คดีของอำแดงเหมือน หมายถึง อำแดงเหมือนเดียวกับที่เป็นที่รู้จักว่ามีคนรักชื่อนายริด ทั้งอำแดงเหมือนกับนายริดเป็นเรื่องของบุคคลธรรมดา แต่เรื่องราวของเขามีการกล่าวถึงอย่างค่อนข้างแพร่หลาย คนจำนวนไม่น้อยรู้จักอำแดงเหมือนกับนายริดผ่านภาพยนตร์ และละครทีวี
เรื่องของอำแดงเหมือนมีการกล่าวถึงเหมือน ขวัญกับเรียม แม่นากกับพ่อมาก แต่ไม่ใช่ในตำนานแห่งความรัก แต่เป็นเรื่องของคนสู้ชีวิต เพราะร้อยกว่าปีที่แล้วเธอเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเอง ด้วยการหนีตะรางไปทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฃ
บ้านชาวสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน
นักกฎหมาย กำธร เลี้ยงสัจธรรม เขียนวิเคราะห์อีกหลายประเด็นไว้อย่างน่าติดตาม ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนธันวาคมนี้ กับบทความชื่อ “ฎีกาของอำแดงเหมือนในรัชกาลที่ 4 กับการพลิกคดีอำแดงป้อมในรัชกาลที่ 1″
เริ่มจากเรื่องของอำแดงเหมือน หรือนางสาวเหมือนก่อน บ้านเธออยู่เมืองนนทบุรี เป็นคนในสมัยรัชกาลที่ 4 มีคนรักที่มีอะไรกันชื่อนายริด แต่พ่อแม่เธอไม่รู้ เมื่อนายภูมาสู่ขอก็ยกให้เธอไม่ยินยอมก็ทุบตี แล้วให้นายภูมาฉุดถึง 2 ครั้ง เธอก็หนีกลับมา
กฎหมายตรา 3 ดวง
เมื่อนายริดเอาดอกไม้ธูปเทียนมาษมาพ่อแม่กลับโกรธถึงขั้นไล่ยิง เธอจึงหนีไปอยู่กับนายริด นายภูฟ้องนายริดว่าลักพาภรรยาตนเอง ระหว่างดำเนินคดี เธอถูกคุมขังและกลั่นแกล้งทารุณเพื่อให้ยอมเป็นภรรยานายภู เธอหลบหนีออกมาและได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัยคดีอำแดงเหมือน สรุปไว้ดังนี้
1.ถ้าความจริงเป็นไปตามฎีกา ให้ตัดสินให้อำแดงเหมือนเป็นภรรยานายริดตามความสมัครใจ เพราะอายุมากถึง 20 ปีเศษแล้ว ควรจะหาสามีตามใจชอบได้ แต่ให้นายริดเสียเงินค่าละเมิดให้แก่พ่อแม่อำแดงเหมือน และให้แก่นายภู
2.แต่ถ้าความเป็นจริงต่างไปจากเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ ก็ให้ตัดสินตามหลักเกณฑ์ที่พระราชทานไว้ 2 ประการดังนี้
ประการแรก เป็นเพราะพ่อแม่ของอำแดงเหมือนยอมยกลูกสาวให้แก่นายภูโดยมีค่าตอบแทน จึงต้องยอมให้นายภูมาฉุดลูกสาว
ถ้าเป็นเช่นนี้ให้ตัดสินว่า พ่อแม่ไม่ได้เป็นเจ้าของลูก เหมือนกับคนเป็นเจ้าของช้างม้าวัวควายจึงตั้งราคาขายตามใจ หรือเหมือนกับนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัวเกิดยากจนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้ เมื่อพ่อแม่เกิดยากจนจะขายลูกได้เมื่อลูกยินยอม ถ้าไม่ยอมก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขายตามที่ลูกยอมรับหนี้ค่าตัวเท่านั้น กฎหมายเก่าว่าไว้อย่างไรผิดไปจากนี้มิให้นำมาใช้
สาวชาวบ้านในสมัยรัชกาลที่ 4 ถ่ายโดยจอห์น ทอมสัน (John Thomson) ช่างภาพชาวอังกฤษที่เข้ามาสยามเมื่อปี พ.ศ.2408-2409
ดังนั้น ถ้าพ่อแม่ของอำแดงเหมือนเอาเธอไปขายให้แก่นายภูเป็นเงินเท่าไร ก็ให้พ่อแม่เธอใช้เงินนั้นให้แก่นายภูเอง เพราะเห็นชัดว่าอำแดงเหมือนไม่ยอมให้พ่อแม่เอาชื่อตนไปขาย
อำแดงเหมือนหนีพ่อแม่ตามนายริดไปนั้น ถ้าเอาเงินทองสิ่งของของพ่อแม่ติดตัวไปด้วยโดยพ่อแม่ไม่ยอมก็ให้รีบเอามาคืน เว้นแต่ผ้านุ่งห่มและเงินหรือสิ่งของเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นเสบียงเลี้ยงตัวอยู่ในระยะแรก
ประการที่สอง ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ว่า “หญิงหย่าชายหย่าได้” กันมาก่อนหน้านี้ ให้กลับไปใช้ตามกฎหมายเก่านั้นตามเดิม
บทความของกำธรยังกล่าวต่อไปจนถึงคดีอำแดงป้อมในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่าการวินิจฉัยคดีอำแดงเหมือนดังกล่าว ส่วนหนึ่งเท่ากับเป็นการพลิกคดีอำแดงป้อมไปด้วย
เมื่ออำแดงป้อมภรรยานายบุญศรีมาฟ้องหย่าสามี นายบุญศรีไม่ยอมหย่าและให้การว่าเธอนอกใจมีชู้ แต่เจ้าหน้าที่กลับเข้าข้างเธอให้หย่าได้ นายบุญศรีทูลเกล้าฯถวายฎีการ้องเรียนเจ้าพนักงานทำให้ตนไม่ได้รับความเป็นธรรม
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รับสั่งให้ตรวจสอบกฎหมายในศาลหลวงแล้วมีพระราชโองการให้อำแดงป้อมหย่าได้ตามที่กฎหมายเก่าระบุว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้” แต่ก็ให้ยกเลิกกฎหมายนี้เสีย
กำธรยังกล่าวถึงกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์บุคคลสำคัญในแวดวงกฎหมายสยาม ทรงตีความเรื่องนี้ไว้ใน “เล็กเชอร์ว่าด้วยผัวเมีย” ตามไป
อ่านกันดูทั้งหมดใน “ศิลปวัฒนธรรม” เถอะค่ะ แค่เรื่องกฎหมายผัวเมียนี้แหละก็ประจักษ์ว่า
บ้านเราไม่ได้ดับเบิลสแตนดาร์ด หากมีสแตนดาร์ดเดียว แบบนี้ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร