หลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวละคร Rainman ของดัสติน ฮอฟแมนที่ได้รางวัลออสการ์ปี 1988 นั้นสร้างขึ้นจากคนที่มีตัวตนจริง คิม พีค ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อต้นเดือนนี้ แบร์รี่ มอร์โรว์ ค้นพบคิมและเขียนบทภาพยนตร์ดังกล่าว เรนแมนไม่ได้สร้างจากชีวิตจริงของคิม แต่เขาเป็นตัวละครแรงบันดาลใจ
สมองของคนเราทำงานได้อย่างมหัศจรรย์อย่างที่คนเราคาดไม่ถึง ไม่มีใครรู้ว่าทำไมการที่คนคนหนึ่งไม่มีคอร์ปัส คอรอสซั่มที่เป็นไฮเวย์เชื่อมสมองซีกขวาและซ้ายเข้าด้วยกัน เมื่อขาดหายไป กลับทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนปัญญาอ่อนที่น่ามหัศจรรย์
คิมเป็น Savant (ซาวองค์ เป็นคำเรียกคนที่มีความผิดปกติทางสมอง แต่กลับมีความสามารถทางสมองในบางมิติได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ดร. ดาวน์ ผู้คิดคำว่า Down Syndrome เป็นคนคิดคำนี้ขึ้นมา คำจำกัดความของอาการซาวองต์ ซินโดรมคือ "extraordinary memory but with a great defect in reasoning power" ---มีความจำที่สุดมหัศจรรย์แต่ขาดมิติในการพินิจพิเคราะห์อย่างถึงที่สุด ว่ากันว่ามีคนชนิดนี้ที่กำลังถูกศึกษาเพื่อเรียนรู้มิติการทำงานของสมองมนุษย์อยู่ไม่ถึง 30 คนในโลก) ซาวองต์กับออทิสติกไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าซาวองค์ทุกคนต้องเป็นออทิสติก
เมื่อแรกเกิด คิมถูกวินัจฉัยว่าปัญญาอ่อนเกินเยียวยา และควรถูกส่งเข้าสถานพยาบาลโดยไม่ต้องนึกถึงอีก แต่พ่อของคิมไม่ยอม เขาตั้งใจเลี้ยงดูคิมด้วยตนเองแม้่ว่าไม่เห็นความหวัง
พอสองขวบ คิมแสดงอัจฉริยภาพโดยการอ่านหนังสือทั้งหมดในบ้าน ไม่มีใครสอนให้คิมอ่าน ไม่มีใครรู้ว่าคิมเรียนรู้ในการอ่านได้อย่างไร วิธีที่คิมอ่านหนังสือคือ สแกนตาซ้ายที่หน้าซ้าย และสแกนตาขวาที่หน้าขวาของหนังสือ หนึ่งหน้ากระดาษที่อ่านทำให้คนธรรมดาใช้เวลาหลายนาที คิมอ่านได้เพียงไม่กี่วินาที และจำทุกอย่างที่อ่านได้หมด!
