โศกนาฏกรรม เรือไททานิค ที่โลกไม่มีวันลืม

".... โศกนาฏกรรม เรือไททานิค ที่โลกไม่มีวันลืม ...."


ไททานิกเป็นเรือที่เปิดศักราชใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเรือเดินสมุทร เนื่องจากเป็นเรือลำแรกๆ ของโลกที่สร้างโดยโลหะและรองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,435 คน ยาว 269.0622 เมตร กว้าง 28.194 เมตร ขนาดของเรือ 46,328 ตัน แบ่งเป็น 9 ชั้น เรียงจากชั้นบนลงชั้นล่างได้ดังนี้

9. ดาดฟ้า สงวนไว้ให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีปล่องไฟ 4 ตัว สูงตัวละ 19 เมตร และห้องยิมเนเซียม
8. ชั้น A ห้องนั่งเล่น ห้องสมุด ห้องสูบบุหรี่ คาเฟ่ขนาดเล็ก และเนิร์สเซอรี่ของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง
7. ชั้น B ห้องอาหาร a la carte ร้านกาแฟแบบปารีสของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และห้องสูบบุหรี่ผู้โดยสารชั้นสอง
6. ชั้น C ห้องสมุดของผู้โดยสารชั้นสอง ห้องเอนกประสงค์ของผู้โดยสารชั้นสาม
5. ชั้น D ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นสอง
4. ชั้น E ห้องนอนของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง สอง สาม ลูกเรือ
3. ชั้น F ห้องอาหารของผู้โดยสารชั้นสาม
2. ชั้น G สระว่ายน้ำ ห้องอาบน้ำแบบตุรกี และห้องเก็บกระเป๋าเดินทาง
1. ชั้นห้องเครื่อง มี 16 ห้อง หม้อน้ำรวม 29 ชุด ส่งเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์ 3 ตัว เครื่องยนต์ 3 ตัว หมุนใบจักร 3 ใบ รวม 50000 แรงม้า เร่งความเร็วเรือได้สูงสุด 23 น็อต (42.596 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ความเร็วมาตรฐาน 21 น็อต (38.892 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ห้องเครื่องทั้ง 16 ห้องมีกำแพงสูงถึงชั้น F และมีประตูกลซึ่งจะปิดลงมาทุกบานทั่วลำเรือเมื่อพบเหตุผิดปกติที่ห้องเครื่องใดห้องเครื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าหากไม่เกิดรอยรั่วในหลายห้องเครื่องจนเกินไป ตามหลักการลอยตัวแล้ว เรือจะไม่จม ถึงแม้จะเป็นจุดอ่อนที่สุดของเรือซึ่งก็คือหัวเรือ ก็ยังรับรอยแตกได้ถึง 4 ห้องเครื่องติดกันโดยไม่จม

ไททานิก มีลิฟต์ 4 ตัว ในจำนวนนี้ 3 ตัว ถูกสงวนมีไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นหนึ่ง อีก 1 ตัว มีไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นสอง ส่วนผู้โดยสาร ชั้นสามไม่มีสิทธิ์ใช้ลิฟต์!
ในการบรรจุผู้โดยสาร โดยปกติ เรือไททานิก สามารถจุผู้โดยสารได้ 2,435 คน โดยแบ่งเป็น ชั้นสาม 1,026 คน , ชั้นสอง 674 คน และชั้นหนึ่ง 735 คน และลูกเรีออีก 892 คน รวมผู้โดยสารและลูกเรือ 3,327 คน แต่ถ้าในอนาคต ถ้าสายการเดินเรือต้องการเพิ่มความจุผู้คน จะสามารถดัดแปลงเรือให้จุผู้โดยสารและลูกเรือได้มากขึ้นอีก 220 คน เป็น 3,547 คน (แต่ยังไม่ได้รับการดัดแปลง) แต่ในการเดินทางเที่ยวแรก มีผู้โดยสารประมาณ 2,208 คน
แต่ว่าเรือสำรองช่วยชีวิตหรือเรือบดนั้นเพียงพอสำหรับผู้โดยสารเพียง 1,178 คนเท่านั้น โดยจะแบ่งเป็น 20 ลำ ในจำนวนนี้ 14 ลำ จุได้ 65 คน , 4 ลำ จุได้ 47 คน และอีก 2 ลำ จุได้ 40 คน
การเดินทางครั้งแรก เริ่มการเดินทางที่เมืองเซาท์แธมตัน ประเทศอังกฤษ (Southampton, England) ในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 ควบคุมโดยกัปตัน เอ็ดเวิร์ด เจ. สมิธ (Edward J. Smith) เพื่อเดินทางไปยังนิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางครั้งนั้น มีผู้เดินทางรวมทั้งหมด 2,208 คน แบ่งเป็นลูกเรือ 891 คน , ผู้โดยสารชั้นสาม 708 คน , ผู้โดยสารชั้นสอง 285 คน และผู้โดยสารชั้นหนึ่ง 324 คน

