สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ได้เปิดเผยเอกสารลับที่ระบุว่า ซีไอเอมีบทบาท
สำคัญในการก่อรัฐประหารในอิหร่านเมื่อปี 1953 ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด มูซัดเดก ซึ่งได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ถูกโค่นอำนาจ
เอกสารดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในจดหมายเหตุความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ของการก่อรัฐประหาร โดยได้ข้อมูลมาจากเอกสารประวัติศาสตร์อิหร่านของซีไอเอ ในช่วงกลางยุค 1970 อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าวเคยมีการกล่าวถึงอย่างเปิดเผย ทั้งจากนางแมเดอลีน อัลไบรท์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อปี 2000 และจากประธานาธิบดีบารัค โอบามา เมื่อปี 2009 ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงไคโร
นายมัลคอล์ม เบิร์น จากหอจดหมายเหตุความมั่นคงแห่งชาติ องค์กรด้านวิจัยเอกชน ภายใต้การของมหาวิทยาลัย จอร์จ วอชิงตัน เป็นผู้เรียบเรียงข้อมูลต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.เสรีภาพข่าวสาร และเชื่อกันว่านี่เป็นครั้งแรกที่ซีไอเอยอมรับว่ามีบทบาทในการก่อรัฐประหารร่วมกับหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษ หรือ MI6
นายเบิร์นกล่าวว่า เอกสารชิ้นนี้มิได้มีความสำคัญเพียงเพราะเสนอข้อมูลใหม่ๆ เช่นการเจาะลึกการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติการ แต่เป็นการเสนอให้เห็นมุมมองจากทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งรวมถึงรัฐบาลอิหร่าน แต่กระทั่งปัจจุบัน ก็แทบไม่มีเจ้าหน้าที่ซีไอเอคนใดที่ออกมายอมรับบทบาทของตน
นายโมฮัมหมัด มูซัดเดก ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 1951 และประกาศการเข้าควบคุมกิจการการผลิตน้ำมันของประเทศ ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การดูแลของอังกฤษ ในนามบริษัทแองโกล-เปอร์เซียน ออยล์ คอมปานี ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริทิช ปิโตรเลียม หรือ บีพี ซึ่งสร้างความไม่สบายใจต่อทั้งอังกฤษและสหรัฐฯ ที่มองว่าน้ำมันอิหร่านเป็นปัจจัยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามที่สำคัญ
เอกสารระบุการเตรียมการของซีไอเอในการเตรียมการก่อรัฐประหาร โดยให้สื่อสหรัฐฯ และอิหร่านสร้างเรื่องการต่อต้านนายมอสซาเดก การก่อรัฐประหารยังทำให้พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ที่เพิ่งลี้ภัยไปยังต่างประเทศภายหลังมีข้อขัดแย้งกับรัฐบาลอิหร่าน และเสด็จกลับมาอีกครั้งภายหลังการรัฐประหาร ทรงมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐฯมากขึ้น
ทั้งหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษและสหรัฐฯ พยายามโหมกระแสการสนับสนุนพระเจ้าชาห์ และมีบทบาทในการก่อการประท้วงต่อต้านนายมูซัดเดก และต่อมากองทัพอิหร่านได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวสนับสนุนพระเจ้าชาห์ และก่อนเที่ยงของวันที่ 19 ส.ค. 1953 พื้นที่กรุงเตหะราน และจังหวัดอื่นๆ ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชุมนุมและทหารทั้งหมด ขณะที่สมาชิกรัฐบาลหากไม่หนีไปซ่อนตัวก็ถูกจำคุก
หลังจากนั้น พระเจ้าชาห์เสด็จกลับอิหร่านและทำการแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายนิยมตะวันตก อิหร่านได้ทำการเปิดสัมพันธไมตรีกับการทูตกับอังกฤษใหม่อีกครั้ง และมีการเจรจาตกลงกับบริษัทน้ำมันอังกฤษและสหรัฐฯ โดยนับตั้งแต่ปี 1955 เป็นต้นมา พระเจ้าชาห์ได้เริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้น และพาประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ผมนำเรื่องนี้มาเสนอ ก็เพราะอยากให้ได้ศึกษาไว้เป็นบทเรียนให้หลายคนในบ้านเราได้รับรู้ว่า การที่จะโค่นล้มใคร หรือรัฐบาลใด หากมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนจากมืออาชีพ เป็นสิ่งที่กระทำได้ และที่ผ่านมาบ้านเราก็เจอการปล่อยกระแสเพื่อหวังโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลระดับสูง เพื่อหวังอำนาจทางการเมือง หรือแม้แต่อำนาจต่อประเทศ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จำไว้ว่า หากท่านไม่เห็นหลักฐานที่ชัดเจนหรือพิสูจน์ได้ จงใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยเหตุผลให้ดีก่อนตัดสินใจเชื่อว่า ข่าวนั้นลวงหรือข่าวนั้นจริง