พิศณุ นิลกลัด
คอลัมน์ คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด (มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 16-22 ส.ค.2556)
ความรักระหว่าง คุณเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ กับ คุณชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจติดตามข่าว ตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์จนเว็บพันทิปล่ม ตามติดความเคลื่อนไหวยิ่งกว่าเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้งๆ ที่เรื่อง พ.ร.บ.เป็นเรื่องสำคัญมาก มีผลกระทบต่อความสามัคคีของคนในชาติอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง
ความหมกมุ่นสนใจข่าวซุบซิบดารา คนดัง คนรวย กลายเป็นเรื่องที่เกิดในหมู่คนทั่วโลกอยู่ในตอนนี้ คอยตามข่าวว่าคนดังคนนี้เป็นแฟนกับใคร เลิกกันตอนไหน แต่งตัวอย่างไร ทั้งๆ ที่เรื่องส่วนตัวเหล่านี้คนติดตามข่าวไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนที่แล้วกับ คินเดิล ซิงเกิ้ลส์ (Kindle Singles) นิตยสารออนไลน์ของคินเดิลซึ่งเป็นเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่ขายดีที่สุดในโลก โดยพูดถึงเด็กวัยรุ่นอเมริกันว่าสมัยนี้ติดตาม คิม คาร์แดชเชี่ยน ตลอดเวลาว่าสวมชุดอะไร คานเย เวสต์ ไปพักผ่อนที่ไหน
เป็นการสร้างค่านิยมผิดๆ ให้กับเยาวชนว่า ยิ่งรวยเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องอวดรวย ต้องใช้เสื้อผ้าเครื่องประดับยี่ห้อดังๆ ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยถือเป็นความสำเร็จ
ถามว่าทำไมคนถึงสนใจเรื่องดารา คนดัง มากกว่าเรื่องการเมืองซึ่งมีผลกระทบต่อปากท้องของตัวเอง
นักจิตวิทยาวิเคราะห์ว่า สภาพสังคมที่ชิงดีชิงเด่นกัน คนติดตามเรื่องของคนที่มีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าเพื่อเลียนแบบพฤติกรรม เพราะคิดว่าจะผลักดันสถานภาพตัวเองให้สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ข่าวดาราทำตัวไม่เหมาะสม คนก็ยิ่งสนใจ เพราะทำให้ตัวเองรู้สึกดีว่าแม้ดาราจะสวยกว่า หล่อกว่า หรือรวยกว่า แต่พฤติกรรมไม่ได้ดีไปกว่าเรา ดาราก็มีปัญหาชีวิตเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป การติดตามปัญหาชีวิตคนดังช่วยทำให้ลืมปัญหาชีวิตของตัวเองได้ชั่วคราว
นอกจากนี้ เรื่องดาราก็เป็นประเด็นซุบซิบยอดฮิตโดยเฉพาะในหมู่ผู้หญิง เพราะความที่เราเห็นหน้าดาราทางโทรทัศน์อยู่เป็นประจำ เห็นบ่อยยิ่งกว่าญาติ จนทำให้รู้สึกว่า ดาราเหล่านี้เป็นคนใกล้ตัว จึงซุบซิบกันเป็นที่เพลิดเพลินเจริญปาก
คำถามต่อมาก็คือ จริงหรือเปล่าที่เมื่อเทียบกันแล้ว ผู้หญิงมีความรู้เรื่องข่าวสารการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย
เรื่องนี้มีรายงานผลการศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาของ Economic and Social Research Council (ESRC) หรือองค์กรเพื่อการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์และสังคมของประเทศอังกฤษ พบว่าผู้หญิงหลายประเทศมีความรู้เรื่องข่าวสารการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย
โดยทำการศึกษาผู้หญิง 10,000 คน ใน 10 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, แคนาดา, โคลัมเบีย, กรีซ, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เกาหลี, นอร์เวย์, อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
จากการถามคำถามต่างๆ ที่ครอบคลุมเรื่องการเมือง พบว่าผู้หญิงที่สุ่มสำรวจทั้ง 10 ประเทศ ทราบข่าวการเมืองปัจจุบันน้อยกว่าผู้ชาย
ผู้หญิงในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นกลุ่มที่รู้ข่าวการเมืองน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ชาย โดยทำคะแนนจากการตอบคำถามได้น้อยกว่าผู้ชายกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
ทั้งๆ ที่ทั้งสามประเทศนี้ ให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมของหญิงและชายสูงที่สุด
สาเหตุที่ผู้หญิงใส่ใจข่าวการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย คณะผู้ศึกษาวิเคราะห์ว่า หากมีเวลาว่าง ผู้หญิงใช้เวลาไปกับการดูแลครอบครัว ทำงานบ้าน ทำให้ไม่มีเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมือง จนกระทั่งวัยประมาณ 40 ปีขึ้นไปถึงจะมีเวลาตามข่าวการเมืองมากขึ้น เพราะลูกโตเป็นผู้ใหญ่ ภาระหน้าที่ต่อครอบครัวลดลง
นอกจากนี้ การที่จำนวนผู้หญิงที่มีบทบาททางการเมืองน้อยกว่าผู้ชาย ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเมืองไม่ใช่เรื่องดึงดูดให้น่าติดตามในสายตาของผู้หญิง
จริงอยู่ที่การติดตามข่าวสารบ้านเมืองมากเกินไปทำให้เกิดความเครียด สวนดุสิตโพลเพิ่งสำรวจความเห็นของคนไทย 1,297 คน ระหว่างวันที่ 16-20 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าในบรรดาข่าวสารต่างๆ ข่าวการเมืองเป็นข่าวที่ทำให้คนเครียดที่สุด คิดเป็น 34.06 เปอร์เซ็นต์
วิธีการแก้เครียดจากข่าวการเมืองที่นิยมทำสูงสุดคือ ติดตามข่าวบันเทิงหรือข่าวเบาๆ ผู้ที่ใช้วิธีนี้มี 37.14 เปอร์เซ็นต์
ว่ากันตามจริง ข่าวดารา ข่าวคนดังนั้นอ่านได้ฟังได้เพื่อคลายเครียด แต่อย่าเฝ้าติดตามจนไม่รู้เรื่องข่าวสารอื่นๆ ที่มีสาระ
แม้ข่าวการเมืองจะทำให้ปวดหัว เครียด แต่การที่คนในชาติใส่ใจการเมืองก็จะเป็นแรงกดดันให้นักการเมืองได้คิดว่าไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ทุกเรื่อง เพราะมีประชาชนคอยเฝ้าติดตามพฤติกรรมอยู่
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly