นายอุทัย นพคุณวงศ์ ผู้นวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 1 กรมวิชาการเกษตร กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเรื่อง "อนาคตลำไยไทยในอาเซียน" ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เร็วๆ นี้ว่า จีนเป็นตลาดส่งออกลำไยรายใหญ่ ออกประกาศเป็นการภายในเมื่อเดือนพฤษภาคม ให้ด่านตรวจสินค้าทุกแห่งตรวจลำไยไทยอย่างเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างปริมาณมากเกิน 50 ppm ล่าสุดมีตรวจพบสารดังกล่าวตกค้างเกินค่าที่กำหนด จึงถูกสั่งห้ามนำเข้าจีนแล้ว 2 ราย ทั้งยังต้องการใบรับรองว่ามีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตามเกณฑ์หรือไม่
ด้าน รศ.นงนุช อังยุรีกุล นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ระบุว่า ตลาดส่งออกลำไย อันดับหนึ่งอยู่ที่จีน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย เวียดนาม แต่พบว่าแนวโน้มการส่งออกไปยังอินโดนีเซียลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยมูลค่าการส่งออกลำไยไปยังอินโดนีเซียตกปีละ 2,500 ล้านบาท และในปี 2555 ทางการอินโดนีเซียได้ออกมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี ด้วยการลดปริมาณการนำเข้าลำไยจากไทย เหลือไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ผู้บริโภคอินโดนีเซียยังต้องการลำไยจากไทย จึงยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าอินโดนีเซียจะซื้อลำไยจากไทยอีกกี่ปี
ขณะที่ รศ.ดร.เริงชัย ตันสุชาติ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าลำไยรายใหญ่เช่นกัน แต่เกษตรกรไทยไม่รู้ แม้จะนำเข้าลำไยปริมาณมาก ปรากฏว่าไม่ใช่การส่งออกจากไทยโดยตรง ผู้ส่งออกกลับเป็นจีนและไต้หวัน ทั้งที่เป็นลำไยไทย
ส่วน ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.แม่โจ้ กล่าวว่า ลำไยไทยเวลานี้เป็นทั้งวิกฤตความเสี่ยง แต่ยังมีจุดแข็ง คือ มีพันธุ์ที่ดี เมื่อเทียบกับคู่แข่งของไทยดีที่สุดทั้งเวียดนามและจีน โชคดีที่จีนนำพันธุ์ของไทยไปปลูกแล้วพบว่าสภาพอุณหภูมิต่ำเกินไปไม่เหมาะปลูกที่จีน
จุดเด่นอีกอย่างคือสภาพแวดล้อมเอื้อ สามมีองค์ความรู้และภูมิปัญญา ดังนั้นต้องใช้จุดแข็งนี้พัฒนาเพื่อให้ต่อสู้กับคู่แข่งขันได้ และขอยืนยันว่าการผลิตลำไยนอกฤดูเป็นเรื่องสำคัญและสามารถแก้ไขปัญหาผ่อนหนักเป็นเบาได้