ออกเดินทางเที่ยวแรก

วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1911
เรือไททานิกถูกปล่อยลงน้ำเป็นครั้งแรก โดยใช้เวลาเพียง 62 วินาทีเรือก็ลงสู่น้ำเป็นที่เรียบร้อย ไททานิกที่ต่อเสร็จแล้วได้กลายเป็นพาหนะที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น มีความยาว 268 เมตร กว้าง 28 เมตร และความสูงวัดจากท้องเรือถึงสะพานเดินเรือ (สะพานเดินเรือหมายถึงห้องควบคุมเรือที่อยู่บนดาดฟ้า) 30 เมตร พิธีปล่อยเรือถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้เข้าชมถึง 100,000 คน
หลังจากใช้เวลาตกแต่งหลายเดือน ในที่สุด ไททานิกก็กลายเป็นเรือเดินสมุทรสุดหรูหรา ไททานิกมีระวาง 46,300 ตัน[1] ใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก 1,000 ตัน บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือได้เต็มที่ถึง 3,547 คน มีเครื่องยนต์ที่มีพลังแรงถึง 46,000 แรงม้า (เปรียบเทียบกับรถยนต์นั่งขนาดกระบอกสูบ 2,000 ซีซี. มีกำลังราว 130-140 แรงม้า) ทุ่มค่าก่อสร้างไปถึง 7,500,000 ดอลลาร์และค่าตกแต่งอีก 2,500,000 ดอลลาร์ รวมเป็น 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าคิดเทียบเป็นค่าของเงินในปัจจุบันจะเป็นมูลค่าถึง 400 ล้านดอลลาร์ (ราวสองหมื่นล้านบาท) ทีเดียว

วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912
เรือไททานิก, เรือ อาร์เอ็มเอส โอเชียนิก (ค.ศ. 1899) (RMS Oceanic) และ เรือ เอสเอส นิวยอร์ก (SS City of New York)
สายการเดินเรือไวต์สตาร์จัดการเดินทางรอบปฐมฤกษ์ของเรือไททานิคในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 โดยเดินทางจากท่าเรือเซาแทมป์ตันของอังกฤษไปยังเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางรอบปฐมฤกษ์นี้เป็นแผนการประชาสัมพันธ์เรือไททานิกด้วย ดังนั้นจึงมีบุคคลสำคัญและบุคคลในวงสังคมชั้นสูงทั้งของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริการ่วมเดินทางไปด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง เจ. พี มอร์แกน เจ้าของไวต์สตาร์ เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้จัดการไวต์สตาร์ รวมทั้งยังมีทอมัส แอนดรูวส์ วิศวกรอาวุโสของอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์และวูลฟฟ์ผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือไททานิก แต่ต่อมามอร์แกนยกเลิกการเดินทางกะทันหันเนื่องจากล้มป่วย

กัปตันเรือไททานิคก็ไม่ใช่ใครอื่น กัปตันเอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ นั่นเอง กัปตันสมิทเป็นกัปตันเรือที่เก่งกาจและมีค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น การเดินทางในเที่ยวนี้จะเป็นเที่ยวสั่งลาในอาชีพกัปตันเรือเพราะหลังจากนั้นกัปตันสมิทก็จะเกษียณแล้ว

แม้ไททานิคจะถูกออกแบบมาให้เป็นเรือที่ใช้ในได้ในทุกฤดูกาลของปี แต่การเดินทางในช่วงนี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะธารน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์จะละลายและก่อให้เกิดภูเขาน้ำแข็งเคลื่อนตัวลงมาในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและลอยตามกระแสน้ำในมหาสมุทรลงมาทางใต้
เรือไททานิกออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแทมป์ตันในอังกฤษโดยมีจุดหมายปลายทางคือเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้โดยสารในเที่ยวนั้นประกอบด้วยบุคคลชั้นสูงในวงสังคมของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก
ในเช้าวันเดินทาง ตามกฎการเดินเรือ เจ้าหน้าที่ประจำเรือจะต้องมีการฝึกซ้อมการใช้เรือชูชีพในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน การฝึกซ้อมในเช้านั้นทำขึ้นพอเป็นพิธีเท่านั้น ดังนั้นจึงมีลูกเรือมาฝึกซ้อมเพียงไม่กี่นาย แต่เดิมไททานิกถูกออกแบบมาให้มีเรือชูชีพ 32 ลำ แต่ต่อมาถูกตัดออกเหลือเพียง 20 ลำซึ่งจุผู้โดยสารรวมกันได้เพียง 1,178 คนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเกะกะ อีกทั้งเห็นว่าจำนวนเพียงเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้วตามกฎหมายการเดินเรือในยุคนั้นที่กำหนดจำนวนเรือชูชีพตามน้ำหนักเรือเป็นเกณฑ์โดยไม่คำนึงถึงจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งในกรณีของไททานิก เรือชูชีพเพียงแค่ 962 ที่ก็เป็นการเพียงพอแล้วตามกฎหมาย

ครั้นเวลาเที่ยง เรือไททานิกก็ออกเดินทางจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน เมื่อเรือเริ่มออกจากท่าก็หวุดหวิดจะเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่พนักงานเหมืองถ่านหินทำการประท้วงและนัดหยุดงาน ส่งผลให้เรือหลายลำต้องจอดแช่อยู่ที่ท่าเรือเนื่องจากไม่มีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทาง แต่เนื่องจากไวต์สตาร์เป็นสายการเดินเรือใหญ่ จึงมีถ่านหินตุนอยู่บ้างทำให้ไททานิกสามารถออกเดินทางได้

จากการที่ท่าเรือค่อนข้างคับคั่ง เมื่อไททานิคอันเป็นเรือขนาดใหญ่มหึมาออกจากท่า ผลจากการเคลื่อนตัวของเรือทำให้น้ำกระเพื่อมและเกิดแรงดูดอันมหาศาลดึงเรือที่อยู่ใกล้เคียงเข้าหาเรือไททานิก เรือ เอสเอส นิวยอร์ก (SS City of New York) ถูกกระแสน้ำดูดจนเกือบชนเรือไททานิกโดยห่างเพียงหนึ่งเมตรกว่าๆเท่านั้นเอง โชคดีที่เบนเรือออกทัน อุบัติเหตุในครั้งนี้ก็เป็นสาเหตุเดียวกับที่เรือโอลิมปิกเกิดอุบัติเหตุชนกันจนต้องซ่อมใหญ่ก่อนหน้านี้นั่นเอง

การอับปางของเรือ

วันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 ขณะเดินทางอยู่ทางใต้ของแกรนด์แบงค์ ของนิวฟันด์แลนด์ 22 นาฬิกา 45 นาที อุณหภูมิภายนอกเรือ ลดลงอย่างรวดเร็วจนเกือบถึงจุดเยือกแข็ง และน้ำทะเลรอบๆ ก็นิ่งลงจนแทบไม่มีคลื่นเลย เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ แต่ก็ไม่มีใครในเรือที่รู้สึกถึงความผิดปกติ ผู้โดยสารที่อยู่บนดาดฟ้าก็กลับลงไปในเรือและใช้ชีวิตต่อตามปกติ

22 นาฬิกา 50 นาที ทะเลสงบไร้ระลอก มหาสมุทรเงียบสงัด คงมีแต่เสียงหัวเรือแหวกน้ำทะเล เรือเดินสมุทรแคลิฟอร์เนียนซึ่งอยู่ไม่ไกลนักได้ส่งข่าวเตือนภัยแก่ไททานิกว่าเรือแคลิฟอร์เนียนต้องหยุดเรือไม่สามารถเดินทางต่อไปได้เพราะถูกห้อมล้อมไปด้วยน้ำแข็ง
23 นาฬิกา 39 นาที เวรยามที่เสากระโดงแจ้งว่าได้พบภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่อยู่ข้างหน้าเรือ ลูกเรือจึงได้เลี้ยวลำเรือเพื่อหลบเลี่ยง แต่เนื่องจากใบจักรและหางเสือที่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของเรือ ทำให้ผู้บังคับเรือซึ่งยังไม่ชินกับการบังคับเรือใหญ่ขนาดนี้ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด
23 นาฬิกา 40 นาที ไททานิกชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ที่ 41 องศา 46 ลิปดาเหนือ 50 องศา 14 ลิปดาตะวันตก
ไม่กี่นาทีต่อมาวิศวกรเดินลงไปตรวจดูความเสียหาย และรายงานมาว่า เรือได้ชนกับภูเขาน้ำแข็งทางกราบขวาด้านหัวเรือ ซึ่งเป็นจุดอ่อนทนรอยแตกได้ไม่อึดเท่าจุดอื่นๆ และห้องเครื่องส่วนหัว 5 ห้องเครื่องแรกก็เกิดรอยรั่ว ซึ่งวิศวกรบอกว่า หัวเรือเป็นจุดอ่อนที่สุดในเรือที่สามารถรับรอยแตกต่อเนื่องจากหัวเรือได้ 4 ห้อง ไม่ใช่ 5 ห้องดังที่เป็น ดังนั้น น้ำจะท่วมห้องเครื่องทั้งห้าสูงขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อท่วมมิดชั้นF เริ่มไหลขึ้นชั้นE น้ำก็จะล้นกำแพงกั้นน้ำเข้าท่วมห้องเครื่องที่ 6 และท่วมไปทีละห้องๆ และจมในที่สุด ดังนั้น เรือกำลังจะจม โดยหัวเรือจะจมลงไปก่อน โดยเรือเหลือเวลาไม่กี่ชั่วโมง
0 นาฬิกา 0 นาที ของวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 น้ำเริ่มท่วมส่วนที่เป็นห้องพักของผู้โดยสารชั้นสาม ทำให้เริ่มเกิดข่าวลือกันในเรือว่าเรือกำลังจะจม แต่ผู้โดยสารส่วนมากที่ได้ข่าวมักยังไม่เชื่อ เพราะก่อนหน้านี้เรือไททานิกถูกโปรโมตอย่างดิบดีว่าไม่มีวันจม
0 นาฬิกา 5 นาที กัปตันสั่งให้เตรียมเรือสำรองไว้ เตรียมอพยพผู้คนโดยด่วน , ไปบอกเจ้าหน้าที่วิทยุให้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือออกไป และบอกพนักงานให้ไปปลุกผู้โดยสาร ให้ผู้โดยสารสวมเสื้อชูชีพ และทำร่างกายให้อุ่นๆ และไปที่ดาดฟ้า ทำให้ข่าวลือเรื่องเรือกำลังจะจมแพร่ไปทั่วเรือ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อ ส่วนใหญ่ยังนั่งกินเลี้ยง เล่นไพ่ ดื่มไวน์อย่างใจเย็น และเมื่อขึ้นไปที่ดาดฟ้า เจออากาศหนาวๆ ภายนอก ก็กลับเข้าไปข้างในอีก ในช่วงเวลานี้ ผู้โดยสารดูไม่ตื่นตัว และไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังจะพบนั้นเลวร้ายเพียงใด[3]
ต่อมาราว 5-15 นาที เรือ อาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย (RMS Carpathia) ของสายการเดินเรือคูนาร์ด (Cunard Line) รับสัญญาณขอความช่วยเหลือของไททานิกได้ และตอบกลับ โดยบอกว่าเร่งเครื่องเต็มที่แล้ว และคาร์พาเธียจะไปถึงเรือไททานิกภายใน 4 ชั่วโมง แต่นั่นนานเกินไป วิศวกรบอกว่าเรือลอยอยู่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงแน่ ดังนั้น ไททานิก จึงต้องพึ่งตนเอง
0 นาฬิกา 25 นาที เรือสำรองทุกลำพร้อมอพยพผู้โดยสาร กัปตันสั่งให้เริ่มอพยพโดยให้สตรีและเด็กลงเรือไปก่อน แต่ลูกเรือไม่รู้ว่าเรือสำรองจุผู้คนได้เท่าไร จึงปล่อยเรือบดออกทั้งๆที่ยังใส่คนไม่เต็มที่ ทำให้แทนที่เรือสำรองจะช่วยชีวิตได้ 1,178 คนตามที่มันถูกออกแบบ มันกลับรับผู้โดยสารมาเพียง712 คนเท่านั้น
0 นาฬิกา 45 นาที เรือสำรองลำแรกถูกปล่อยลงมา และเมื่อผู้โดยสารได้รับข่าวการปล่อยเรือชูชีพ และเห็นเจ้าหน้าที่ต่างทำงานอย่างเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง ก็เริ่มเชื่อข่าวที่ลือกันในเรือว่า เรือกำลังจะจม
0 นาฬิกา 50 นาที พลุขอความช่วยเหลือเริ่มถูกยิงขึ้นฟ้า
1 นาฬิกาตรง ผู้โดยสารและลูกเรือส่วนใหญ่เชื่อแล้ว ว่าเรือที่พวกเขาอยู่นั้นกำลังจะจม ความวุ่นวายและตื่นตระหนกเริ่มเกิดขึ้น ลูกเรือที่ทำหน้าที่ปล่อยเรือสำรองเริ่มเจอแรงกดดันจากการที่ผู้โดยสารแย่งกันเป็นคนถัดไปที่จะได้ขึ้นเรือสำรอง เกิดเป็นความวุ่นวายเล็กๆ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้โดยสารชายหลายท่าน แสดงความเป็นสุภาพบุรุษ โดยให้ภรรยาและลูกขึ้นเรือ แล้วตนเองถอยไป
1 นาฬิกา 15 นาที น้ำท่วมขึ้นมิดหัวเรือ และข่าวการที่น้ำท่วมมาจนมิดหัวเรือ ทำให้ผู้โดยสารเริ่มตื่นตระหนก เพราะเคยเห็นว่าหัวเรือนั้นสูงเพียงใด ดังนั้นผู้โดยสารและลูกเรือจึงตื่นตระหนกมากขึ้นเมื่อรู้ข่าว เพราะคิดว่า เรือจมเร็วกว่าที่คิด ทำให้ผู้โดยสารที่ไม่ใช่สุภาพบุรุษแย่งกันขึ้นเรือ ทำให้ความวุ่นวายทวีความรุนแรงขึ้น
1 นาฬิกา 25 นาที ความวุ่นวายทวีความรุนแรงขึ้นมาก เจ้าหน้าที่เริ่มใช้ปืนในการควบคุม เรือบดถูกเจ้าหน้าที่ปล่อยลงอย่างรีบร้อน เพราะความวุ่นวายจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการใส่คนลงไปในเรือ และในการปล่อยเรือสำรองลงไป ในขณะที่เรือเองก็จมลงเรื่อยๆ เหล่านักดนตรีได้แสดงสปิริตอย่างน่าชื่นชม พวกเขาพยายามเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลายความตื่นตระหนกของคนบนเรือตลอดเวลา เมื่อห้องโถงด้านหัวเรือจมต่ำลงก็ย้ายไปเล่นที่ดาดฟ้าด้านท้ายเรือ และบรรเลงไปจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
1 นาฬิกา 45 นาที น้ำเริ่มเข้าท่วมบริเวณระเบียงด้านหัวเรือ ในขณะนี้ ชั้น A ด้านหัวเรือ เหลือความสูงจากผิวน้ำ 3 เมตร
1 นาฬิกา 55 นาที เรือสำรองทุกลำถูกปล่อยออกไปหมด เจ้าหน้าที่จึงเตรียมเรือสำรองแบบพับได้ และเริ่มลำเลียงผู้คนออกจากเรือต่อ
2 นาฬิกาตรง น้ำเริ่มไหลเข้าท่วมดาดฟ้าเรือบริเวณส่วนหัว ท่วมห้องบังคับการเรือ และเริ่มเข้าท่วมลึกเข้าไป
2 นาฬิกา 5 นาที เรือสำรองทุกลำถูกปล่อยออกไปจนหมด แต่ยังเหลือคนมากกว่า 1,500 คนบนเรือ และท้ายเรือเริ่มยกตัวขึ้น เห็นใบจักรขับเคลื่อนลอยขึ้นมาอย่างชัดเจน และยกขึ้นเรื่อยๆ และทางด้านหัวเรือ น้ำก็เข้าท่วมสูงมิดห้องบังคับการเรือ ท้ายเรือยกตัวขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ เรือเอียงอย่างน่ากลัว ผู้โดยสารหวาดกลัว บางคนถึงกับโดดลงมาจากเรือเพื่อหวังจะว่ายไปขึ้นเรือชูชีพด้านล่าง แต่ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนจะว่ายไปถึง
เพราะในเวลานั้น เจ้าหน้าที่ที่อยู่บนเรือสำรอง ได้นำเรือสำรองทุกลำให้ออกห่างจากตัวเรือไททานิกให้ไกลที่สุด เพราะไททานิกที่กำลังจมอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดแรงดูดของน้ำบริเวณใกล้ลำเรือซึ่งอาจจะดูดเรือสำรองจมลงไป หรืออาจเกิดอันตรายอย่างอื่น ที่สามารถทำให้เรือสำรองจมได้ เหล่าเจ้าหน้าที่ พยายามนำเรือสำรองออกไปให้ไกลที่สุด และน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าวเย็นเกือบเป็นน้ำแข็ง ดังนั้น ผู้ที่ตัดสินใจในการโดดมาจากเรือไททานิก แล้วคิดว่ายไปขึ้นเรือสำรองส่วนใหญ่จึงถูกน้ำที่เย็นยะเยือกทำให้แข็งตาย
2 นาฬิกา 18 นาที ระบบไฟฟ้าบนเรือหยุดทำงาน ไม่นานต่อมา เรือก็ขาดออกเป็นสองท่อน (จุดที่ฉีกขาดอยู่ระหว่างปล่องไฟปล่องที่ 3 กับปล่องที่ 4) แต่พื้นของชั้นล่างสุดยังไม่ขาดออกจากกัน การหักครั้งนี้ ทำให้ส่วนหัวเรือจมลงอย่างรวดเร็ว ดึงส่วนท้ายเรือขึ้นมา ส่งผลให้ส่วนท้ายเรือยกตั้งฉากกับพื้นน้ำ และเริ่มจมลงในแนวดิ่ง
2 นาฬิกา 20 นาที ของวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 เรือทั้งลำจมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ผู้โดยสารจำนวนมากลอยคออยู่ด้วยเสื้อชูชีพ แต่น้ำทะเลในขณะนั้นเย็นจัดเกือบ 0 องศาเซลเซียส ผู้โดยสารและลูกเรือที่ขึ้นเรือสำรองไม่ทัน ถูกทิ้งให้ลอยคอบนน้ำที่เย็นยะเยือก ในขณะที่ทางเรือสำรองที่ลอยอยู่ด้านนอก ก็พยายามจะเข้าไปช่วย แต่ไม่ได้ เพราะหากผลีผลามเข้าไป คนที่ลอยคออยู่ในน้ำที่เย็นเยือกจะแย่งกันขึ้นเรือสำรอง เพื่อที่จะหลุดพ้นจากน้ำอันเย็นหนาว ซึ่งนั่นจะทำให้เรือสำรอง ถูกผู้ที่ลอยคออยู่รุมจนจมลงไปด้วย ดังนั้น จึงต้องรอ ปล่อยให้ผู้ที่ลอยคอหนาวตายไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเหลือผู้รอดน้อยพอที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้โดยที่เรือสำรองจะไม่ถูกรุมจนจม
3 นาฬิกาตรง เสียงหวีดร้องขอความช่วยเหลือเงียบลง รวมเป็นเวลา 40 นาที ที่ผู้ที่ลอยคออยู่ตายไปจนเกือบหมด เจ้าหน้าที่จึงส่งเรือสำรองมาช่วย แต่ไม่ค่อยทันนัก ส่วนใหญ่ ตายหมดแล้ว เรือสำรองที่เข้าไปช่วยเหลือนั้น นำผู้โดยสารที่ยังไม่เสียชีวิตขึ้นมาได้เพียง 14 คนในสภาพหนาวสั่นทรมาน และในจำนวนนี้ 3 คนเสียชีวิต รวมแล้วเหลือผู้ที่รอดจากการถูกนำมาจากน้ำเย็นเฉียบเพียง 11 คน
4 นาฬิกา 10 นาที อาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้รอดชีวิตบนเรือสำรองทั้งหมด และพาสู่นิวยอร์กในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1912 จากนั้น ได้มีการสรุปยอดและรายชื่อของผู้รอดและผู้เสียชีวิต


