นักวิทยาศาสตร์เข้าใกล้กำเนิด "อดัม" กับ "อีฟ" หลังแกะรอยตามหาบรรพบุรุษของมนุษย์ยุคปัจจุบันจากดีเอ็นเอของชายหนุ่มและ สืบหาต้นตระกูลมนุษย์ย้อนกลับไปได้กว่าแสนปี
"อดัม" กับ "อีฟ" ที่นักวิทยาศาสตร์เอ่ยถึงนี้ ไม่ใช่ อดัมกับอีฟที่เป็นมนุษย์คู่แรกบนโลกในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล หากแต่เป็นมนุษย์ยุคใหม่สองคน จากมนุษย์ยุคใหม่หลายพันหลายหมื่นคนหรืออาจมากกว่านั้น ที่เคยดำรงชีวิตอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ และมีการสืบเชื้อสายถ่ายทอดดีเอ็นเอมาสู่ลูกหลาน ซึ่งก็คือมนุษย์ชายหญิงในปัจจุบันนี้นี่เอง
ผลสรุปล่าสุดของทีมนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์และโบราณคดีในสหรัฐฯ ที่เปิดเผยในวารสารไซน์ (Science) เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่าจากการศึกษาดีเอ็นเอในโครโมโซมเพศชาย หรือโครโมโซมวาย (Y chromosome) สามารถสืบหา "อดัม" ผู้เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ฝ่ายชายย้อนกลับไปได้ถึง 135,000 ปีก่อน
ยิ่งไปกว่านั้น อดัมน่าจะใช้ชีวิตบนโลกร่วมยุคเดียวกับ "อีฟ" มนุษย์หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นมารดาของหญิงสาวทั้งปวงในปัจจุบัน ซึ่งข้อสรุปนี้ได้หักล้างผลงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่บอกว่าบรรพบุรุษร่วมซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์เพศชายในปัจจุบันนั้น มีชีวิตอยู่เมื่อราว 50,000-60,000 ปีก่อนนี่เอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอดัมและอีฟที่เคยมีชีวิตอยู่ในสมัยโบราณกาลจะมีช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน แต่ทั้งสองก็ไม่น่าจะเคยได้อยู่ใกล้กันเลย ไม่แม้แต่จะได้ครองคู่กัน
"พวกเค้าทั้งสองคนไม่รู้จักกัน" คำบอกเล่าของเมลิสสา วิลสัน เซย์เรส (Melissa Wilson Sayres) นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ในสหรัฐฯ ซึ่งมิได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยเรื่องนี้
ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อกันว่ามนุษย์ยุคใหม่นั้นออกจากแอฟริกาเมื่อราว 60,000 ถึง 200,000 ปีก่อน และในช่วงเวลานั้นก็ดูเหมือนว่ามนุษย์ผู้เป็นมารดาของหญิงทั้งปวงก็ปรากฏขึ้นในแอฟริกาตะวันออก แต่ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนในเรื่องนี้
ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาเจาะจงลงไปที่โครโมโซมวาย ซึ่งเป็นโครโมโซมที่มีการถ่ายทอดจากพ่อไปสู่ลูกชายเท่านั้น ดังนั้น การกลายพันธุ์หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครโมโซมเพศชายจึงสามารถแกะรอยสายวิวัฒนาการของมนุษย์ผู้ชายสืบย้อนกลับไปถึงผู้เป็นบิดาของมวลมนุษย์ได้
ในทางตรงข้าม ดีเอ็นเอจากไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นออร์แกเนลล์ที่มีหน้าที่สร้างพลังงานในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์สลับซับซ้อนนั้นสามารถส่งผ่านไปในเซลล์ไข่ได้ จึงมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถถ่ายทอดดีเอ็นเอจากไมโตคอนเดรียไปสู่ลูกหลานได้ ดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียจึงสามารถเผยเชื้อสายทางฝ่ายมารดาไปถึงอีฟผู้อยู่ในสมัยโบราณได้
คาร์ลอส บุสตามานเต้ (Carlos Bustamante) นักพันธุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ในแคลิฟอร์เนีย ผู้เป็นหนึ่งในทีมวิจัย อธิบายว่า กาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านมานาน โครโมโซมเพศชายได้มีการขยายออกไปอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้นจากการถ่ายทอดพันธุกรรมและทำสำเนาดีเอ็นเอ และการเชื่อมต่อชิ้นส่วนดีเอ็นเอที่ได้จากการถอดรหัสหลายๆส่วนเข้าด้วยกัน เหมือกับการพยายามต่อจิ๊กซอโดยที่ไม่มีรูปภาพตัวอย่าง ทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ผลได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
