่งทางได้หรือไม่

อยู่ที่การต่อรอง อยู่ที่การเจรจา เพราะไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร ปล่อยให้การเจรจาต่อไป เพื่อที่จะหาข้อความสำเร็จในข้อสุดท้ายให้ได้

 

 

 
 
4 ก.ย. 56 เวลา 21:24 2,605 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...