“กำไลไฮเทค” คุมเด็กแว้นนอกคุก!

 

วานนี้ ( 21 ส.ค.) นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม แถลงความคืบหน้าการนำเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (กำไลไฮเทค) มาใช้ในงานคุมประพฤติ โดยจะนำร่องใช้กับเด็กและเยาวชนของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 200 คน ที่กระทำผิด พ.ร.บ.จราจร ว่า จะใช้วิธีเช่าใช้ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้จะมีน้ำหนักไม่เกิน 300 กรัม สามารถส่งข้อมูลแบบ จีพีอาร์เอส หรือ จีพีเอส และสามารถใช้งานบนเทคโนโลยี จีพีเอส ได้ในกรณีที่อับสัญญาณ ทั้งยังมีระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เมื่อเกิดเหตุกับอุปกรณ์ เช่น แบตเตอรี่เหลือน้อยหรือใกล้หมดเมื่อออกจากพื้นที่ที่กำหนด พื้นที่ควบคุม พื้นที่ห้ามเข้าหรือห้ามออก หรือถูกถอดออกโดยพลการ คาดว่ากลางเดือน พ.ย.นี้ จะได้ของมาใช้จริง เพราะในวันที่ 23 ส.ค.นี้ จะมีการเคาะราคาและทำสัญญากับบริษัทภายใน 7 วัน

น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ล่าสุดมี 2 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติตามร่างทีโออาร์ โดยตามขั้นตอนกรมพินิจฯ จะเป็นผู้เสนอรายงานว่าเด็กหรือเยาวชนแต่ละรายมีความเสี่ยงระดับใด หากเห็นว่าอยู่ในระดับปานกลางหรือน้อยสมควรควบคุมนอกสถานพินิจฯ จะระบุความเห็นเสนอศาล เพื่อประกอบการพิจารณา โดยมีขั้นตอนเริ่มจากทำหนังสือถึงศาลเยาวชนและครอบครัวกลางว่าในกรณีที่ศาลจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์นั้นกรมคุมประพฤติจะมีอุปกรณ์พร้อมรองรับหากศาลมีคำสั่ง อย่างไรก็ตามการเสนอความเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนรายใดสมควรใช้อุปกรณ์จะพิจารณาเป็นรายบุคคลไม่ใช่เด็กที่กระทำผิดในคดีเดียวกันจะได้รับการพิจารณาจากศาลให้ใช้อุปกรณ์ทุกราย ทั้งนี้การจะใช้อุปกรณ์หรือไม่นั้นนอกจากคำสั่งศาลแล้วต้องได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ด้วย เพราะหากมีการทำลายอุปกรณ์ผู้ใช้ต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายเองด้วย

ขณะที่ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าผู้ต้องขังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจทำให้เกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก จึงมีแนวคิดจะนำเครื่องมือมาใช้ควบคุมแทน หลังจากกรมคุมประพฤติและกรมพินิจฯ ได้ทำการทดลองใช้กับเด็กและเยาวชนเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว โดยทางกรมฯ จะขยายผลเพื่อนำมาใช้กับผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ต้องขังจำคุกที่จะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าจะต้องจำคุก กรณีผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย 2.ผู้ต้องขังจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงบิดามารดา สามี ภรรยา บุตร ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้และขาดผู้อุปการะ 3. ผู้ต้องขังเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและต้องออกไปรับการรักษาภายนอก เช่น ฟอกไต หรือฉายรังสีและผู้ต้องขังจำคุกที่มีเหตุอันควรได้รับการทุเลาการบังคับ เช่น วิกลจริต เพิ่งคลอดบุตรหรือตั้งครรภ์ เบื้องต้นคาดว่าจะนำร่องประมาณ 1,000 เครื่อง

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีข้าราชการประมาณ 11,000 คน และมีจำนวนผู้ต้องขังมากถึง 270,000 คน ดังนั้นผู้คุม 1 คนต้องดูแลผู้ต้องขัง 50 คน ทั้งที่ตามมาตรฐานสากลสัดส่วนการดูแลผู้ต้องขังจะอยู่ที่ 1:5  คนเท่านั้น ดังนั้นการใช้เครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิคส์มาใช้จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง หลังจากกรมคุมประพฤติและกรมพินิจฯ ได้ทำการลดลองใช้กับเด็กและเยาวชนเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว กรมราชทัณฑ์จะขยายผลเพื่อนำมาใช้กับผู้ต้องขัง 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ต้องขังจำคุกที่จะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าจะต้องจำคุก กรณีผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย ไตวายเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ต้องขังจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงบิดามารดา สามี ภรรยา บุตร ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้  และขาดผู้อุปการะ ผู้ต้องขังเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และต้องออกไปรับการรักษาภายนอก เช่น ฟอกไต หรือฉายรังสีทุกสัปดาห์  และผู้ต้องขังจำคุกที่มีเหตุอันควรได้รับการทุเลาการบังคับ เช่น วิกลจริต เพิ่งคลอดบุตรหรือตั้งครรภ์ 

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวถึงมาตรการดูแลรักษาพยาบาลผู้ต้องขังว่า  แม้ทางกรมราชทัณฑ์จะมีโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ต้องขัง โดยเฉพาะทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งสามารถเปิดรับรักษาผู้ต้องขังได้ถึง 500 เตียง และเปิดจริงได้เพียง 250 เตียง  เพราะมีแพทย์ประจำเพียง 16 คนจากความต้องการแพทย์ประจำทั้งหมด 50 คน จึงทำให้การดูแลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยไม่ทั่วถึง  สำหรับเรือนจำจังหวัดทั่วประเทศนั้นสามารถส่งผู้ต้องขังเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลอำเภอได้ แต่เนื่องจากโรงพยาบาลดังกล่าวไม่มีห้องพักพิเศษที่ควบคุมผู้ต้องขังเฉพาะจึงเกรงจะมีปัญหาเรื่องผู้ต้องขังหลบหนี.

 

22 ส.ค. 56 เวลา 10:49 1,345 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...