ท่าทีผู้นำโลกเมื่อสหรัฐเตรียม "ถล่ม" ซีเรีย

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ว่าสัญญาณการลั่นกลองรบของสหรัฐต่อซีเรียเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นทุกขณะ ขุมกำลังของสหรัฐและพันธมิตรประกาศพร้อมเต็มที่ รอเพียงคำสั่งของประธานาธิบดีบารัค โอบามา คนเดียวเท่านั้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ล้อมรอบซีเรีย รวมถึงประเทศมหาอำนาจอื่นในโลกมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างในสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดเช่นนี้

อิสราเอล
รัฐบาลอิสราเอลประกาศเตรียมพร้อม “อย่างเด็ดเดี่ยวและรัดกุม” เพื่อปกป้องอธิปไตยของตัวเอง หากถูกซีเรียโจมตี เพื่อตอบโต้การยกทัพเข้ากรุงดามัสกัสของสหรัฐและพันธมิตร แม้จะมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด จะหันมาบุกอิสราเอล เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของตะวันตก แต่นายยูวัล สไตนิซ รมว.กระทรวงความมั่นคงและกิจการภายในของอิสราเอลยอมรับว่า  อัสซาดเป็นคนที่เดาใจยากที่สุดในเวลานี้

ตุรกี
หนังสือพิมพ์ “มิลลิเย็ต” สื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของตุรกี ฉบับวันจันทร์ ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นาย อาห์เหม็ด ดาวูโตกลู รมว.กระทรวงการต่างประเทศตุรกี ว่ารัฐบาลอังการาจะปฏิบัติตามแนวทางของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) แต่หากที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่ชัดเจน ตุรกีก็จะพิจารณาการเข้าร่วมกับฝ่ายสหรัฐ

แม้ตุรกีและซีเรียจะเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาตลอดในอดีต แต่นายกรัฐมนตรีเรย์เซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ถือเป็นผู้นำรัฐบาลตุรกีคนแรก ที่ประกาศขอออกมายืนคนละฝั่งกับดามัสกัส พร้อมกับจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน เพื่อรองรับผู้อพยพชาวซีเรียบางส่วน และการส่งกำลังบำรุงให้กลุ่มกบฏเป็นบางครั้ง

เยอรมนี
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนี แสดงจุดยืนในเรื่องการแก้ไขสถานการณ์ในซีเรียด้วยการขอให้ใช้กระบวนการทางการทูตมาตลอด แต่หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ซึ่งทำให้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 1,000 ศพ นายกุยโด เวสเทอร์เวลเลอ รมว.กระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี  แถลงว่า หากผลการตรวจสอบของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ยืนยันว่า รัฐบาลซีเรียคือผู้อยู่เบื้องหลัง เยอรมนีขอเป็นหนึ่งในประเทศที่เห็นด้วยกับการใช้ “มาตรการลงโทษ” อย่างเหมาะสม แต่ไม่กล่าวในรายละเอียดว่า หมายถึงการใช้กำลังทางทหารตามแบบสหรัฐ หรือวิธีทางการทูตตามแบบของยูเอ็น

ฝรั่งเศส
ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ประกาศอย่างชัดเจนว่า จะขอร่วมกับสหรัฐในการใช้กำลังทางทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของซีเรีย โดยยืนยันว่า วอชิงตันและพันธมิตรไม่อาจอยู่เฉยในเรื่องการใช้อาวุธเคมีของรัฐบาลอัสซาดได้อีกต่อไป และต้องเร่งทำอะไรบางอย่างให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก

อังกฤษ
นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ผู้นำอังกฤษ ขอให้มีการเปิดประชุมสภานัดฉุกเฉินในวันพฤหัสบดีที่ 29 ส.ค. เพื่ออภิปรายและร่วมกำหนดแนวทางของอังกฤษต่อสถานการณ์ในซีเรีย แต่กระนั้น คาเมรอนกล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า จะไม่ขออยู่เฉยในเรื่องนี้อีกต่อไป โดยจะขอร่วมกับสหรัฐเพื่อหยุดรัฐบาลซีเรีย ที่กำลังเข่นฆ่าประชาชนของตัวเอง ทั้งนี้ คาเมรอนเป็นผู้นำประเทศมหาอำนาจเพียงคนเดียว ที่โอบามาโทรศัพท์สายตรงไปพูดคุยเรื่องซีเรียถึง 2 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน

รัสเซีย
ทางการรัสเซียแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยต่อการที่สหรัฐจะเป็นแกนนำพากองทัพของตัวเองและพันธมิตรบุกเข้าไปในซีเรีย โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากยูเอ็น นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รมว.กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่าการแทรกแซงทางทหารในซีเรีย มีแต่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงกว่าเดิม มอสโกจะไม่ขอเข้าร่วมกับฝ่ายใดทั้งนั้น

ลาฟรอฟกล่าวด้วยว่า สหรัฐอย่าลืมว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ของยูเอ็นกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในซีเรีย ดังนั้น ทุกฝ่ายควรรอผลการพิสูจน์ที่แน่ชัดจากทีมผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้เสียก่อน ท่าทีของวอชิงตันตอนนี้อาศัยเพียงจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ท และการวิเคราะห์ในกรอบประสบการณ์ของตัวเองเท่านั้น นอกจากนี้ สหรัฐยังไม่เคยแสดง “หลักฐาน” ที่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลซีเรียคือผู้อยู่เบื้องหลังการใช้อาวุธเคมีครั้งนี้เลย

อิหร่าน
ประธานาธิบดีฮัสซัน โรว์ฮานี แห่งอิหร่าน เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศที่ออกมาประณามการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย ทว่าไม่ได้กล่าวโทษฝ่ายใดอย่างเจาะจง อย่างไรก็ตาม โรว์ฮานีร่วมกดดันรัฐบาลซีเรียให้อำนวยความสะดวกและรับรองความปลอดภัยให้แก่ทีมงานของยูเอ็น ที่กำลังลงพื้นที่เพื่อค้นหาหลักฐานการใช้อาวุธเคมีด้วย

แต่กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นี่คือ “มารยาท” ทางการทูต เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ทางการเตหะรานและกลุ่มนักรบหัวรุนแรงฮิซบอลเลาะห์ มอบความช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลซีเรียในหลายด้าน จึงไม่น่าแปลกใจหากที่ประชุมรัฐสภาอิหร่านเมื่อต้นสัปดาห์ จะลงมติให้มีการออก “คำเตือน” ไปยังสหรัฐที่สั้นแต่ได้ใจความว่า หากวอชิงตันเป็นฝ่ายเปิดฉากใช้กำลังทางทหารต่อซีเรีย อิสราเอลซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในภูมิภาคของสหรัฐ จะต้องได้รับ “ผลกระทบ” อย่างแน่นอน
 

28 ส.ค. 56 เวลา 17:59 2,882 4 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...