"นิวยอร์กไทมส์"แนะอียิปต์ยึดแนว"ปูโมเดล"-ยุติรุนแรงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ-ยอมต่อรองเพื่อความสงบ

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สื่อชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์บทความชื่อ "อียิปต์จะเรียนรู้จากไทยได้หรือไม่?" เขียนโดยนายโจนาธาน เทปเปอร์แมน บรรณาธิการของนิตยสาร "ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส" ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ

นายเทปเปอร์แมนระบุในบทความดังกล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นบุคคลที่สามารถต่อรองกับกลุ่มต่างๆ ในการเมืองไทย และพลิกสถานการณ์จากสภาวะความไม่สงบต่างๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนประเทศไทยกลับมาดำรงเสถียรภาพได้ ต่างจากประเทศอียิปต์ยังอยู่ในวิกฤตวุ่นวายจากการเดินหน้าปราบปรามฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล

นายเทปเปอร์แมนกล่าวว่า ปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยเริ่มขึ้นจากรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างกองทัพ กลุ่มนิยมสถาบัน และกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างฝ่ายเสื้อเหลืองที่พยายามพิทักษ์ระบอบ "กึ่งศักดินา" ในไทย กับฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนในต่างจังหวัดและเขตเมืองที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ

บทความระบุอีกว่า เกิดความวุ่นวายทางการเมืองมาตลอด จนกระทั่งเกิดการสลายการชุมนุมของฝ่ายเสื้อแดงในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 90 ราย และน.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชนะการเลือกตั้งในปีถัดมา ซึ่งผลที่ตามมาคือไทยพลิกกลับมาอยู่ในความสงบ เศรษฐกิจเติบโต และการท่องเที่ยวก็คึกคักอีกครั้ง โดยความสำเร็จของน.ส.ยิ่งลักษณ์มาจากการปราบปรามพฤติกรรมทุจริต ต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม และมุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

โดยนายเทปเปอร์แมนมองว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์เริ่มแผนการช่วยเหลือคนจนในประเทศจากการสร้างเสถียรภาพก่อน ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีรถคันแรก ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ทำให้ชนชั้นล่างและกลางพอใจ ขณะเดียวกันก็ลงทุนด้านสาธารณูปโภคและลดภาษี เพื่อเอาใจกลุ่มธุรกิจและคนร่ำรวย

"นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยไม่แตะต้องกองทัพซึ่งมีบทบาทในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และไม่แก้ไขมาตรา 112 แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมให้พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นบุคคลที่ชนชั้นสูงต่อต้านกลับมายังประเทศ ไทยเช่นกัน"

ผู้เขียนระบุด้วยว่า การยอมต่อรองกับฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้ทำให้อำนาจไม่เป็นประชาธิป ไตยเข้ามาจำกัดบทบาทของรัฐบาล ขณะที่รัฐบาลก็ยอมให้มีการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก ด้านครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ต่างไม่พอใจเพราะเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่จริงจังในการดำเนินคดีกับผู้สั่งการ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลกระทบที่ย่ำแย่

นายเทปเปอร์แมนวิเคราะห์ว่า แต่สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพ ไม่มีการต่อสู้กันบนท้องถนน ประเทศไทยก็มีโอกาสพัฒนาประชาธิป ไตยในระยะยาวได้ต่อไป

"ความไม่สมบูรณ์ของการต่อรองครั้งใหญ่ของน.ส.ยิ่งลักษณ์สะท้อนว่าเป็นการต่อรองที่ดี เพราะแสดงว่าทุกคนรู้สึกว่าตนไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ซึ่งก็แปลว่าไม่มีใครได้สิ่งที่ตัวเองต้องการทุกอย่าง" นายเทปเปอร์แมนระบุ

บ.ก.ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส สรุปว่า ถึงแม้การต่อรองนี้เป็นสันติภาพที่เปราะบาง เพราะอาจเกิดความวุ่นวายได้หากพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับไทย และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศเพิ่มพูนขึ้นกว่านี้ แต่ก็ยังดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เลือกที่จะเจรจาต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะเดินหน้าชนกับฝ่ายตรงข้ามท่าเดียว

"แน่นอนว่าการต่อรองนี้มีความยุ่งยากอยู่ แต่ก็เป็นความยุ่งยากที่ประเทศอื่นๆ อย่างอียิปต์ เวเนซุเอลา ซิมบับเว ได้แต่ฝันถึงในขณะนี้" นายเทปเปอร์แมนสรุป 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...