กรมอนามัย เผย “ตะขบ” มีใยอาหาร แคลเซียม และโพแทสเซียมสูง ช่วยดูดซับคอเรสเตอรอล ลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้และเส้นเลือดสมองแตก
นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการของกองโภชนาการ เกี่ยวกับปริมาณใยอาหาร น้ำตาล และแร่ธาตุในผลไม้ พบว่า ผลไม้ในส่วนที่รับประทานได้ 100 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 76-94 กรัม มีใยอาหาร 0.5-6.3 กรัม มีน้ำตาลรวม 3-18 กรัม และมีพลังงาน 33-97 กิโลแคลอรี ซึ่งผลไม้ที่มีใยอาหารสูง ได้แก่ ตะขบ 6.3 กรัม, ฝรั่งแป้นสีทอง 3.3 กรัม, ลูกหว้า 3.3 กรัม และฝรั่งกิมจู 3.1 กรัม
สำหรับผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง ได้แก่ ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม 18 กรัม, องุ่นดำไร้เมล็ด (ลูกใหญ่) 15 กรัม, ลิ้นจี่จักรพรรดิ 13 กรัม, สละ 13 กรัม และองุ่นแดง (ลูกใหญ่) 13 กรัม ส่วนผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย ได้แก่ เนื้อมะพร้าวอ่อน 3 กรัม, ลูกหว้า 5 กรัม, ลูกตาลอ่อน 5 กรัม, ราสเบอร์รี 6 กรัม และแคนตาลูป (เขียว) 6 กรัม นอกจากนี้ยังพบว่าผลไม้ส่วนใหญ่มีพลังงานน้อย เพราะมีน้ำเป็นองค์ประกอบค่อนข้างมาก จากการศึกษาครั้งนี้พบ ตะขบและมะม่วงเขียวเสวย (ดิบ) มีพลังงานมากกว่าผลไม้อื่นคือมี 97 และ 87 กิโลแคลอรีต่อ 100 กรัม
จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ตะขบ ฝรั่ง และ ลูกหว้า เป็นผลไม้ที่มีใยอาหารสูง ส่วนผลไม้ที่มีน้ำตาลมาก เช่น ลิ้นจี่ และ องุ่น อาจเป็นผลไม้ที่ควรระวัง หรือต้องห้ามสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน แต่แนะนำให้กิน เนื้อมะพร้าวอ่อน หรือ ลูกตาลอ่อน ทดแทนได้ เพราะมีน้ำตาลน้อย ส่วนผลไม้ที่มีโซเดียมน้อย จะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ขณะที่ปริมาณโพแทสเซียมในผลไม้จัดเป็นแร่ธาตุหลักที่พบ ซึ่งหากมีมาก อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางชนิดได้ รวมการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกได้เช่นกัน