ท่อนจันทน์ : เครื่องมือประหารเจ้านายชั้นสูง
สมัยโบราณนั้นการประหารชีวิตเจ้านายชั้นสูงต้องมีรูปแบบพิเศษแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยกำหนดแบบแผนไว้ในกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสำเร็จโทษ ซึ่งน่าจะมีขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปีจุลศักราช 722 แล้วมีการปรับปรุงและกำหนดชัดขึ้นไว้ในกฎหมายตราสามดวง หมวดกฎมนเทียรบาล มาตรา 176
ผู้พิพากษาโทษ คือ กษัตริย์
ผู้กระทำความผิด คือ เชื้อพระวงศ์ พระมเหสี พระสนม
ลักษณะความผิด กฎมนเทียรบาลจักกำหนดข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และบทลงโทษหนักเบาตามพฤติกรรม หากเป็นบทหนักถึงประหารชีวิต ต้องได้รับคำสั่งจากกษัตริย์ซึ่งทรงพิจารณาว่าจะใช้โทษนั้นหรือไม่ กับใคร และเมื่อไร ทีมงานประหารชีวิต จะประกอบด้วย นายแวง ผู้คุม กำกับดูแลนักโทษสู่แดนประหาร ระวังภัยมิให้มีการชิงนักโทษ สองขุนผู้ใหญ่ ตัวแทนกษัตริย์ในการเป็นประธานพิธีสำเร็จโทษและสามหมื่นทลวงฟัน เพชฌฆาต มีสองคนในการประหารแต่ละครั้งสำหรับแดนประหารในสมัยอยุธยานั้นคือที่ วัดโคกพญา ปัจจุบันน่าจะเป็นพื้นที่รวมของกลุ่มโบราณสถานคลองสระบัว จังหวัดอยุธยา อันได้แก่ วัดหน้าพระเมรุ วัดหัสดาวาส วัดตะไกร โดยมีวัดหน้าพระเมรุหรือวัดพระเมรุโคกพญา เป็นหลัก
ลักษณะท่อนจันทน์ ไม้ค้อนขนาดใหญ่ที่มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง รูปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม หลังจากพิธีประหารชีวิตเสร็จสิ้น จักใส่ไปในหลุมศพด้วย ขั้นตอนการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ หนึ่งต้องพันธนาการร่างแล้วสวมถุงแดงตั้งแต่พระเศียรลงไปตลอดปลายพระบาท เอาเชือกรัดถุงให้แน่น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดจับต้องพระวรกายและมิให้ผู้ใดเห็นพระศพ แม้แต่เพชฌฆาต สองหมื่นทลวงฟันทำการไหว้ครู และขอขมาต่อนักโทษ สาม ทุบท่อนจันทน์บนพระนาภี (ท้อง) หรือ พระเศียร (หัว) คล้ายท่าตำข้าว และสี่นำพระศพฝังในหลุมซึ่งจัดเตรียมไว้ที่ โคกพญา แล้วจัดเจ้าพนักงานเฝ้ารักษาหลุม 7 วัน เพื่อมั่นใจว่าสิ้นพระชนม์ หรือ ป้องกันการชิงพระศพ
ที่มา : จากหนังสือ “สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์”
ภาพการ “สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์” สมเด็จพระรัฏฐาธิราช ตามจินตนาการของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล จากภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยไท”