..เป็นกองทัพที่ไม่มีเกียรติ เป็นกองทัพที่ก่อกวน
นำแต่ความล่มจม มาสู่ชาติหลายครั้ง หลายคราวมาแล้ว..
ในประวัติศาสตร์ชาติไทยราวๆปี พ.ศ.๒๔๙๐ กองทัพเรือนั้นนับได้ว่าเป็นกองทัพที่สามัคคีมีอำนาจเข้มแข็ง
และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก
เรามี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็น นายกรัฐมนตรี และมี พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน
เป็น ผบ.ทร. กองทัพเรือมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบแบบแผน
ถือได้ว่าเป็นช่วงที่กองทัพเรือมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่แพ้ชาติใด ๆในเอเชีย
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ ๘ ของไทย
พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผบ.ทร. บุคคลสำคัญของกองทัพเรือ
แต่ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนมีขึ้นก็ต้องมีลง “ตถตามันเป็นเช่นนั้นเอง”
กองทัพเรือของเราต้องสะดุดล้มลง ถูกจำกัด และถูกตัดขาดจากการเมืองการปกครองเป็นเหตุให้
การพัฒนาที่กำลังก้าวหน้า ต้องกลายเป็นก้าวกระโดดถอย
หลังเหตุการณ์ที่กล่าวมานี้เป็นผลจากการทำรัฐประหารที่ล้มเหลว........“กบฏแมนฮัตตัน”
ในยุคที่กองทัพเรือมีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองสูงสุด
รัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี (๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙ - ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐)
ถูกคณะรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ ที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัน
ใช้อิทธิพลแทรกแซงทางการเมือง ทำให้ต้องลี้ภัยหนีไปต่างประเทศ
เมื่อทำการรัฐประหารสำเร็จแล้วก็จัดฉากโดยให้นาย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ประมาณ ๕ เดือน
ก่อนที่จะบีบบังคับให้ลาออก แล้วจึงตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ โดยแต่งตั้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
การกระทำของกลุ่มรัฐประหารซึ่งประกอบด้วย กำลังของทหารบก ทหารอากาศ และตำรวจ
นั้นได้สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มทหารเรือเป็นอย่างมาก (การที่กองทัพอากาศร่วมมือกับกองทัพบก
ก็เนื่องจากว่าแต่เดิมนั้นยังไม่มีโรงเรียนนายเรืออากาศ
ผู้ที่เป็นทหารอากาศจึงมาจากการโอนย้ายทหารบก เข้ามาประจำการในกองทัพอากาศ)
และเมื่อเกิดกรณี กบฏวังหลวงซึ่งเป็นกรณีที่นายปรีดี พนมยงค์ และทหารเรือบางส่วน
ทำการปฏิวัติคณะรัฐบาล จอมพล ป.แต่ไม่สำเร็จ จึงเป็นเหตุที่ทำให้นายทหารคนสำคัญของกองทัพเรือ
อย่าง พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หลวงสังวรณ์ สุวรรณชีพ
และ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ถูกปลดจากประจำการนั้น ได้สร้างความแตกแยก
ระหว่างกองทัพบก กับ กองทัพเรือขึ้น โดยฝ่ายทหารเรือถือว่าเป็นการคุกคาม และต้องการกอบกู้ “เกียรติยศศักดิ์ศรี” ของทหารเรือให้กลับคืนมา
พล.ท.ผิน ชุณหะวัน (ยศสุดท้ายคือจอมพล) แกนนำสำคัญของคณะรัฐประหาร เป็นบิดาของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน
อมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลกระดูกเหล็ก ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีนานถึง ๑๔ ปี และต้องพบเจอกับการกบฏมากมายหลายครั้ง ผลงานมีทั้งดีและไม่ดี ทำให้มีทั้งคนรัก และคนชัง เป็นคนกล้าหาญ ฉลาด สุขุมรอบคอบและรักชาติ แต่ก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
การบริหารประเทศที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม และการใช้อิิทธิพลข่มขู่ของตำรวจยุคอัศวิน “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยจะทำไม่ได้” ตำรวจอุ้มฆ่า ค้าฝิ่น จนไม่มีใครกล้าที่จะต่อต้านหรือขัดขวาง ประกอบกับการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของกองทัพเรืออยู่เนือง ๆ จนกองทัพเรืออยู่ในภาวะเสื่อมทรามต่ำสุด ทำให้ทหารเรือหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ได้ตั้งกลุ่ม“คณะกู้ชาติ” ขึ้น ซึ่งในกลุ่มผู้ก่อการที่สำคัญนั้นประกอบด้วย
น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับกองกำลังหมู่รบ
น.ต.มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์
น.ต.ประกาย พุทธารี กรมนาวิกโยธิน
น.ต.สุภัทร ตันตยาภรณ์ กรม นาวิกโยธิน
ในส่วนของ น.ต.ประกาย และ น.ต.สุภัทรนั้นได้สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทำให้รู้ว่ามีทหารบก และทหารอากาศบางส่วนที่ไม่พอใจการบริหารประเทศของรัฐบาลจอมพล ป. เช่นกัน และยินดีให้ความร่วมมือในการทำรัฐประหารกับ คณะกู้ชาติ อย่างเต็มที่
น.ต.มนัส จารุภา เป็นผู้ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างมากใน คณะกู้ชาติ เป็นนายทหารเรือที่มีความสนใจในเรื่องการเมืองการปกครอง และติดตามความเป็นไปอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นพฤติกรรมของรัฐบาล มาโดยตลอด ด้วยความที่เป็นคนที่มีน้ำใจรักชาติ และมีหัวคิดรุนแรง ทำให้ น.ต.มนัส คิดทำการรัฐประหารหลายครั้ง รวมทั้ง เคยคิดจะทำรัฐประหารมาตั้งแต่ รัฐบาลทหารเรือของ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ มาก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลก ประชาชนอดอยาก รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ และไม่สนใจการแก้ปัญหาให้ประชาชน สนใจเพียงเรื่องผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าปัญหาของประเทศชาติ แต่ความคิดนั้นก็ต้องล้มเลิกเนื่องจาก ผู้บังคับบัญชาได้ป้องปรามเอาไว้ และรัฐบาลก็ถูกทำรัฐประหารโดยคณะของ พล.ท.ผิน ชุณหะวันเสียก่อน
สำหรับแผนการของ คณะกู้ชาติ ก็คือจะใช้กำลังทหารเข้าควบคุมตัวบุคคลสำคัญมาเป็นข้อต่อรองให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี และผู้นำประเทศ โดยความสำเร็จที่ได้มาจะต้องไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อ ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการได้คิดลงมือปฏิบัติการอยู่หลายครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๓
คิดจะควบคุมตัว จอมพล ป.พิบูลสงคราม และนายทหารที่สำคัญของกองทัพบก ในงานพิธีส่งทหารไปราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลีเป็นรุ่นแรก ที่ท่าเรือคลองเตย แต่ต้องยกเลิก เนื่องจากข่าวรั่วไหล และกองกำลังทหารนาวิกโยธิน ไม่สามารถออกเดินทางจากที่ตั้งได้
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๓
วางแผนควบคุมตัว จอมพล ป. และนายทหารที่สำคัญของทั้งสามเหล่าทัพ ในงานการแข่งขันกีฬารักบี้ ฟุตบอล แต่ก็ต้องผิดหวังเนื่องจากข่าวรั่วไหลไปเข้าหูตำรวจ ทำให้มีการเตรียมกำลังตำรวจพร้อมรับสถานการณ์
ครั้งที่ ๓ ต้นปี พ.ศ.๒๔๙๔
โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จะทำพิธีแจกเข็มเสนาธิปัตย์ โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นประธานในพิธีทางด้านกลุ่มผู้ก่อการได้เตรียมการวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่ถึงเวลาเอาเข้าจริงก็ต้องล้มอีกครั้ง เมื่อกองกำลังทหารบกบางส่วนไม่กล้าเคลื่อนกำลังออกมา ถึงตอนนี้แล้วรัฐบาลเริ่มให้ความสนใจกลุ่มผู้ก่อการอย่างจริงจังโดยการส่งตำรวจนอกเครื่องแบบไปซุ่มจับตามองที่บ้านของ น.อ.อานนท์ และ น.ต.มนัส อยู่บ่อยครั้ง
ครั้งที่ ๔ เดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔
งานพิธีส่งทหารไปราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี อีกรุ่นหนึ่ง เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำการรัฐประหาร เนื่องจากจอมพล ป. และนายทหารชั้นผู้ใหญ่มากันเกือบหมด แต่มีประชาชนมาร่วมพิธีน้อย และมีสารวัตรทหารเรือที่คอยรักษาความปลอดภัยอยู่เพียงไม่กี่คน แต่แล้ว คณะกู้ชาติ ก็กลับปล่อยให้โอกาสหลุดลอย เพราะการข่าวไม่ดีทำให้เตรียมการไม่ทัน
ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๔
ในวันประชุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มนายทหารหนุ่มยังไม่สิ้นความพยายาม ได้วางแผนจะควบคุมตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และยึดสถานที่ราชการที่สำคัญ โดยครั้งนี้มีการเตรียมการเป็นอย่างดี คณะกู้ชาติบางคนถึงกับต้อง กู้หนี้ยืมสินมาใช้ในการเตรียมการครั้งนี้จนหนี้ท่วมหัว ซึ่งผลก็คล้ายกับประโยคที่ว่า “กู้แบงค์ยังไม่ใช้ จะมากู้ชาติได้อย่างไร” ในวันปฏิบัติการ ขณะที่หน่วยต่างๆ เริ่มเคลื่อนพลออกมาแล้ว ปรากฏว่า น.ต.ประกายไม่สามารถนำกำลังทหารนาวิกโยธินออกจากที่ตั้งได้ สิ่งที่เตรียมการมาทั้งหมดต้องพังพินาศ ความผิดพลาดในครั้งนี้ทำให้ทหารกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะทหารบก หมดความเชื่อมั่น และขอถอนตัวจากขบวนการไปในที่สุด
อ่านไว้ใช่จะหนักบ่า เหมือนแบกกระเป๋า
โปรดติดตามตอนต่อไป .....
( ถ้าต้องการนะ หรือไม่ก็ไปหาอ่านเอง ประวิตศาสตร์บ้านเมืองมีมากมาย ลูกหลานควรศึกษา ใช่จักอ่านเพียงแต่เรื่องราวสื้นคิดไร้สาระ)