นักวิทยาศาสตร์นาซาค้นพบหนึ่งในหุบเขาลึกหรือแคนยอน ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์
ทั้งนี้ แคนยอนดังกล่าวมีความยาว 800 กม. ลึกกว่า 800 เมตร ถูกกัดกร่อนจากแม่น้ำสายใหญ่เมื่อกว่า 4 ล้านปีก่อน ก่อนที่จะเกิดน้ำแข็งเช่นในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่กว่าแกรนด์แคนยอน ในสหรัฐฯ ทอดตัวผ่านใจกลางของกรีนแลนด์ และสิ้นสุดลงที่ธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนทางตอนเหนือ และก่อนที่ชั้นน้ำแข็งจะก่อตัวขึ้น บริเวณดังกล่าวอาจเคยมีแม่น้ำไหลผ่านลงไปยังมหาสมุทรอาร์คติก ซึ่งปัจจุบันถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง
กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากนาซา เปิดเผยว่า ค้นพบหุบเขาลึกดังกล่าวโดยบังเอิญ ขณะกำลังทำการวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีผลต่อหินแข็งชั้นล่างที่อยู่ใต้ชั้นดินและทรายของกรีนแลนด์ด้วยเรดาร์
โดยข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากปฏิบัติการ IceBridge ของนาซาที่ทำการศึกษาน้ำแข็งขั้วโลก ระหว่างปี 2009-2012 โดยใช้อุปกรณ์ Multichannel Coherent Radar Depth Sounder ของศูนย์รีโมทเซ็นซิ่งแผ่นน้ำแข็ง ที่มหาวิทยาลัยแคนซัสในสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบความหนาและรูปร่างของหินแข็งชั้นล่างที่อยู่ใต้ชั้นดิน
แผ่นน้ำแข็ง ซึ่งปัจจุบันมีความหนาประมาณ 3 กม. มีน้ำหนักมากจนกระทั่งทำให้ตอนกลางของเกาะกรีนแลนด์ยุบตัวลง ทำให้แผ่นดินมีความสูงสูงเฉลี่ย 200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล จากเดิมที่เคยมีความสูงเฉลี่ย 500 เมตร
หุบเขาดังกล่าวยังคงทรุดต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่น้ำที่ละลายจากแผ่นน้ำแข็ง ได้ไหลซึมลงไปสู่จุดที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล บริเวณปลายด้านเหนือสุดของกรีนแลนด์ นักวิทยาธารน้ำแข็ง เชื่อว่าหุบเขามีบทบาทสำคัญในการลำเลียงน้ำที่ละลายลงไปยังมหาสมุทรด้วย
ศาสตราจารย์เดวิด วอแกน จากกลุ่มบริติช แอนตาร์คติก เซอร์เวย์ เปิดเผยว่า หุบเหวลึกดังกล่าว อาจเคยปรากฏให้เห็นในช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง เมื่อกว่า 100,000 ปีก่อน และเชื่อว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตจำพวกแบคทีเรียอาศัยอยู่ และยังไม่เคยมีมนุษย์คนใดได้เห็นหุบเขานี้มาก่อน เนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัยบนกรีนแลนด์เมื่อ 4 ล้านปีก่อน ซึ่งหากแผ่นน้ำแข็งบนกรีนแลนด์ละลาย จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 7 เมตร และท่วมเมืองสำคัญซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเล