ถึงแม้ว่าตอนนี้ทั้งนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์จะมีข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศเต็มไปหมด แถมยังมีข่าวออกมามากมายที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ทั้งการทดลองและภาพถ่ายจากยานอวกาศทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ทว่าภายใต้ความมืดมิดและระยะทางอันยาวไกลยังมีหลากหลายเรื่องราวที่พวกเราอาจยังไม่รู้ โดยเฉพาะ 10 เรื่องแปลกในห้วงอวกาศ ที่เรานำความจริงมาบอกกันในวันนี้ในหัวข้อ 10 เรื่องแปลกจากห้วงอวกาศที่คุณอาจไม่เคยรู้
เครดิต :
แหล่งที่มา : kapook
ว่ากันว่าบนโลกของเรายิ่งสูงยิ่งหนาว แต่สำหรับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรานั้นคงต้องใช้คำว่า ยิ่งไกลยิ่งหนาว โดยพิสูจน์ได้จากอุณภูมิบนดาวพลูโตที่มีอุณหภูมิติดลบถึง 234.4 องศาเซลเซียส ซึ่งว่ากันว่าน้ำแข็งที่อยู่บนพื้นผิวของดาวพลูโตแข็งแรงกว่าโลหะที่อยู่บนโลกของเราเสียอีก
ในระหว่างที่โครงการอพอลโลอยู่ในช่วงปฏิบัติภารกิจ นักบินอวกาศได้รายงานว่า มีแสงสลัวส่งประกายออกมาจากดวงจันทร์คล้ายๆ กับอากาศในชั้นบรรยากาศ แต่ทว่าดวงจันทร์ไม่มีชั้นบรรยากาศอย่างเช่นโลกของเรา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ให้คำอธิบายว่า แสงดังกล่าวน่าจะเป็นแสงสะท้อนจากอนุภาคเล็กที่ลอยตัวอยู่เหนือพื้นผิวดวงจันทร์ ไม่ใช่การเรืองแสงแต่อย่างใด
ทุกๆ การปะทุของลมสุริยะที่พวยพุ่งออกจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์แต่ละครั้ง จะสูญเสียมวลรวมไปราวๆ 2 ล้านกิโลกรัมต่อวินาที คล้ายกับคนที่กำลังอดอาหารแล้วต้องสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปนั่นแหละ แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะบนดวงอาทิตย์จะเกิดลมสุริยะมาแล้วกี่ครั้งกี่ครา แต่ทว่าดวงอาทิตย์ก็ยังคงมีขนาดที่ใหญ่โตและสามารถให้แสงสว่างได้อยู่เสมอ
โดยปกติแล้วการเชื่อมติดวัตถุที่เป็นโลหะจะต้องใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อเข้ามาช่วย แต่เมื่อในห้วงอวกาศเราไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นเลย เพราะโลหะจะเชื่อมติดกันโดยอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า เชื่อมแบบเย็น (Cold Welding) ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวทำให้ทางนาซาจำเป็นต้องเคลือบชิ้นส่วนของยานอวกาศด้วยสารป้องกันการเกาะติด เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นส่วนของยานอวกาศติดกันนั่นเอง
ในปี ค.ศ. 1986 นักวิทยาศาสตร์นามว่า ดันแคน วอลดรอน ค้นพบวัตถุแปลกประหลาดโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะวงรี แต่ต่อมาวัตถุดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะกลับมาโคจรรอบโลก และสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นบริวารหรือดวงจันทร์ดวงที่ 2 ของเรา อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ตอนนี้จนถึงวันนี้มีการค้นพบวัตถุในลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 ดวงแล้ว แต่ถูกจัดให้อยู่ในฐานะดาวเคราะห์น้อยอยู่
เชื่อหรือไม่ว่าแสงอาทิตย์ที่เรามองเห็นอยู่ทุกๆ วันมีอายุมากกว่า 30,000 ปีแล้ว นับตั้งแต่มีพลังงานเกิดขึ้นในแกนกลางของ และแทรกซึมผ่านทุกอนุภาคของดวงอาทิตย์ จนกระทั่งเปล่งแสงออกมาจากพื้นผิวและกระจายไปทั่วทั้งห้วงอวกาศ โดยแสงเหล่านั้นถูกส่งต่อมายังโลกของเราภายใน 8 นาทีเท่านั้น โดยพิสูจน์จากความเปลี่ยนแปลงของพื้นผิว
ดวงจันทร์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมอย่างที่ใครๆ คิดกันหรอก เพราะในทุกๆ ปีดวงจันทร์จะเคลื่อนตัวห่างจากโลกออกไปราวๆ 3.8 เซนติเมตรต่อปี สาเหตุนั้นก็สืบเนื่องมาจากที่โลกหมุนรอบตัวเองเร็วกว่ารอบโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งแรงกระทำดังกล่าวเป็นแรงกระทำเดียวกับที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้นน้ำลงนั่นเอง นอกจากนี้ยังทำให้โลกโคจรรอบตัวเองช้าลง 0.002 วินาทีทุกๆ ศตวรรษด้วย แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าดวงจันทร์จะเคลื่อนตัวออกจากโลกเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหายไปจากการเป็นบริวารของโลกได้ง่ายๆ เพราะการเคลื่อนที่ออกจากโลกปีละเพียง 3.8 เซนติเมตรนั้นช่างน้อยนิดจนเรียกได้ว่า อีกล้านปีก็ยังไม่มีผลกระทบใดๆ กับโลกเลย
หากว่าไปตามทฤษฎีของวิทยาศาสตร์ รูปร่างของของเหลวจะเปลี่ยนไปตามภาชนะที่บรรจุ แต่เมื่อของเหลวอยู่ภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก หากระเซ็นออกมาจากภาชนะหรือร่างกายของคน ก็จะแปรเปลี่ยนรูปร่างเป็นทรงกลมทันทีภายใต้ผิวน้ำที่เรียบตึงราวกับมีพลาสติกห่อหุ้มอยู่
คุณอาจจะเคยทราบมาว่า ดาวเคราะห์บางดวงในระบบสุริยะเกิดขึ้นจากการจับตัวของกลุ่มก๊าซ แต่คุณอาจจะยังไม่ทราบว่าดาวเสาร์ มีน้ำหนักเบาขนาดที่ว่าสามารถลอยตัวอยู่บนน้ำได้เลย เพราะมีความหนาแน่แค่เพียง 0.687 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ในขณะที่ความหนาแน่นของน้ำอยู่ที่ 0.998 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร
แสงลึกลับที่ส่องมาจากเส้นขอบจักรวาล โดยแรกในช่วงแรกๆ นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นอะไร แต่หลังจากที่มีการค้นพบและสำรวจ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าน่าจะเป็นวัตถุที่มีแสงสว่างเจิดจ้า ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณร้อยล้านปีแสง และสามารถปล่อยพลังงานมากกว่ากาแลกซี่ทางช้างเผือกถึง 1,000 เท่า