ทั้งนี้ บุสตามานเต้และทีมวิจัยได้ทำการประกอบชิ้นส่วนขนาดใหญ่ของปริศนาดังกล่าวโดยการถอดรหัสจีโนมทั้งหมดของโครโมโซมวายของชาย 69 คน จากประชากร 7 กลุ่มทั่วโลก ตั้งแต่ชนเผ่าพื้นเมืองในแอฟริกา (African San Bushmen) ไปจนถึงชาวยาคุตในไซบีเรีย (Yakut of Siberia)
จากการสมมติฐานอัตราการผันแปรของยีนสอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญทางโบราณดี (เช่น การอพยพของประชากรผ่านช่องแคบแบริง) ซึ่งทีมวิจัยให้ข้อสรุปว่าชายกลุ่มตัวอย่างจากทั่วโลกมีบรรพบุรุษเป็นชายคนเดียวกัน ซึ่งอาศัยอยู่ในแอฟริกาเมื่อประมาณ 125,000-156,000 ปีก่อน
นอกจากนั้น ดีเอ็นเอในไมโตรคอนเดรียของชายกลุ่มนี้ ยังคล้ายกับตัวอย่างดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียจากผู้หญิง 24 คน ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงทุกคนบนโลกนี้สืบย้อนกลับไปยังไมโตคอนเดรียของอีฟที่เคยอยู่ในแอฟริกาเมื่อประมาณ 99,000-148,000 ปีก่อน ซึ่งเกือบเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการมีอยู่ของโครโมโซมวายของอดัม
ด้านไมเคิล แฮมเมอร์ (Michael Hammer) นักพันธุศาสตร์วิวัฒนาการ มหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) ซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาเรื่องนี้เผยถึงผลการวิจัยว่าน่าสนใจมากและเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
ยังมีผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในประเด็นเดียวกัน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารไซน์พบว่า ชายในกลุ่มตัวอย่างมีบรรพบุรุษร่วมกันเมื่อ 180,000-200,000 ปีที่แล้ว
ส่วนในอีกงานวิจัยหนึ่งของแฮมเมอร์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร ดิ อเมริกัน เจอร์นัล ออฟ ฮิวแมน เจเนติกส์ (The American Journal of Human Genetics) ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ให้ผลการวิจัยว่า ผู้ชายหลายคนในแอฟริกามีโครโมโซมวายที่แปลกและแตกต่างกัน ซึ่งทำให้สืบย้อนกลับไปถึงบรรพบุรุษในยุคโบราณได้หลายคนที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วง 237,000-581,000 ปีก่อน
"มันไม่พอดีกับแผนภูมิลำดับเครือญาติของมนุษย์ที่บุสตามานเต้สร้างขึ้น แต่มันมีความเก่าแก่กว่า" แฮมเมอร์บอกแก่ทีมงานไลฟ์ไซน์
อย่างไรก็ดี การศึกษาทางด้านยีนนั้นขึ้นอยู่กับตัวอย่างดีเอ็นเอที่นำมาศึกษา ฉะนั้นจึงให้ภาพประวัติศาสตร์ของมนุษย์ได้ไม่สมบูรณ์นัก ดังตัวอย่างงานของทีมวิจัยของแฮมเมอร์ ซึ่งศึกษาในดีเอ็นเอจากกลุ่มตัวอย่างที่ต่างจากงานของบุสตามานเต้ ทำให้ได้ผลสรุปช่วงเวลาการดำรงชีวิตอยู่ของบรรพบุรุษร่วมของมนุษย์แตกต่างกัน
แฮมเมอร์อธิบายต่อไปว่า ในจีโนมมนุษย์ส่วนอื่นๆที่เหลือนั้นประกอบไปด้วยชิ้นส่วนดีเอ็นเอชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากบรรพบุรุษที่หลากหลาย ซึ่งไม่ปรากฎในดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียหรือโครโมโซมวาย ดังเช่น หากหญิงสาวคนหนึ่งในสมัยโบราณกาลมีลูกชายคนเดียว ดีเอ็นเอในไมโตคอนเดรียของเธอจะหายสาบสูญไปจากเส้นทางวิวัฒนาการ แม้ว่าลูกชายของเธอจะส่งต่อดีเอ็นเอจำนวน 1 ใน 4 ของดีเอ็นเอของเธอผู้เป็นแม่ไปยังลูกหลานผ่านไปทางจีโนมส่วนอื่นๆในร่างกายของเขาก็ตาม
เพื่อติดตามผลของการวิจัยอย่างต่อเนื่อง หน่วยปฏิบัติการของบุสตามานเต้จึงได้เดินหน้าถอดรหัสดีเอ็นเอในโครโมโซมวายต่อไปจากชายกลุ่มตัวอย่างประมาณ 2,000 คน ซึ่งข้อมูลที่ได้เพิ่มขึ้นจะช่วยหาตำแหน่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์โบราณในแอฟริกาได้อย่างแม่นยำ
"มันน่าตื่นเต้นมากๆเลย ในขณะที่เรามีประชากรมากมายแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่เราสามารถเริ่มต้นทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าเรามาจากไหนในทางกายภาพ" วิลสัน เซย์เรส กล่าวแก่ทีมงานไลฟ์ไซน์อย่างตื่นเต้น
นักวิทยาศาสตร์สามารถสืบหาบรรพบุรุษมนุษย์เพศชายได้จากดีเอ็นเอในโครโมโซมเพศชาย หรือ โครโมโซมวาย ซึ่งสามารถถ่ายทอดจากพ่อสู่ลูกชายเท่านั้น