คาดว่าหลายคนที่ชื่นชอบวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นคงเคยได้ยินชื่อ พิธีชงชา กันใช่มั้ยคะ ตอนแรกที่ได้ยินก็คิดไปเองว่าคงเป็นงานที่ดูเป็นพิธี มีกฎคร่ำเคร่ง ท่าทางจะดื่มชาไปเครียดไป แต่หากเมื่อได้ลองมีโอกาสไปสัมผัสพิธีชงชานี้ดูด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ จะรู้สึกผ่อนคลายและประทับใจกับความสงบอันราบเรียบ ที่เป็นเสน่ห์ของประเทศญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ
พิธีชงชา 茶道(Sadou) หรือ 茶の湯 (Cha no yu) นี้เป็นพิธีการดื่มชาเขียวของประเทศญี่ปุ่น ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยผู้ที่ทำให้เกิดเป็นพิธีชงชาที่เป็นแบบแผนอย่างในปัจจุบันนั้น คือ ท่าน เซ็น โนะ ริคิว (Sen no rikyu) ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีโรงเรียนสอนพิธีชงชาเกิดขึ้นหลายแห่ง เช่นโรงเรียนในเครือ เซ็ง เคะ (Senke) ที่ก่อตั้งโดยลูกหลานของท่าน เซ็น โนะ ริคิว
หัวใจหลักของพิธีชงชา คือ ความสุนทรีย์ในความเรียบง่าย การรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยจิตใจที่นิ่งสงบและบริสุทธิ์ โดยมีหลักของศาสนาพุทธนิกายเซนเข้ามาด้วย ทำให้บรรยากาศและเครื่องประดับต่างๆ ในพิธีชงชา มีลักษณะของความสงบ เรียบง่าย และสง่างาม อย่างเช่น ภาพแขวนหรือดอกไม้ ที่ประดับในห้องพิธี มักจะแฝงไปด้วยปรัชญาที่คมคายหากพินิจดูให้ดี
วันนี้เราจะมาลองทำความรู้จักขั้นตอนในการดื่มชาในพิธีนี้กันดูสักหน่อย…
1. เมื่อนั่งอยู่ตรงข้ามกับผู้ชงชา ที่เรียกว่า ฮันโต เรียบร้อยแล้ว ก็เลือกหยิบขนมโดยใช้ไม้ที่เรียกว่า โยจิ วางลงบนกระดาษที่ใช้รองขนม เรียกว่า ไคชิ และรับประทานให้หมดก่อนที่ชาจะเสิร์ฟ
2. เมื่อชามาเสิร์ฟ ก็ทำการคำนับฮันโต (โดยจะเสิร์ฟถ้วยชาด้านที่มีลายหันเข้าหาเรา)
3. ใช้มือขวายกถ้วยชา และรองใต้ถ้วยด้วยมือซ้าย พร้อมกล่าวตามพิธีว่า “โอะเทมาเอะ โจได อิตาชิมัส”
4. หมุนถ้วยชาด้วยมือขวาตามเข็มนาฬิกาสองครั้ง เพื่อให้ลายภาพของถ้วยชาหันออก หลังจากนั้นก็ดื่มลิ้มรสชา
5. หลังดื่มชาเสร็จ ให้ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือ และ นิ้วชี้ข้างขวาเช็ดขอบถ้วยบริเวณที่จรดริมฝีปากเบาๆ จากซ้ายไปขวาหนึ่งครั้ง และเช็ดปลายนิ้วด้วยไคชิ กระดาษที่ใช้รองขนมเมื่อสักครู่
6. หมุนถ้วยชาทวนเข็มนาฬิกา ด้วยมือขวาสองครั้ง เพื่อให้ลายของถ้วยกลับมาอยู่ตรงหน้าตัวเราเหมือนตอนแรก และพินิจลักษณะลวดลายของถ้วยชา โดยละเอียด...
7. หลังจากนั้น หมุนถ้วยชาทวนเข็มนาฬิกาอีกสองครั้ง เพื่อให้ลายของถ้วยชาหันไปทางหน้าผู้เสิร์ฟ แล้ววางลงตรงจุดเดิมที่รับเสิร์ฟชาตอนแรก พร้อมคำนับขอบคุณ
สำหรับใครที่ไม่ชอบดื่มชา เพราะทนรสขมไม่ได้ ก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะชาที่ใช้ในพิธี จะมีสองชนิดค่ะ คือ อุสุ ฉะซึ่งมีรสอ่อน ไม่ขมเท่าไหร่ และ โคอิ ฉะ ซึ่ง มีรสเข้ม แต่สำหรับคนต่างชาติอย่างเรา ก็มักจะได้ดื่มอุสุ ฉะ นี่แหละค่ะ คนญี่ปุ่นเขาก็เข้าใจว่าเราอาจจะไม่ชินกับรสขมของชาบ้านเค้า
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนแล้ว รู้สึกว่าพิธีชงชา เป็นพิธีที่สง่างาม ในความเรียบง่าย อย่างน่าประหลาด หากอยากสัมผัสแก่นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น พิธีชงชา..เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ควรมาสัมผัสกันค่ะ