ก่อนหน้าที่คิมจะถูกค้นพบและถูกใช้เป็นคาแรคเตอร์พื้นฐานใน Rainman เขาไ่ม่กล้าแ้ม้จะสบตาผู้คน เขาไม่รู้ว่าภายใต้ความพิการที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ปกติจะมีอะไรบางอย่างให้ภูมิใจ
คิมจำทุกอย่างที่อ่านได้ และคิมอ่านหนังสือราวกับเขาเป็นหลุมดำที่ดูดข้อมูลทุกอย่างให้หายวับไป ภายหลังเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน คิมพัฒนาความสามารถทางด้านดนตรีขึ้นมาจนเป็นเหตุให้พ่อกับคิมตกลงว่าจะไม่ไปดูการแสดงสดอีก เพราะบ่อยครั้งคิมจะลุกขึ้นตะโกนขณะดนตรีกำลังเล่นอยู่ว่า "เดี๋ยวก่อนนะ ตะกี้เล่นผิดคีย์แล้ว"
ดัสติน ฮอฟแมน พูดกับคิมเมื่อพบกันว่า I may be a star but you are the heaven. แบร์รี่ มอร์โรว์ มอบรางวัลออสการ์ที่ได้รับจากการเขียนบทเรื่องเรนแมนให้แก่คิม คิมได้รับเชิญให้เดินทางไปทั่วอเมริกาพร้อมกับตุ๊กตาออสการ์ัตัวนั้น ผู้คนมากมายต้องการทดสอบความจำของเขาด้วยคำถามมากมากทั้งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ดนตรี ศิลปะ บุคคลสำคัญของโลก คณิตศาสตร์ วรรณกรรม ความรู้ทั่วไป และคิมไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง
ในสารคดีชีวประวัติของคิม มีตอนหนึ่ง พ่อและลูกชายที่ต่างสูงวัยด้วยกันทั้งคู่เิดินเคียงกันไปท่ามกลางแมกไม้ในบรรยากาศมืดครื้ม ก่อนหน้านั้น คิมหัวเราะร่า "ผมกับพ่อ เราร่วมแบ่งปันเงาเดียวกัน" พ่อของคิมยอมรับ พวกเขาเป็นเงาของกันและกัน แม้จะมีสมองประหนึ่งมนุษย์กูเกิ้ล แต่คิมผู้พิการทางสมองมีความสามารถในการปฏิสัมพันธ์กับสังคมแทบเป็นศูนย์ พ่อของเขาต้องดูแลและทำทุกอย่างให้คิมราวกับเขาเป็นเด็กไม่กี่ขวบ เช่น คิมช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แม้กระทั่งแปรงฟัน แน่นอนว่านั่นเป็นงานหนักสำหรับพ่อวัยไม้ใกล้ฝั่ง
ความพลัดพรากจากความตายดูน่าเศร้า แต่ว่าลึกๆ ในใจของพ่อของคิม นี่คงเป็นพรจากสวรรค์ การที่ได้เกิดมาดูแลและเป็นเงาเดียวกันกับลูกชายที่เขารักที่สุด ได้ร่วมแบ่งปันคิมกับชาวโลก เมื่อความตายของลูกชายมาเยือนอย่างกะทันหันในวัย 58 ปี นั่นย่อมเป็นสิ่งที่น่ายินดีสำหรับพ่อที่พูดทั้งน้ำตาว่ากลัวตัวเองจะตายก่อนลูก
Rest in Peace, Kim, you are the best documented savant ever. And the world should be proud to have you here.
- คิม พีค มีความสามารถพิเศษในเรื่องของความจำ ตั้งแต่อายุได้ขวบครึ่ง ใครอ่านหนังสืออะไรให้ฟัง เขาก็จะจำได้หมด ตอน 3 ขวบหัดอ่านหนังสือออกได้ด้วยตัวเอง และจากนั้นมา เขาก็ไล่อ่านไล่ท่องมาเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ สามารถจดจำข้อความในหนังสือทุกหน้าทุกบรรทัดได้อย่างขึ้นใจรวมทั้งหมดแล้วประมาณ 12,000 เล่ม!
- คิมใช้เวลาประมาณ 8-10 วินาทีในการอ่านหนังสือ 1 หน้า และสามารถอ่านได้ 2 หน้าพร้อมๆ กันทีเดียว โดยใช้ตาซ้ายอ่านหน้าซ้าย และตาขวาอ่านหน้าขวา ข้อมูลทุกอย่างที่เคยอ่านผ่านตามา สมองเขาจะสามารถเซฟเก็บลงฮาร์ดดิสก์ไว้ได้หมด ทุกความรู้ ทุกรายละเอียด ถ้าคุณไปถามอะไรเขา เขาจะสามารถเสริชจากความจำของตัวเองมาตอบได้อย่างรวดเร็วเสียยิ่งกว่าใช้ Google ซะอีก
- ที่ยิ่งน่าทึ่งเข้าไปอีก คิมสามารถ คิดคำนวณปฏิทินในใจ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากๆ เช่นสมมติ คุณบอกวันซักวันนึงไป ปีไหนก็ได้ อย่างเช่น 8 กุมภา ค.ศ. 1543 เขาก็จะสามารถบอกกลับมาได้ทันที ว่าวันนั้นเป็นวันพุธ หรือวันจันทร์ หรือวันพฤหัส ฯลฯ โดยที่ใช้เวลาคิดเพียงแค่ไม่ถึงเสี้ยวพริบตาเท่านั้น