เพื่อนๆ เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า เดือนทั้ง 12 เดือนที่เราเรียกกันเนี่ย มันมีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง? ตั้งชื่อเดือนตามอะไร ใครตั้ง วันนี้เรามาหาคำตอบเรื่องนี้กันดีกว่าคะ ^^ ที่มาของชื่อทั้ง 12 เดือน
ที่มาของชื่อทั้ง 12 เดือน
เท่าที่มีหลักฐานปรากฏ มนุษย์รู้จักการทำและการดูปฏิทินมาตั้งแต่ก่อนที่จะรู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรโดยการสังเกตจากการโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว จากนั้นก็นำก้อนหินมาวางเรียงกันไว้เป็นสัญลักษณ์บอกช่วงเวลา อย่างเช่น Stonehenge ที่อังกฤษ หรืออย่างชาวสุเมเรียนผู้ครองดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อกว่า 3,700 ปีก่อน ค.ศ. ได้แบ่งช่วงเวลา 1 ปี ออกเป็น 12 เดือน และกำหนดให้วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ (Vernal Equinox) เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่งระยะเวลากลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน ซึ่งต่อมาชาวไอยคุปต์นำความรู้นี้ไปพัฒนาต่อยอดอีกมากมาย
ส่วนทางฟากฝั่งยุโรป เมื่อราว 2,700 ปีก่อน กษัตริย์ผู้สร้างกรุงโรมได้กำหนดปฏิทินแบบจันทรคติขึ้นโดยกำหนดให้ 1 ปีมี 10 เดือน หรือ 304 วัน (แต่ละเดือนมีจำนวนวันแตกต่างไปจากปฏิทินในยุคนี้)
นับจากมีนาคมเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่ไปจนถึงธันวาคม คือ Martius, Aprilis, Maius, Junius, Quintilis, Sextilis, September, October, November และ December 4 เดือนแรกมาจากชื่อเทพเจ้าและชื่ออื่นๆ ส่วน 6 เดือนหลังมาจากคำเรียกเลขตามลำดับ Quintus = 5, Sextus = 6, Septem = 7, Octo = 8, Novem = 9, Decem = 10 ปฏิทินนี้เป็นที่รู้จักและใช้ต่อกันเรื่อยมาจนถึงประมาณ 738 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นเดือน January และ February ได้ถูกเพิ่มขึ้นโดยกษัตริย์โรมันนามว่า “Numa Pompilius” ทำให้เดือน October เลื่อนไปอยู่เดือนที่สิบ (อันที่จริงแล้ว Octo แปลว่าแปด)
เดือนมกราคม (January)
ตั้งตามชื่อเทพเจ้า “Janus” (ชื่อเดิมคือ Ianuarius) ตามตำนานเทพปกรณัมของชาวโรมัน Janus เป็นเทพผู้ควบคุมจักรวาล เทพผู้รักษาประตูสวรรค์ เป็นผู้เปิดและผู้ปิดสรรพสิ่ง รวมทั้งประตูสวรรค์ ประตูรั้ว กระทั่งประตูบ้านคน เป็นเทพแห่งการเริ่มต้นและการเปลี่ยนผ่านของชีวิต จากเก่าไปใหม่ จากอดีตสู่อนาคต จากสิ่งที่ผ่านไปแล้วกับสิ่งที่กำลังจะเกิด ชาวโรมันจินตนาการภาพของเจนัสว่าเป็นเทพที่มีสองพักตร์ พักตร์หนึ่งหันมาด้านหน้า ส่วนอีกพักตร์หนึ่งอยู่ทางด้านหลัง ด้วยเหตุที่ทรงรู้ทั้งอดีตและอนาคต ถือเป็นคติของการเริ่มต้นใหม่ วันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่
เดือนกุมภาพันธ์ (February)
ตั้งตามชื่อเทพเจ้าองค์หนึ่งของเทพปกรณัมโรมันที่มีนามว่า “Februus” (มีชื่อเรียกที่เก่าแก่กว่าคือ “Februa” และ Februalia) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความตายและความบริสุทธิ์ เทพองค์นี้เป็นเทพที่ชาวอิทรัสกันบูชา
เดือนมีนาคม (March)
เป็นชื่อเดือนแรกของปีในปฏิทินรูปแบบเดิมของชาวโรมัน ชื่อในภาษาอังกฤษ March มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Martius” หมายถึงเทพเจ้า “Mars” เทพแห่งสงครามซึ่งมีนัยยะว่าเป็นปีที่ดีในการเริ่มต้นทำสงครามเพื่อขยายอาณาจักรสำหรับชาวโรมัน
เดือนเมษายน (April)
ชื่อในภาษาอังกฤษ April มาจากคำว่า “Aprilis” มาจากรากศัพท์ภาษาละตินว่า “Aperire” แปลว่า “เปิด” หรือ “ผลิดอกออกผล” ซึ่งอาจหมายถึงการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ และอาจมาจาก “Apru” ชื่อเทพีแห่งความรักในภาษาของชาวอิทรูเรีย
เดือนพฤษภาคม (May)
ชื่อเดือนนี้ตั้งตามชื่อเทพธิดาของกรีกที่มีชื่อว่า “Maia” ซึ่งในสมัยโรมันเทพองค์นี้หมายถึงเทพธิดาแห่งการเจริญเติบโตและความอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามมีกวีชาวโรมันได้บันทึกถึงที่มาของคำนี้ว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Maiores” ซึ่งมีความหมายว่า “Elder” หรือสูงวัยกว่า
