สธ.ห่วงโจ๋ติด "ไลน์" ทำก้าวร้าว

นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตนห่วงพฤติกรรมคนไทยในการใช้โทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชนิดสมาร์ตโฟน ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะโปรแกรมแอพพลิเคชั่นไลน์ (LINE) ที่นิยมใช้ในการส่งข้อความ เช่น ส่งการบ้าน ข้อความสั้น ส่งรูปถ่ายส่วนตัว รูปทั่วไป คลิปเสียง สติ๊กเกอร์ต่างๆ และใช้ฟรีตลอดเวลา โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2555 พบว่า ในกลุ่มประชาชนอายุ 6 ขวบขึ้นไป ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในเขตกทม.มีการใช้มากที่สุด ร้อยละ 84 ภาคกลาง ร้อยละ 75 ภาคเหนือ ร้อยละ 68 ภาคใต้ ร้อยละ 67 และต่ำสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ร้อยละ 64 

นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า การเล่นไลน์มีทั้งผลดีและผลเสีย ด้านดีอาจสร้างความสะดวกในการสื่อสาร ส่วนผลกระทบที่เป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังมีวุฒิภาวะน้อย หากผู้ปกครองไม่ชี้แนะ ดูแล ควบคุมการใช้อย่างจริงจัง อาจจะเกิดผลกระทบทั้งสุขภาพกายและจิต ที่น่าห่วงคือ การเกิดพฤติกรรมก้มหน้า สังคมก้มหน้า การสื่อสารแบบเผชิญหน้าจะลดน้อยลง อยู่ในโลกส่วนตัวมากเกินไป ขาดความระมัดระวัง อาจเกิดปัญหาอุบัติเหตุจราจรได้ง่ายขึ้น 

ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เด็กบางคนเล่นไลน์ทุกวัน จนอาจทำให้สูญเสียการใช้ชีวิตประจำวันของวัยเด็ก เช่น การพัฒนาการเรียนรู้เรื่องสัมพันธภาพ การเล่นจนติดเป็นนิสัยจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง เพราะใช้ชีวิตทางการสื่อสารทางตัวหนังสือ หรือใช้ภาพการ์ตูนสะท้อนภาวะอารมณ์แทนที่พฤติกรรมจริงที่มีโอกาสแต่ไม่ได้กระทำ ผู้ปกครองควรวางกติกาให้กับเด็กในการเล่น ต้องติดตามดูแลใกล้ชิด โดยการสอนและให้ข้อคิดในการใช้งาน สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เปิดให้บริการปรึกษาแก่เด็กและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานติดโทรศัพท์มือถือ หรือติดเกม โทร. 0-2248-8990 หรือสายด่วนสุขภาพจิต 1323

26 ส.ค. 56 เวลา 18:00 535 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...