วัดถ้ำแห่งตุนหวง พุทธศิลป์สุดยิ่งใหญ่ กลางทะเลทรายของจีน
ตุนหวง (Dunhuang) เป็นเมืองโอเอซิสกลางทะเลทรายโกบี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน แม้จะเป็นเมืองเล็กแต่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นแหล่งศาสนศิลป์ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน และมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ตุนหวง เป็นศูนย์กลางสำคัญบนเส้นทางไหม (Silk Road) เป็นทางผ่านและจุดแวะพักของขบวนคาราวานพ่อค้า และถนนไหมเป็นเส้นทางแห่งการเผยแพร่พุทธศาสนา จากอินเดียเข้ามายังประเทศจีน ตุนหวง จึงกลายเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมหลายชนชาติ โดยเฉพาะจีน อินเดีย กรีก และอาหรับ หลอมรวมและช่วยกันสร้างวัดในถ้ำ ไว้เป็นที่สักการะบูชาพระพุทธเจ้า โดยปรากฏหลักฐานโบราณคดีอันล้ำค่ามีสภาพสมบูรณ์ในถ้ำแห่งนี้
วัดถ้ำแห่งตุนหวง (Mogao Caves of Dunhuang) เป็นสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์บนหน้าผาของเขาหมิงซา กลางทะเลทรายโกบี ห่างจากตัวเมืองตุนหวง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 25 กิโลเมตร ผาหินถูกเจาะเป็นถ้ำจำนวนทั้งสิน 492 ถ้ำ ภายในเป็นที่บรรจุพุทธประติมากรรม และภาพเขียนพุทธประวัติต่างๆ ในอดีตกาล และส่วนใหญ่ของถ้ำแห่งนี้ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาและการเมือง
ในจำนวนถ้ำ 492 ถ้ำ โม่เกา (Mogao) เป็นถ้ำมีขนาดใหญ่ที่สุดและอายุเก่าแก่มาก รู้จักกันในชื่อ “ถ้ำพระพุทธรูปพันองค์” แกะสลักหน้าผาทางซีกตะวันออกของภูเขาหมิงซา รวมความยาว 1,600 เมตร ทุกตารางนิ้วของผนังถ้ำเต็มไปด้วยภาพวาดและรูปสลักทางศาสนา และถ้ำแห่งนี้มีภาพผนังกินเนื้อที่กว่า 45,000 ตารางเมตร นักโบราณคดีตะวันตกขนานนามภาพผนังแห่งนี้ว่า “ห้องสมุดบนผนัง”
สิ่งก่อสร้างภายใน วัดถ้ำโม่เกา ทำจากไม้ในสมัยราชวงศ์ถังและซ้อง จำนวน 5 หลัง คัมภีร์และหนังสือต่างๆ กว่า 50,000 ชิ้น และประติมากรรมเกือบ 2,500 ชิ้น ถ้ำโม่เกา ดำเนินการก่อสร้างนานนับพันปี ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 4 เรื่อยมา จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตั้งแต่ราชวงศ์ฉินถึงราชวงศ์หยวน รวม 10 ราชวงศ์ โดยยุคทองอยู่ในช่วงกลางสมัยราชวงศ์ถัง
ปราชญ์ท้องถิ่นตุนหวงระบุว่า หลวงจีนเหลอ ซุ่น (Lezun) เป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างถ้ำเมื่อปี ค.ศ. 366 และมีโครงการสร้างพระพุทธรูป 1,000 องค์ประดิษฐ์ไว้ ใช้วิธีการระดมทุนก่อสร้างด้วยการบอกบุญพ่อค้าวาณิชที่เดินทางผ่านเส้นทางไหม บันทึกในสมัยราชวงศ์ถังยังระบุว่า ศิลปะที่ถ้ำผาโม่เกาส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์สุยและถัง ภาพวาดสมัยราชวงศ์ถังส่วนมากเป็นนางฟ้าล่องลอยในอากาศ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะถ้ำที่ตุนหวง ภาพเขียนสีภายในถ้ำ เป็นเรื่องราวของความดี-ความชั่ว และความสุขนิรันดร์ในสรวงสวรรค์ คล้ายกับว่าสวรรค์และโลกเป็นเอกภพเดียวกัน
หอคอย 9 ชั้น สร้างขึ้นหน้าถ้ำ เมื่อปี ค.ศ. 695 ในสมัยจักพรรดิ วู เจ๋อ เทียน แห่งราชวงศ์ถัง ใช้ปกป้องพระพุทธรูปองศ์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน เดิมทีหอคอยเป็นอาคาร 4 ชั้น แต่เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งในทะเลทราย ตลอดจนภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว ทำให้ห้องโถงพังทลายไป ต้องสร้างขึ้นมาใหม่หลายครั้งจนกลายเป็นหอคอย 9 ชั้น ที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนบริเวณชายคา สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1928-1935 เป็นของเก่าที่คงสภาพเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์
สถาปัตยกรรมของถ้ำโม่เกา ส่วนใหญ่มีบันทึกไว้ว่า ถ้ำยัคแรกๆ ก่อสร้างโดยมีเสาค้ำยันตรงกลางถ้ำ ลักษณะเป็นเสารูปทรงสี่เหลี่ยมคล้ายเจดีย์หนุนอยู่ตรงกลางของถ้ำ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานแท่นบูชาพระพุทธรูปแกะสลักต่างๆ ต่อมาในยุคกลาง ขนาดของถ้ำใหญ่ขึ้น เปลี่ยนจากเสาค้ำยันมาเป็นหลังคาโค้งแบบพีระมิด มีแท่นบูชาใหญ่ชิดผนังถ้ำด้านหนึ่งสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายใต้หลังคาโค้งออกแบบเพดานสำหรับเขียนภาพวาดสีสดใส ในยุคหลัง มีการขยายถ้ำใหญ่ขึ้น ความลึกประมาณ 20-30 เมตร เรียกกันว่า ถ้ำโถง ใช้เป็นห้องเก็บโบราณวัตถุ และประติมากรรมจำนวนมาก
ประติมากรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญของทุกถ้ำ ส่วนมากเป็นพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มีพุทธลักษณะแตกต่างกัน และงดงามตามยุคสมัยของการก่อสร้าง ซึ่งสืบต่อยาวนานนับพันปี
พระพุทฑรูปในสมัยราชวงศ์สุยและถัง มีขนาดใหญ่จำนวน 7-9 องค์ ภายในถ้ำเดียวกัน มีพระพุทธไสยาสน์ปางนิพพานขนาดหน้าตัก 16 เมตร ประดิษฐานในถ้ำหมายเลข 148-158 และพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 34.5 เมตร ในถ้ำหมายเลข 96 ซึ่งด้านหน้าเป็นหอคอย 9 ชั้น ส่วนภาพวาดผนังถ้ำบรรยายเป็นเรื่องราวพระพุทธประวัติเป็นส่วนมาก ผนังถ้ำเป็นหินทรายชำรุดเสียหายง่าย จึงใช้ดินเหนียวปั้นรูปประติมากรรมระบายหลากสี นับเป็นเทคนิคพิเศษของชาวจีนสมัยก่อนราชวงศ์ถัง ที่ไม่ค่อยพบเห็นในท้องถิ่นอื่นๆ ถือกันว่าวิจิตรล้ำค่าหาดูได้ยาก
เมื่อปี ค.ศ. 1900 นักพรตลัทธิเต๋ารูปหนึ่ง พบถ้ำที่ถูกปิดผนึกไว้โดยบังเอิญ เป็นที่เก็บซ่อนพระคัมภีร์ทางศาสนา จดหมายเหตุ บันทึกทางประวัติศาสตร์ ตำราและหนังสือเกี่ยวกับศาสนา ประเพณี สังคม และการเมือง ตลอดจนภาพเขียนและโบราณวัตถุต่างๆ ซึ่งการค้นพบดังกล่าว ส่งให้ตุนหวง กลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ทางการศึกษาด้านวัฒนธรรมจีนโบราณ และแหล่งจาริกแสวงบุญไปในทันที แต่ขณะเดียวกันบรรดานักแสวงโชค และพวกล่าอาณานิคม ได้เข้าไปฉกฉวยสมบัติล้ำค่า ลักลอบขนย้ายออกนอกประเทศจีนไปเป็นจำนวนมาก คัมภีร์ทางศาสนาและประติมากรรมจำนวนมากตกไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย สหรัฐเอมริกา เยอรมนี สวีเดน อินเดีย และนานาประเทศทั่วโลก
จนถึงศตวรรษที่ 19 รัฐบาลจีนในสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น เริ่มสกัดกั้นการลักลอบขโมยมรดกของชาติ และเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง พร้อมทั้งบูรณะถ้ำ จากการบูรณะถ้ำอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เจ้าหน้าที่พบถ้ำเพิ่มทางตอนเหนือของหอคอย 9 ชั้น อีก 248 ถ้ำ ภายในมีภาพวาดผนังถ้ำ และรูปแกะสลักต่างๆ สร้างขึ้นระหว่างสมัยราชวงศ์ถังถึงราชวงศ์ซิง
วัดถ้ำแห่งตุนหวง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1987 และได้รับการยกย่องเป็นแหล่งพุทธศิลป์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนจนถึงปัจจุบัน
คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