เดือนมิถุนายน (June)
ชื่อในภาษาอังกฤษ June มีที่มาจากเทพเจ้าโรมันนามว่า “Juno” หรือ “Hera” เป็นเทพธิดาแห่งการแต่งงานและเป็นเทพธิดาของคู่บ่าวสาว จึงมีความเชื่อว่าหากแต่งงานในเดือนนี้จะโชคดี อีกความเชื่อหนึ่งเชื่อว่าเดือนนี้มาจากคำว่า “Juveins” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “Iuniore” แปลว่า “หนุ่ม” หรือ “วัยรุ่น”
เดือนกรกฎาคม (July)
ชื่อเดิมของเดือนนี้คือ “Quintilis” หมายถึงเดือนลำดับที่ 5 ของปฏิทินโรมันแบบดั้งเดิม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเดือนเป็น July เป็นอนุสรณ์แด่ ”Julius Caesar” แห่งอาณาจักรโรมัน
เดือนสิงหาคม (August) ชื่อเดิมของเดือนนี้ “Sextilis” หมายถึงเดือนลำดับที่ 6 ของปฏิทินโรมันแบบดั้งเดิม คือ ตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ ”Augustus Caesar” จักรพรรดิของชาวโรมัน
เดือนกันยายน (September) เป็นเดือนลำดับที่ 7 ในปฏิทินโรมันแบบดั้งเดิม ตั้งมาจากภาษาละตินว่า “Septem” แปลว่า “เจ็ด”
เดือนตุลาคม (October) เป็นเดือนลำดับที่ 8ในปฏิทินโรมันแบบดั้งเดิม ตั้งมาจากภาษาละตินว่า “Octo” แปลว่า “แปด”
เดือนพฤศจิกายน (November) เป็นเดือนลำดับที่ 9 ในปฏิทินโรมันแบบดั้งเดิม ตั้งมาจากภาษาละตินว่า “Novem” แปลว่า “เก้า”
เดือนธันวาคม (December) เป็นเดือนลำดับที่ 10 ในปฏฺทินโรมันแบบดั้งเดิม ตั้งมาจากภาษาละตินว่า “Decem” แปลว่า “สิบ”
ด้านที่มาของชื่อเดือนของไทย สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคิดตั้งชื่อเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยทรงใช้ตำราจักรราศี หรือการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปี ประกอบด้วย 12 ราศี ตามวิชาโหราศาสตร์มาใช้กำหนดชื่อเดือนทั้ง 12 เดือน แบ่งเดือนที่มี 30 วัน และเดือนที่มี 31 วัน ให้ชัดเจน ด้วยการลงท้ายเดือนต่างกัน คือ คำว่า “ยน” และ “คม”
ส่วนคำนำหน้านั้นมาจากชื่อราศีที่ปรากฏในช่วงเวลานั้นๆ เป็นวิธีนำคำ 2 คำมา “สมาส” กัน คำต้นเป็นชื่อราศี คำหลังคือคำว่า “อาคม” และ “อายน” แปลว่า “การมาถึง” เริ่มตั้งแต่…
มกราคม คือ มกร (มังกร) + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมังกร
กุมภาพันธ์ คือ กุมภ์ (หม้อ) + อาพนธ แปลว่า การมาถึงของราศีกุมภ์
มีนาคม คือ มีน (ปลา) + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีมีน
เมษายน คือ เมษ (แกะ) + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีเมษ
พฤษภาคม คือ พฤษภ (วัว,โค) + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีพฤษภ
มิถุนายน คือ มิถุน (ชายหญิงคู่) + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีมิถุน
กรกฎาคม คือ กรกฎ (ปู) + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีกรกฎ
สิงหาคม คือ สิงห (สิงห์) + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีสิงห์
กันยายน คือ กันย (สาวพรหมจารี) + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีกันย์
ตุลาคม คือ ตุล (ตาชั่ง ตราชู) + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีตุล
พฤศจิกายน คือ พิจิก, พฤศจิก (แมงป่อง) + อายน แปลว่า การมาถึงของราศีพิจิก
ธันวาคม คือ ธนู (ธนู) + อาคม แปลว่า การมาถึงของราศีธนู
อีกทั้งกำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ของไทย คือเดือนเมษายน เดือน 4 ทางสุริยคติ แต่เป็นเดือน 5 ทางจันทรคติ ใช้มาจนถึง พ.ศ. 2483 จากนั้นวันที่ 1 มกราคม 2484 จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบสากลนิยมปีแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 และทรงใช้คำว่า “ปฏิทิน” แทน “ประติทิน” มาโดยตลอด ลงไว้ในประกาศวิธีนับวัน เดือน ปี ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455