เรื่องจริงวัยรุ่นยุคใหม่ Gen Z คนเกิดหลัง 1995

ตอนม.ต้น-ปลาย เพื่อนๆคงจะเคยเรียนเรื่องของ Generation กันมาบ้างแล้ว  โดยที่เรารู้กันคือจะมีการแบ่งพัฒนาการของวัยในแบบต่างๆ อย่างเช่น รุ่น Babyboom (Gen B) , Gen X , Gen Y และ Gen Z ซึ่งในแต่ละช่วงวัยนี้เมื่อมาอยู่ร่วมกันในสังคมจะสังเกตุเห็นความขัดแย้ง ความคิด ความแตกต่างกันได้ง่ายมากๆ เช่น พ่อแม่ไม่เข้าใจลูกที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ครูไม่เข้าใจเด็กนักเรียน นั่นก็เพราะ Generation ช่วงยุคสมัยของคนที่เกิดนั้นต่างกัน ทำให้ความคิด การกระทำไม่ตรงใจกันสักเท่าไหร่นั่นเอง วันนี้ teen.mthai มี เรื่องจริงวัยรุ่นยุคใหม่ Gen Z คนเกิดหลัง 1995 มาฝากเพื่อนๆ กันคะ ^^

เรื่องจริงวัยรุ่นยุคใหม่ Gen Z คนเกิดหลัง 1995

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จัก Generation ทั้ง 4 กันก่อนดีกว่า !

Gen B (Baby boomers) : ค.ศ. 1946 กลุ่มคนที่เกิดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  จะเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา  อดทน ให้ความสำคัญกับผลงานแม้ว่าจะต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ   อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะทำงานหนักเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว  มีความทุ่มเทกับการทำงานและองค์กรมาก คนกลุ่มนี้จะไม่เปลี่ยนงานบ่อยเนื่องจาก    มีความจงรักภักดีกับองค์กรอย่างมาก ปัจจุบันนักการตลาดในหลายๆ ประเทศเน้นทำการตลาดกับกลุ่มนี้เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อ มีศักยภาพในการบริโภคสินค้า  มีทัศนคติที่ดีต่อการซื้อจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อตัวเองและบุคคลใกล้ชิด Gen X  (Extraordinary Generation) : ค.ศ. 1965 มีลักษณะพฤติกรรมชอบอะไรง่าย ๆ ไม่ต้องเป็นทางการ ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับครอบครัว (Work – life balance)  มีแนวคิดและการทำงานในลักษณะรู้ทุกอย่างทำทุกอย่างได้เพียงลำพังไม่พึ่งพาใคร มีความคิดเปิดกว้าง พร้อมรับฟังข้อติติงเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง  ในด้านพฤติกรรมการบริโภคจะเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่กล้าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยทำงานในลักษณะใช้ความคิด สมาชิกหลักในครอบครัวทำงานทั้งสองคนใช้ชีวิตแบบทันสมัย Gen Y  (Why Generation)  : ค.ศ. 1980 วัยรุ่น – วัยทำงาน เป็นกลุ่มคนที่โตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี เป็นวัยที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน มีลักษณะนิสัยชอบแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบอยู่ในกรอบและไม่ชอบเงื่อนไข คนกลุ่มนี้ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร  อีกทั้งยังมีความสามารถในการทำงานที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร และยังสามารถทำงานหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน  Gen-Y เป็นผู้บริโภคที่ใจร้อน ต้องการเห็นผลสำเร็จทุกอย่างอย่างรวดเร็วเนื่องจากเชื่อในศักยภาพของตนเอง กลุ่มคน Gen-Y เชื่อว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตจะเกิดขึ้นต้องทำงานหนัก ทำให้มีการแต่งงานช้าลง ไม่ถึง 30 ไม่แต่ง ถ้ามีแฟนแล้วแฟนมีอุปสรรคกับงาน ก็จะเลิกกับแฟนเลือกงาน คนกลุ่มนี้มักเปลี่ยนงานบ่อย มีเครดิตการ์ดมากกว่า 1ใบ ใช้บริการประเภทและมักใช้บริการ Personal Credit มากขึ้น Gen Z  : ค.ศ. 2000 บ้างว่าเป็น iGeneration , internet generation หรือ Silent Generation (เจนเงียบ) เนื่องจากการสื่อสารระหว่างคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารผ่านข้อความบนหน้าจอมือถือ หรือคอมพิวเตอร์แทนการพูด
เรื่องจริงวัยรุ่นยุคใหม่ Gen Z คนเกิดหลัง 1995 

1. สมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะของชาว Gen Z

โทรศัพท์มือถือ ทั้งกลุ่มสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตถือว่าเป็นอวัยวะที่ 33 ของชาว Gen Z ต้องมีลูกเล่นหลายอย่างทั้งโทร ทั้งแชต ถ่ายรูป ฟังเพลง เล่นเกม ดูคลิป ฯลฯ ที่ตอบสนองวงจรชีวิตดิจิทัล โลกออนไลน์สำหรับชาว Gen Z ไม่ใช่โลกเสมือนแต่คือโลกความจริงอีกโลกเลยทีเดียว ฝรั่งให้ลักษณะของ Gen Z ว่า Digital in their DNA เลยทีเดียว โลกดิจิทัลสำหรับคนรุ่นนี้ สำคัญยิ่งกว่าตัวเงินจริงๆ เพราะไม่มีเงินยังยืมเพื่อนได้ แต่ถ้าไม่มีโทรศัพท์ (ไว้แชตหรืออื่นๆ) แทบจะเฉาตายเลยนะเออ

2. Gen Z เป็นมนุษย์ข้อมูลและสถิติที่ห่วงอนาคต

Gen Z ติดโลกออนไลน์ จึงรับข้อมูลข่าวสารมากกมายอย่างรวดเร็ว ทั้งข่าวทันโลก และวิเคราะห์สถิติเรื่องต่างๆ เพื่อคาดการณ์อนาคต ดังนั้น ชาว Gen Z จึงเป็นทั้งคนชอบตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบรอคอย แต่ก็เป็นคนที่กลัวอนาคตด้วย เรียนอะไรดีไม่ตกงาน อาชีพอะไรมั่นคง มีแนวโน้มว่าจะเลือกงานที่เงินดีมากกว่าที่ชอบจริงๆ ข้อมูลที่เข้าหาชาว Gen Z อาจทำให้ Gen Z เองกลายเป็นคนที่กลัวที่จะตัดสินใจเรื่องอาชีพการงานในอนาคต ข้อมูลมาก ก็กลัวมากนั่นเอง

3. Gen Z เชื่อมโลก เชื่อมวัฒนธรรม

คน Gen Z เปิดกว้างทางความคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างมากขึ้น เพราะเพียงลัดนิ้วเดียว ก็สามารถคุยกับเพื่อนต่างชาติที่มีจากอีกซีกโลกได้ แม้ว่าจะต่างพื้นฐานวัฒนธรรมก็อาจมีความชอบความบันเทิงเดียวกัน ซึ่งการเชื่อมโลกแบบนี้ ทำให้ Gen Z มีความรู้สึกเปิดกว้างในการยอมรับความแตกต่างได้ง่ายมากขึ้น มีแนวโน้มที่จะปรับทัศนคติได้ดี ไม่แบ่งแยกชนชั้น สีผิว ศาสนา หรือประเพณีที่แตกต่าง แต่ก็อาจจะยิ่งเทิดทูนความเป็นทุนนิยมมากขึ้น

4. Gen Z ทำเพื่อตัวเองก่อน

มีผลการศึกษาที่สอบถามว่าหากชาว Gen Z มีเงิน หรือได้เงินมากจากงานใดๆ ก็ตามมีแนวโน้มที่จะใช้เงินเพื่อตัวเองก่อน เช่น ซื้อของที่อยากได้ แล้วใช้เก็บออมเป็นอันดับต่อมา และเพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นเพื่อการกุศล แต่อย่างไรก็ตามชาว Gen Z ค่อนข้างจะรู้สึกมีส่วนร่วมกับสถานภาพฐานะของครอบครัว จะพิจารณาว่าจะซื้ออะไร หรือจะทำอะไรเพื่อช่วยครอบครัวประหยัดมากขึ้น มีนิสัยที่จะพยายามทำอะไรด้วยตนเองมากขึ้น เรียกร้องสิทธิ์ตัวเอง ชอบอิสระเสรี รู้จักเก็บออมเพื่ออนาคตมากขึ้น แต่ก็ตามลักษณะนิสัยพื้นฐานของแต่ละคนด้วย

5. Gen Z มีแนวโน้มเป็นมนุษย์หลายงาน ความอดทนต่ำ
ชีวิตดิจิทัลที่รวดเร็วทำให้เด็กรุ่น Gen Z มีความอดทนรอคอยต่ำ ชอบทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน ในมุมหนึ่งอาจมองว่าการทำหลายๆ อย่างพร้อมกันเป็นเรื่องดูเก่ง แต่จริงๆ การทำการบ้าน ฟังเพลง ดูทีวี แชตกับเพื่อน และคุยกับแม่ หรืออื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน ทำให้ประสิทธิภาพในการรับรู้และการทำงานแต่ละชิ้นลดลงโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งในส่วนนี้พ่อแม่ของชาว Gen Z ต้องสอนให้เด็กรุ่นนี้มีสมาธิกับงานด้วย ที่สำคัญต้องระมัดระวังอย่าให้ติดอยู่ในโลกดิจิทัลมากนัก ไม่อย่างนั้นอาจมีปัญหาติดเทคโนโลยีอย่างอาการติดอินเทอร์เน็ต (Internet addiction) อาการความจำเสื่อมเพราะโลกดิจิตอล (Digital Dementia) เป็นต้น

