นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชีวะเทคโนโลยีโมเลกุล (ไอเอ็มบี) ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ประสบความสำเร็จในการเพาะ "สมอง" ของมนุษย์ในห้องทดลองได้สำเร็จ ซึ่งไม่เพียงทำให้คนเราสามารถติดตามพัฒนาการของอวัยวะแบบเดียวกับพัฒนาการ ระหว่างที่อยู่ในครรภ์ของมารดาได้เท่านั้น ยังทำให้สามารถตั้งความหวังไว้ด้วยว่า จะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบจิตและประสาทมากขึ้น ในอนาคต หลังจากที่เคยประสบความสำเร็จในการเพาะอวัยวะอื่นๆ ของคนเราในห้องแล็บมาแล้ว ตั้งแต่ ตา ต่อมพิททูอารี และตับ ได้มาแล้ว
การเพาะสร้างสมองที่ถือเป็นความสำเร็จหลังสุดครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ของไอเอ็มบี เริ่มต้นด้วยการนำเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) มาเพาะเลี้ยงใน เมทริกซ์ หรือสารสำหรับเสริมสร้างเซลล์ คล้ายเจล ที่สามารถสร้างสภาวะคล้ายคลึงกับสภาพในมดลูกของคนขึ้น การเพาะเลี้ยงดังกล่าวใช้เวลาหลายเดือนจนเซลล์ดังกล่าวเริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นมาวัดขนาดได้ราว 3-4 มิลลิเมตร
เมเดอลีน แลงคาสเตอร์ หนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้เปิดเผยว่า ซีรีบรัล ออร์แกนอยด์ หรือ สมองที่เพาะสร้างขึ้นนี้ มีลักษณะเหมือนกับเนื้อสมองของมนุษย์ที่อยู่ในช่วงพัฒนาการแรกๆ ในหลายๆ พื้นที่สมอง รวมทั้งพื้นที่ส่วนที่เรียกว่า ดอร์ซัล คอร์เท็กซ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสมองมนุษย์ กระทั่งยังมีบางส่วนที่คล้ายกับ "เวนทรัล โฟร์เบรน" หรือกลีบสมองส่วนหน้า กระทั่งยังมีบางส่วนที่เป็น "เรตินา" ที่อยู่ในช่วงของการพัฒนา
เจอร์เกน คโนบลิช ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ประสบความสำเร็จในการเพาะสร้างออร์แกนอยด์ครั้งนี้ ระบุว่า จากการทดสอบคุณสมบัติของเซลล์สมองที่เพาะสร้างขึ้นนี้พบว่า มันทำหน้าที่ได้ตามปกติเหมือนเซลล์สมองในส่วนคอร์เท็กซ์ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการเติบโตที่จำเพาะเจาะจงขั้นตอนหนึ่งไม่เหมือนกับที่เคยเพาะสร้างได้ ที่เป็นเพียงกลุ่มเนื้อเยื่อที่รวมตัวกัน แต่ไม่สามารถทำหน้าที่ได้
เพื่้อยืนยันว่า สมองที่เพาะได้นี้สามารถบ่งชี้ถึงภาวะผิดปกติทางสมองได้ คโนบลิชและแลงคาสเตอร์ ติดต่อขอความร่วมมือไปยังนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เพื่อร่วมกันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสมองที่สามารถจำลองพัฒนาการของโรคทางสมอง ที่เรียกว่า "ไมโครเซฟาลี" หรือภาวะสมองเล็กผิดปกติ ที่ทำให้เกิดอาการพิการทางสมองตามมา
ผลการเปรียบเทียบการเพาะเลี้ยงสมองจากเนื้อเยื่อของผู้ที่เป็นไมโครเซฟาลีกับของคนปกติ ทีมวิจัยพบว่า ออร์แกนอยด์ที่สร้างจากผู้ที่มีภาวะสมองเล็ก จะมีขนาดเล็กกว่าเห็นได้ชัดเจน แลงคาสเตอร์ให้เหตุผลว่า สมองของคนเรานั้นปกติแล้วเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์หลายรอบมากก่อนที่จะกลายมาเป็นเซลล์สมองในที่สุด แต่เซลล์สมองของผู้ป่วยไมโครเซฟาลี นั้นเกิดจากการที่สเต็มเซลล์แบ่งตัวเป็นเซลล์สมองในขั้นตอนที่เร็วเกินไป ส่งผลให้เกิดปริมาณของเซลล์น้อยกว่าปกตินั่นเอง
ที่น่าสนใจก็คือ นักประสาทวิทยาบางคนเชื่อว่า อาการบกพร่องดังกล่าวสามารถแก้ไขได้ด้วยการทดแทนยีนส่วนที่บกพร่องนั้นด้วยยีนปกติ
นอกจากจะใช้ในการสังเกตพัฒนาการของสมองและการทำความเข้าใจต่อภาวะโรคแล้วสมองที่เพาะสร้างได้นี้ยังอาจสามารถใช้เพื่อการทดลองประสิทธิภาพของยาได้เป็นอย่างดีในอนาคตอีกด้วย