เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี มีการปาฐกถาพิเศษ “ผนึกกำลังสู่อนาคต เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์” หรือ Uniting for the future: Leaning from each others experiences ซึ่งจัดโดย สถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันต่างประเทศเทวะวงศ์ วโรปการ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งการปาฐกถาครั้งนี้เป็นเวทีวิชาการที่ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับฟังประสบการณ์จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากต่างประเทศ แต่ละคนที่มีประสบการณ์ในการส่งเสริม พัฒนาประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง มองไปสู่อนาคต ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน แก้ไขความขัดแย้งสร้างกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
โดยเชิญวิทยากรชั้นนำ 3 คน ประกอบด้วยนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายมาร์ตี อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ และนางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและที่ปรึกษาอาวุโส Centre for humanitarian dialogue มาถ่ายทอดประสบการณ์มุมมอง และกรณีศึกษา โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย AM 819 และ FM 92.5
ทั้งนี้เวลา 08.00 น. ก่อนเริ่มเวทีปาฐกถาพิเศษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้พบหารือเป็นการส่วนตัวกับนายโทนี่ แบลร์ จากนั้นเวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยได้เริ่มด้วยการขอบคุณวิทยากร และผู้จัดงาน พร้อมกล่าวว่า ความตั้งใจในการจัดให้มีปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้ก็เพื่อให้มีเวทีที่ทุกคนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เล่าประสบการณ์ เพื่อจะได้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และผนึกกำลังสู่อนาคตเพื่อสันติภาพ และความมั่งคั่งของประชากร เชื่อว่า การปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ รวมทั้งเวทีต่าง ๆ ในอนาคต จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาและสร้างความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญจะเป็นการเตรียมพื้นฐานอันจะนำไปสู่แนวทางที่ปฏิบัติและดำเนินการได้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับอุดมการณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องสามารถใส่เนื้อหา เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประชาธิปไตยอยู่ในช่วงที่ยืนอยู่บนทางแยก ยังคงมีความพยายามที่จะลิดรอนเสรีภาพของประชาชนในหลายๆ แห่งทั่วโลก ซึ่งหลายท่านในที่นี้เชื่อในระบอบประชาธิปไตย และได้ทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องและรักษาหลักประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยนั้นคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคล รวมทั้งสนับสนุนอัจฉริยภาพของบุคคลให้งอกงาม นอกจากนี้ ประชาธิปไตยยังให้โอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เพื่อการเติบโต และประชาธิปไตยยังเคารพความแตกต่างที่หลากหลาย เปิดโอกาสให้สามารถแก้ไขได้ในแนวทางที่สันติ การให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพที่ยั่งยืน เพราะความมั่นคงเป็นพื้นฐานสำหรับทุกประเทศและภูมิภาคในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
“ความท้าทายของคนในรุ่นนี้ คือ การสร้างอนาคตที่มั่นคงสำหรับลูกหลาน ที่จะมีความขัดแย้งที่ลดน้อยลง และมีสภาพแวดล้อมที่ให้โอกาสที่เสมอภาค เพื่อการเติบโต รุ่งเรือง ดังนั้น กุญแจสำคัญคือการทำงานเพื่อสร้างอนาคตที่รายล้อมด้วยประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานที่เข้มแข็งและมั่นคง ประชาธิปไตยไม่ได้เพียงหมายถึงระบบที่เสียงข้างมากเป็นรัฐบาล และเสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน แต่หมายรวมถึงวัฒนธรรมที่ประชาชนทุกคน ต้องเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เคารพต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม การมาร่วมปาฐกถาในวันนี้ก็เพื่อลูกหลาน เราจำเป็นต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเชื่อว่า คนไทยทุกคนจะได้รับประโยชน์จากประสบการณ์จากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จะเรียนรู้ว่าประเทศต่างๆได้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างไร รวมทั้ง การสนับสนุนให้ทุกฝ่ายยกความขัดแย้งออกไปก่อน และร่วมกันทำงานเพื่อสร้างอนาคตของประชาธิปไตยที่มั่นคง ซึ่งเราต้องรับฟังทั้งความสำเร็จ และเรียนรู้ความล้มเหลวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเอกภาพไม่บรรลุผล รวมทั้ง ผลที่ตามมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อไม่มีความปรองดอง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า หวังบทเรียนจากกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ จะสร้างแรงบันดาลใจทุกคนในการสะท้อนมุมมองว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เราก้าวไปด้วยกันตามแนวทางประชาธิปไตย ในขณะที่เราแสวงหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่ออนาคตของลูกหลาน