แต่หากถามถึง ผู้เป็นกัปตัน อย่าง "กัปตันสมิท" นั้น เขาไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เขา ได้ทำหน้าที่อันสำคัญ และทรงเกียรติของกัปตัน ด้วยการอยู่เคียงข้างลูกเรือ ที่เหลือทั้งหมด บนเรือมรณะลำนั้น จวบจนวาระสุดท้าย... 


ผู้รอดชีวิต
หายนะภัยไททานิกครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตทั้งสิ้น 710 คน แต่มีผู้เสียชีวิต 1,514 คน นับเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเดินเรือ
อันที่จริงแล้ว ผู้ที่รอดชีวิตจากเรือไททานิกมิได้มีแต่เพียงผู้หญิงและเด็กเท่านั้น แต่ยังมีชายด้วย จากการสรุปข้อเท็จจริงพบว่าชายที่รอดชีวิตมีทั้งผู้โดยสารชั้น 1 ชั้น 2 ชั้น 3 และลูกเรือ
บุคคลที่รอดชีวิตบางคนที่น่ากล่าวถึงคือ เจ. บรูซ อิสเมย์ กรรมการผู้จัดการไวต์สตาร์ ผู้คนส่วนใหญ่ต่างสงสัยกันว่าอิสเมย์รอดมาได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่ผู้ชายส่วนใหญ่เสียชีวิตหมดเนื่องจากสละที่นั่งให้แก่สตรีและเด็ก ชีวิตในช่วงหลังของอิสเมย์ต้องล้มละลายทางเกียรติยศเพราะสังคมตราหน้าว่าเขารอดมาได้เพราะแย่งที่ของสตรีและเด็ก
บางคนก็พูดกันว่าอิสเมย์พรางตัวเป็นหญิงเพื่อลงเรือ แต่อิสเมย์ชี้แจงว่าตนลงเรือชูชีพลำสุดท้าย เมื่อเห็นยังมีที่ว่างจึงได้ลงเรือไปและก็ไม่ได้พรางตัวเป็นสตรีแต่อย่างใด