6. Gen Z ยังต้องการความรักและความห่วงใย

แม้ Gen Z จะมี DNA เป็นรหัสดิจิทัล แต่การพูดคุยติดต่อผ่านเทคโนโลยีอย่าง facebook หรือโซเซียลมีเดียอื่นๆ ก็ยังไม่สามารถแทนที่การคุยจริงๆ ได้ แม้จะมีอิโมติคอนมากมายก็ตามแต่เรื่องบางเรื่องข้อความไม่สามารถสื่อความรู้สึกที่แท้จริงได้ และเด็กๆ ทุกคนก็ยังต้องการความเข้าใจจากผู้ใหญ่ อันเป็นพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว ยังอยากให้ผู้ใหญ่แสดงความรู้สึกห่วงใย แม้ว่าจะต้องการโลกส่วนตัวขนาดไหนก็ตาม ผู้ใหญ่ต้องปรับตัวมากที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของเทคโนโลยีเท่าๆ กับที่วิถีของชาว Gen Z ที่รวดเร็วเช่นกัน

7. โลกเร็ว ฉันเร็ว

ฮีโร่ของ Gen Z มักเป็นคนดังที่อายุใกล้เคียงตัวเอง ที่สร้างแรงบันดาลใจได้ อย่างดารา นักร้อง นักเขียน มากกว่าฮีโร่ตัวอย่างเศรษฐีพันล้านที่ประสบความสำเร็จจากเสื่อผืนหมอนใบแบบเมื่อสามสิบก่อน เพราะเทคโนโลยีตอบสนองได้แทบทุกอย่าง ชาว Gen Z จึงคิดว่า “ทำได้ทุกอย่าง” ดังนั้นชาว Gen Z แล้ว แทบจะไม่เข้าใจในเรื่อง ช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงามเท่าไหร่ ชอบที่จะประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แบบฮีโร่คนดังแต่เด็กทั้งหลาย สิ่งที่ทำ ก็อยากให้เห็นผลเร็วๆ แต่ในชีวิตจริง มันไม่มีอะไรที่ได้ผลรวดเร็วเสมอไป ดังนั้นวัยรุ่น Gen Z และครอบครัวต้องสอนเรื่องช้าๆ แต่ชัวร์ หรือ การค่อยๆ พยายามสั่งสมเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่สำเร็จ

8. Gen Z เป็นเจ้าหนูจำไม (ทำไม)

ชาว Gen Z ต้องการคำอธิบายมากขึ้น ต้องมีเหตุผล ต้องรู้สึกว่าได้เข้าใจกับทุกเรื่องในชีวิต อยากมีส่วนร่วมในครอบครัว ต้องการตัดสินใจชีวิตตัวเอง (แม้จะสับสนและกลัวอนาคตก็ตาม) ดังนั้นจึงกล้าคิดกล้าและกล้าถามมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน หมดยุคของการที่วัยรุ่น Gen Z (และ Gen Y ตอนปลาย) จะยอมรับเหตุผลแค่ว่า “ไม่ต้องยุ่งหรอก เรื่องของผู้ใหญ่” แล้ว ผู้ใหญ่จึงควรเปิดโอกาสให้ Gen Z คิด และแสดงความคิดเห็นเรื่องในครอบครัวด้วย หากกีดกันหรือไม่อธิบายอะไรจะระเบิดได้ง่ายๆ หรือหากไม่พอใจคำอธิบาย เขาก็จะไปหาคำอธิบายจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจจะมีทั้งดีและร้ายปะปนกันไป ดังนั้นควรการเปิดโอกาสให้ได้คิด สอนการแสดงเหตุผลอย่างถูกต้อง อธิบายย่างตรงไปตรงมาดีกว่า

9. Gen Z หาความรู้ได้ทุกที่

การเรียนรู้ของชาว Gen Z เน้นผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น ถ้าสามารถจัดห้องเรียน จัดบ้านนำเอาเทคโนโลยีมาเสริมกับกิจกรรม ให้แรงจูงใจ มีการแข่งขัน มีรางวัล จะช่วยให้ชาว Gen Z กระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น บอกเลยว่า Gen Z เกลียดการเรียนแบบบรรยายมากๆ แล้วก็ชอบข้อมูลแนวกราฟ ภาพ สถิติชัดเจน เน้นข้อมูลสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายๆ เพราะมีแนวโน้มว่าชาว Gen Z จะเริ่มต้นจดจำข้อมูลได้ดีจากข้อมูลสั้นๆ เหล่านี้ ตามแบบฉบับโลกออนไลน์ที่ข้อมูลไหลเร็วไงล่ะ ที่สำคัญชาว Gen Z มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นจึงเข้าถึงข้อมูลความรู้ได้อย่างไม่จำกัด ครูและพ่อแม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ได้ แต่ก็ต้องตามทันลูกหลานด้วยนะ!

Credit: news@mthai.com
28 ส.ค. 56 เวลา 09:30 982 1 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...