นางมอลลี บราวน์ (Molly Brown) ซึ่งเป็นพวกเศรษฐีใหม่ที่เดินทางไปกับเรือไททานิก เมื่ออยู่ในเรือ ชูชีพนางบราวน์ได้แสดงความเข้มแข็งและกล้าหาญ ในสภาพที่ทุกคนหมดเรี่ยวแรงเธอได้แสดงบทบาทผู้นำโดยให้สั่งคนในเรือช่วยกันพายเรือมุ่งไปยังเรือคาร์เพเทีย และพยายามช่วยคนที่ตกน้ำ หลังจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ชีวิตของนางบราวน์ก็รุ่งเรืองขึ้น จากเดิมที่สังคมชั้นสูงในเมืองเดนเวอร์ไม่ยอมรับเธอ แต่จากวีรกรรมอันกล้าหาญทำให้เธอก้าวไปไกลถึงขนาดได้รับเสนอการชื่อให้เข้าชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกทีเดียว รวมทั้งยังมีผู้นำเรื่องราวของเธอไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ดี ในบั้นปลายของชีวิต เธอก็เปลี่ยนไปกลายเป็นคนที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว
เจ้าหน้าที่ของเรือไททานิกที่รอดชีวิตไม่มีใครเลยสักคนเดียวที่สามารถก้าวไปถึงตำแหน่งกัปตันเรือ
จากนั้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1985 ซากเรือไททานิกได้ถูกค้นพบอีกครั้ง
เมื่อต้นปี ค.ศ. 1997 นางเอดิท ไฮส์แมน ผู้ที่มีชีวิตรอดจากเรือไททานิกที่มีอายุมากที่สุดก็ได้เสียชีวิตลง เธออยู่ในเหตุการณ์เรือไททานิกเมื่ออายุ 15 ปีและเสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 100 ปี
และผู้ที่รอดชีวิตรายสุดท้ายจากเหตุการณ์เรือไททานิกอับปาง คือ มิลล์วินา ดีน (Millvina Dean) ชาวอังกฤษ ซึ่งเธอได้เสียชีวิตลงเมื่อ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 รวมอายุได้ 97 ปี ซึ่งในขณะเกิดเหตุ เธอมีอายุเพียง 9 สัปดาห์เท่านั้น

" และในปีนี้ก็ครบรอบ 101 ปี ของการออกเดินทางและอับปางลงของเรือไททานิค "

19 ส.ค. 56 เวลา 10:57 4,271 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...